โลกและไทยใน Synchronized Growth (1)

โลกและไทยใน Synchronized Growth (1)

สำหรับนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว การประชุมประจำปีร่วมกันของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเดือนตุลาคมนี้

 จะต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่หน่วยงานเศรษฐกิจระดับโลกทั้งสองจะกล่าวถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างพร้อมเพรียงกัน (Global synchronized growth) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีมุมมองค่อนข้างระมัดระวังกับภาพดังกล่าว เนื่องจากการฟื้นตัวครั้งนี้ มีลักษณะพิเศษสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. การฟื้นตัวครั้งนี้ไม่กระจายตัวอย่างเท่าเทียมกล่าวคือ ในประเทศเจริญแล้ว สัญญาณเศรษฐกิจที่ขยายตัวจะเป็นในฝั่งภาคการผลิตเป็นหลัก ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในประเทศเจริญแล้วที่ขยายตัวได้ดี (โดยเฉพาะภาคการผลิตสหรัฐขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2004) รวมถึงภาคส่งออกในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กลับมาขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 แต่ภาคเศรษฐกิจที่ยังคงซึมเซาได้แก่ภาคการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน
  2. การฟื้นตัวครั้งนี้ไม่มีเงินเฟ้อโดยปกติแล้วนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะหนึ่งจะทำให้ความต้องการวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและค่าจ้างเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้กลับไม่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าจ้างรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะโภคภัณฑ์เบา เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงและธัญพืชต่าง ๆ ไม่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการสินค้าเหล่านั้นไม่ได้แข็งแกร่งเช่นเดียวกับช่วงก่อนหน้า
  3. การฟื้นตัวครั้งนี้มาพร้อมกับภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่าง ๆอันเป็นผลจากการอัดฉีดของธนาคารกลางทั่วโลกตั้งแต่ในช่วงวิกฤต ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐานทั้งสิ้น เช่น หุ้นสหรัฐที่เมื่อวัดจากค่าราคาต่อกำไรที่ปรับด้วยวัฐจักรเศรษฐกิจ (Cyclical Adjusted P/E) พบว่าค่าปัจจุบันอยู่ที่ 30 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 120 ปีที่อยู่ที่ 17 เท่า หรือจะพิจารณาจากราคาอสังหาฯ รวมถึงพันธบัตรและหุ้นกู้ต่าง ๆ ทั่วโลกก็จะพบว่าสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานทั้งสิ้น

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าการฟื้นตัวครั้งนี้ไม่น่าจะยั่งยืน เนื่องจากเป็นการฟื้นตัวชั่วคราวเชิงวัฐจักร (Cyclical Recovery) แต่พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกจะพบว่ายังเป็นตัวฉุดรั้งทั้งสิ้น โดยปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัวอยู่นี้สะดุดลงมี 5 ประการด้วยกัน

โลกและไทยใน Synchronized Growth (1)

ประการแรก ได้แก่ การตึงตัวของนโยบายการเงินทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐ ที่มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปลายปีนี้ และอีก 3 ครั้งในปีหน้า รวมถึงประกาศแผนลดทอนขนาดงบดุลลง ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้น (ที่ใช้อ้างอิงดอกเบี้ยเงินฝาก) ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การลดทอนขนาดงบดุล (หรือที่เรียกว่า Quantitative Tightening: QT) จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับ (ที่ใช้อ้างอิงดอกเบี้ยเงินกู้) เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ในยุโรปและญี่ปุ่นก็จะต้องเริ่มลดทอนการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ลงเช่นกัน เนื่องจากปริมาณพันธบัตรในตลาดที่ธนาคารกลางสามารถจะเข้าซื้อ (เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ) ได้นั้นกำลังจะหมดลง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกค่อย ๆ สูงขึ้น และกระทบกับภาคเอกชนที่มีหนี้สูง (โดยเฉพาะในประเทศจีน)

ประการที่สอง หากเศรษฐกิจฟื้นโดยสมบูรณ์ จะทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์กลับมา ซึ่งถึงแม้จะดีต่อประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ก็จะทำให้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่เคยคาด ซึ่งจะย้อนกลับไปทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น กระทบต่อค่าเงินและทำให้เศรษฐกิจผันผวนยิ่งขึ้น

ประการที่สาม ได้แก่ การใช้เครื่องจักรทดแทนการใช้แรงงานในการผลิต(Automation) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่เงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำรวมถึงค่าจ้างที่ไม่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระบวนการ Automation จะกระทบกับแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำโดยตรง ซึ่งหากผู้ผลิตโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่เร่งใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Premature Deindustrialization ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น และทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มสูงขึ้น

ประการที่สี่ ได้แก่ กระแสกีดกันทางการค้า (Protectionism) ซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนจะลดทอนความรุนแรงลงในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สัญญาณการกีดกันทางการค้าไม่ได้ลดน้อยลงโดยเฉพาะในสหรัฐ โดยหากนับจำนวนข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลทรัมพ์สืบสวนในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 65 คดีเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 47 คดี และในอนาคต หากประเทศใดเกินดุลการค้าสหรัฐจำนวนมาก อาจทำให้รัฐบาลทรัมพ์ใช้เป็นแต้มต่อในการทำสงครามการค้ากับประเทศนั้น ๆ ได้

ประการสุดท้าย ได้แก่ความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ โดยปัญหาการเมืองที่สำคัญได้แก่การบริหารรัฐกิจของรัฐบาลทรัมพ์ ที่เน้นสร้างความแตกแยกและทำให้แนวนโยบายที่ประกาศไว้มีความไม่แน่นอนสูงว่าจะทำได้หรือไม่ เช่น แผนการปฏิรูปภาษี นโยบายการประกันสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งหากทำไม่สำเร็จตามที่ประกาศ ก็อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่น เศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกได้

ในขณะที่ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญได้แก่สถานการณ์ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านการซ้อมยิงขีปนาวุธและทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือถึงกว่า 75 ครั้งในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐและสหประชาชาติต่างก็ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิด “อุบัติเหตุ” ทางการทหารสูงขึ้นเช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงทั้งห้านี้จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตพลิกผันได้สองกรณี โดยในกรณีแรก หากการฟื้นตัวครั้งนี้ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับมาฟื้นอย่างรุนแรง อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ Fed และธนาคารกลางต่าง ๆ จำต้องทำนโยบายการเงินแบบตึงตัว ซึ่งกรณีเช่นนั้นจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจ

กรณีที่สอง หากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการเมืองในสหรัฐ หรือกระแสกีดกันทางการค้ากลับมาทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง จะทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนที่ขยายตัวในปัจจุบันกลับมาชะลอตัวหรือหดตัวลงอีกครั้ง และกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

ไม่ว่าจะมองด้านใด ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกก็มีอยู่มาก แต่สำหรับไทยจะเป็นเช่นไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

//

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่