ระวังประเทศไทยจะตกเป็นเมืองขึ้นทางดิจิทัล

ระวังประเทศไทยจะตกเป็นเมืองขึ้นทางดิจิทัล

ระวังประเทศไทยจะตกเป็นเมืองขึ้นทางดิจิทัล

ยุคแห่งข้อมูล (Data Era) กำลังเข้ามาแทนที่ยุคแห่งน้ำมัน (Oil Era) ยิ่งมีข้อมูลและใช้ข้อมูลเป็นมากเท่าไรก็ยิ่งมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นเท่านั้น และประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดของประเทศไทยชั่วโมงนี้คือการตกเป็นเมืองขึ้นทางดิจิทัลให้กับต่างประเทศ ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เข้ามาเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนใหญ่ของพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการของคนไทย ในวันที่คนไทยใช้เวลาส่วนใหญ่กับ Smartphone และข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคไปจนถึงการใช้ชีวิตแทบทั้งหมดไปตกอยู่กับบริษัทอย่าง Google, Facebook, LINE, Apple ฯลฯ

เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ข้อมูลเป็นสิ่งล้ำค่าเสมือนกับน้ำมันในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกทุกวันนี้อย่าง Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Apple, Facebook, Amazon, Microsoft ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัท Tech Company ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลจำนวนมาก และดูจะหยุดยั้งไม่อยู่กลายเป็นผู้ผูกขาดในโลก Digital ไปแล้ว นี่ยังไม่นับรวมบริษํทเทคโนโลยียักษ์ใหญ๋ของประเทศจีนอย่าง Baidu, Alibaba, Tencent ซึ่งก็กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากฐานผู้บริโภคหลักพันล้านในประเทศ และก็กำลังก้าวออกไปแข่งขันในเวทีโลกเช่นกัน

ลองคิดดูสิครับทุกวันนี้ Amazon กินส่วนแบ่งตลาดครึ่งหนึ่งของการบริโภคออนไลน์ของสหรัฐฯ ขณะที่ Facebook และ Google กินส่วนแบ่งแทบทั้งหมดของรายได้โฆษณาออนไลน์ ข้อมูลจำนวนมากสร้างความได้เปรียบมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้กับยักษ์ใหญ่เหล่านี้

สำหรับประเทศไทยอยากให้ลองมองไปที่ Google Facebook LINE และ Lazada ยิ่งเราค้นหาข้อมูลใน google มากเท่าไหร่ google ก็ยิ่งรู้ความต้องการของเรามากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเราเล่น Facebook กับ LINE มากเท่าไหร่ บริษัทเหล่านี้ก็จะยิ่งมีข้อมูลความสนใจ พฤติกรรมของเรามากขึ้นเท่านั้น ทุกวันนี้ระบบ OS ของโทรศํพท์แทบทั้งหมดก็คือ Android และ iPhone เท่ากับว่าพฤติกรรมการเดินทาง การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการนอนของเรา ข้อมูลตกเป็นของบริษัทเหล่านี้ทั้งหมด เรียกได้ว่าบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่พวกนี้แทบจะรู้จักตัวเรา มากกว่าเรารู้จักตัวเราเองเสียอีก

ในส่วนพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ แม้ผู้ประกอบการไทยใหญ่เล็กจำนวนมากจะเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ แต่ทุกวันนี้ Lazada ซึ่งมีบริษัทแม่คือ Alibaba คือผู้เล่นอันดับ 1 ที่ทราบพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ของคนไทยส่วนใหญ่

แล้วข้อมูลเหล่านี้ที่ชอบเรียกกันว่า Big Data เอาไปทำอะไร หลัก ๆ ถ้าเป็น Google และ Facebook เอาไปใช้สำหรับโฆษณาให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย พอ Google, Facebook มีข้อมูลของเรามาก ๆ ว่าสนใจอะไร เวลาบริษัทต่าง ๆ ต้องการซื้อสื่อโฆษณาออนไลน์ก็สามารถ target ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคไปใช้แสวงหาประโยชน์ เพียงแต่ว่าเวลาเราเปิด Google, Facebook และเจอโฆษณามันจะไม่ได้น่ารำคาญมากเหมือนเวลาเราเจอโทรศัพท์มาขายประกัน หรือสินเชื่อต่าง ๆ

ในส่วนของ LINE และการ Chat ทุกวันนี้เมื่อคนไทยส่วนใหญ่ใช้กันอย่างงอมแงมก็เริ่มขยายบริการไปหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการส่งอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง ข่าวสาร ซึ่งโมเดลธุรกิจดูจะคล้าย ๆ กับ WeChat ของเมืองจีนเข้าไปทุกที และแน่นอนยิ่งเราใช้งานมากขึ้นเท่าไร LINE ก็ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่านั้น และมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อชี้ประเด็นให้กับภาครัฐ และเอกชน ในส่วนของภาครัฐ ผมเห็นนโยบายรัฐบาลที่กำลังโน้มน้าว เชิญชวนบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้เข้ามาลงทุนในเมืองไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC การเข้ามาลงทุนนั้นดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทย และทำให้เราได้รับ Technology Spillover หรือการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แต่ต้องไม่ลืมว่าถ้า Platform ของบริษัทเหล่านี้เข้ามาเต็มตัว เท่ากับว่าบริษัทพวกนี้จะได้ข้อมูลของคนไทยมากขึ้นไปอีก ซึ่งน่าเป็นห่วงมากในระยะยาวถ้าหากผู้ประกอบการภายในประเทศมีข้อมูลสู้บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่พวกนี้ไม่ได้ ก็เท่ากับสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจไปโดยปริยาย ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายภาคธุรกิจ เช่น สื่อ สิ่งพิมพ์, e-Commerce, Food Delivery ฯลฯ

ในส่วนของภาคเอกชน ถึงเวลาแล้วที่ต้องรู้จักเก็บข้อมูลให้เป็น และรู้จักการนำข้อมูลนั้นไปใช้เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ตรงนี้ Data Science หรือวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะมีส่วนสำคัญมาก ผู้ประกอบการไทยควรมีการรวมตัวกัน และแชร์ข้อมูลกันให้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค ข้อมูลเก็บไว้เฉย ๆ ไม่รู้จักใช้มันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้ารู้จักเก็บ และนำมาวิเคราะห์ให้เป็นนั้นหมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลในยุคแห่งดิจิทัลแน่นอนครับ

FundTalk รายงาน