“พอเพียง” คู่ “นิติธรรม” ปรัชญา ร.9 ไทยสู่โลก

“พอเพียง” คู่ “นิติธรรม” ปรัชญา ร.9 ไทยสู่โลก

เมื่อเดือนที่แล้วมีการประชุมเชิงวิชาการเรื่อง “ปรัชญาพอเพียงสู่หลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน” เพื่อน้อมรำลึก

ในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ฯ แจ้งวัฒนะ

ภายในงาน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จฯเป็นองค์ประธาน และได้ประทานพระดำรัสปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเดียวกับการประชุม สรุปความได้ว่า

“การปลูกฝังความพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมจะสร้างทัศนคติในการเคารพกฎหมายหรือกติกาของสังคม และทำให้เกิดสังคมที่มีหลักนิติธรรมขึ้นได้ ในทางกลับกัน ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันนั้น ก็สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการปลูกฝังทัศนคติในการเคารพกฎหมายและกติกาของสังคมเช่นเดียวกัน เพราะกฎหมายและกติกาของสังคมนั้นล้วนแต่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในกรอบที่เหมาะสมของสังคม ไม่ถูกดึงไปในทางที่ไม่เหมาะสมหรือเบียดเบียนผู้อื่น”

ที่ผ่านมา สหประชาชาติได้ประกาศวาระการพัฒนาของโลก ภายหลังปี ค.ศ.2015 เป็น “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ในจำนวนนี้มีหลายเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับการขจัดความยากจน หิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำ เน้นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ขณะที่ในแง่ของการอยู่ร่วมกันของผู้คน ก็มุ่งเป้าหมายการสร้างสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และไม่แบ่งแยก

เป้าหมายเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องใหม่ที่สหประชาชาติเพิ่งประกาศเป็นวาระแห่งการพัฒนาของโลกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในหัวใจของคนไทยทั้งประเทศล้วนตระหนักดีว่า เป็นพระราชกรณียกิจที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานมาตลอดพระชนม์ชีพ

เพราะในมิติของงานพัฒนาเพื่อขจัดความยากจน หิวโหย พระองค์ได้พระราชทาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับพสกนิกรชาวไทย ขณะที่การสร้างสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ก็ตรงกับ “หลักนิติธรรม” ที่พระองค์ทรงดำรงสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ทั้งยังมีพระราชดำรัสหลายครั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม และคำนึงถึงประชาชนกลุ่มเปราะบาง

ที่สำคัญทั้งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักนิติธรรม เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างประโยชน์สุขให้เกิดกับมหาชน ซึ่งไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้คนทุกผู้ทุกนามบนโลกใบนี้...