วงจรแห่งความสำเร็จ (2)

วงจรแห่งความสำเร็จ (2)

ธุรกิจจะยืนหยัดต้านทานกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวินาทีได้ จำเป็นต้องตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนเพื่อพร้อมปรับตัวสู่สิ่งใหม่ๆ 

รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อให้ทุกคนรอบข้างทั้งลูกค้า คู่ค้า นักลงทุน ให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างลงตัว นั่นคือ 2 ข้อแรกของการปรับตัวที่เกริ่นไว้ใน “คิดนอกกรอบ” ฉบับที่แล้ว 

ต่อกันใน ข้อ 3 คือ การเอาใจลูกค้าอย่างไร้พรมแดน เพราะโลกที่แคบลงด้วยการสื่อสารทำให้การติดต่อระหว่างผู้คนไม่มีอุปสรรค ด้านระยะทางที่จะเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจอีกต่อไป

เราจึงเห็นสินค้าเกือบทุกชนิดมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกันคนละซีกโลก เช่นออกแบบในอเมริกา ผลิตในจีน และขายเฉพาะตลาดประเทศไทย หรือออกแบบในอิตาลีผลิตในเวียดนามแล้วขายทั่วโลก เป็นการอาศัยความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้านั้นๆ

โดยทั้งหมดนั้นล้วนอาศัยลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการออกแบบและผลิตสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกภูมิภาค บางรุ่นบางแบบจึงมีจำหน่ายเฉพาะในบางประเทศเพราะผู้ผลิตศึกษามาเป็นอย่างดีแล้วว่าภูมิภาคนี้เหมาะกับสินค้าในรูปแบบนี้เท่านั้น

ความต้องการของคนทั้งโลกไม่เหมือนกัน สินค้าและบริการที่จำหน่ายให้กับแต่ละประเทศจึงต้องแตกต่างกันด้วยซึ่งทั้งความต้องการของผู้บริโภค และผู้ผลิตที่มีคู่ค้ากระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทำให้รับรู้ข้อมูลการตลาดและหาทางตอบสนองผู้บริโภคให้ได้ดีที่สุด ตัวอย่างที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คืออุตสาหกรรมแฟชั่นที่แต่ละประเทศก็จะมีแบบที่จำหน่ายเฉพาะในประเทศนั้น ๆ เพราะสภาพภูมิอากาศ และศิลปวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจึงต้องมีสินค้าแฟชั่นที่สอดคล้องกับแต่ละประเทศด้วย

สินค้าอื่น ๆ ก็เริ่มมีแนวโน้มแบบนี้เช่นกันเพราะโลกแคบลงก็ย่อมทำให้รับรู้ความต้องการของลูกค้ากลุ่มที่เล็กลงได้ ในขณะที่การผลิตก็มุ่งตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่มในรูปแบบ Mass Customization ได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

ข้อ 4 ต้องหาทางยกระดับตัวเองเข้าสู่ยุคดิจิทัลซึ่งไม่ได้มีแค่มิติของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ แต่เป็นการแสวงหาประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีที่กลั่นกรองข้อมูลให้เราทั้ง Business Intelligence, Big Data Analytics ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจ อย่าเข้าใจผิดว่าการนำเอาโปรแกรมบางตัว หรือสร้างแอพขึ้นมาใช้ในองค์กรแล้วจะทำให้องค์กรกลายเป็นดิจิทัลได้ทันที เพราะหากคนในองค์กรยังไม่มีความเข้าใจและมองไม่เห็นว่าจะทำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอดให้กับธุรกิจได้อย่างไรก็เท่ากับยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่สตาร์ทอัพเบ่งบานและมีคนรุ่นใหม่คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจมากมายแต่หากยังติดขัดที่ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และยังไม่มีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น งบประมาณมากมายที่ทุ่มให้กับสตาร์ทอัพไปก็อาจสูญเปล่า

ข้อ 5 ความเร็วในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในยุคที่ประเทศไทยทุ่มเทสร้างนวัตกรรมขึ้นมาด้วยนโยบาย Thailand 4.0 กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดทำสิ่งที่แตกต่างจากเดิมเป็นคลื่นลูกที่ 1 ภาคราชการและธุรกิจต้องสร้างคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงเป็นคลื่นลูกที่ 2 เพื่อเสริมให้คลื่นลูกแรกมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เต็มที่

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายถึงการล้มล้างของเดิมและนับหนึ่งใหม่เสมอไป แนวโน้มการพัฒนาทางเทคโนโลยีในทุกวันนี้ก็ล้วนอาศัยการต่อยอดจากเทคโนโลยีเดิมทั้งนั้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หากมั่นใจแล้วว่าสามารถทำได้ก็ต้องรีบทำอย่างทันท่วงทีก่อนที่โอกาสจะผ่านเลยไป

ดึงโค้ด "อย่าหวังความเปลี่ยนแปลงหากคนในองค์กรไม่เปลี่ยน