ชอปปิ้งสไตล์สิงคโปร์ ออนไลน์โต ห้างต้องปรับตัว

ชอปปิ้งสไตล์สิงคโปร์ ออนไลน์โต ห้างต้องปรับตัว

ยุคสมัยที่อีคอมเมิร์ซเติบโตแบบทุกวันนี้ เราเห็นผู้คนพากันซื้อของออนไลน์ชนิดที่ไม่ต้องก้าวออกจากบ้าน แต่คงไม่ใช่กับคนสิงคโปร์เป็นแน่

พื้นที่ประมาณ700ตารางกิโลเมตรของดินแดนลอดช่องเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ทั้งด้านการค้า การเงิน และยังเป็นเมืองท่าที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่ง แม้ประเทศจะเป็นเกาะขนาดเล็ก แต่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากและรายได้ต่อหัวของคนสิงคโปร์สูงติดอันดับต้นๆของโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่ธุรกิจค้าปลีกจะเติบโตไปตามกำลังซื้อของผู้คนในประเทศ

เชื่อว่าท่านผู้อ่านที่เคยเดินทางไปทำงานหรือท่องเที่ยวที่สิงคโปร์คงจะคิดคล้ายๆกันว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ห้างสรรพสินค้าเยอะมาก เชื่อมต่อเกือบทุกสถานีรถไฟฟ้า ทำให้การเดินทางไปชอปปิ้งของคนสิงคโปร์นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายดาย ไม่ได้มีต้นทุนค่าเดินทาง หรือต้นทุนด้านเวลาเหมือนอย่างบ้านเรา กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่งสัญญาณมาสักระยะแล้วว่าห้างในสิงคโปร์นั้นมีมากเกินไปจากการขยายตัวที่เกินจำเป็น(Over-Expansion) จึงเริ่มมีข่าวของห้างสรรพสินค้าที่เงียบเหงา ไม่ค่อยมีคนเดินบ่อยขึ้น ถนนออร์ชาร์ด(Orchard)ที่เลื่องชื่อ เป็นสวรรค์ของการชอปปิ้งในภูมิภาคตอนนี้ก็ดูคลายมนต์เสน่ห์ไปพอสมควร

สำหรับผู้บริโภคสมัยนี้นอกจากตัวเลือกของร้านค้าจะเยอะแล้ว ก็ยังเลือกซื้อสินค้าราคาดีได้ผ่านช่องทางออนไลน์ที่โตวันโตคืนด้วย เมื่อพิจารณาตัวเลขรายได้ของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์สิงคโปร์ในปี2016อยู่ที่4.6%  ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรที่มีสัดส่วน10%หรือสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วน10%

จากข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคสิงคโปร์ของ’เพย์พอล(Paypal)’ พบว่าในปี2016ที่ผ่านมา คนสิงคโปร์73%ซื้อของออนไลน์และสร้างเม็ดเงินถึง3พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยคาดว่าการซื้อของผ่านช่องทางนี้จะขยายตัวถึง15%ในปี2017 สินค้าที่ซื้อกันมากที่สุดคือของใช้ในบ้าน 21% รองลงมาคือ อาหาร และเครื่องดื่ม 15% ขณะที่สินค้าเด็กมียอดขายออนไลน์ 12% นักช้อปสิงคโปร์นิยมซื้อของบนโทรศัพท์มือถือ 31% ในปี2016 จะขยับเป็น 42%และมีมูลค่าทะลุ 1.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี2017 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของคนเจนเอ็มที่ชีวิตเชื่อมต่อและใช้งานโทรศัพท์มือถือแทบจะตลอดเวลา

สิงคโปร์ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการทำตลาดที่สำคัญของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซทั้งอาลีบาบา(Alibaba)และอเมซอน(Amazon)ที่ต้องการยึดครองให้ได้ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมเว็บไซต์อาลีบาบารวมถึงลาซาด้า(Lazada)ผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เกือบ1ล้านคน ขณะที่อเมซอนยังเป็นรองอยู่ มีผู้เข้าชมประมาณ 7 แสนคน

ล่าสุดอเมซอนรุกตลาดหนักขึ้นด้วยการเปิดตัวบริการ’ไพรม์นาว(Prime Now)’สำหรับลูกค้าอเมซอน ไพรม์(Amazon Prime)ที่ยินดีจ่ายค่าบริการรายปี ซึ่งจะส่งของให้ผู้ที่สั่งซื้อสินค้าได้ในเวลาสองชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนในการส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน นี่จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของธุรกิจค้าปลีกสิงคโปร์

ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะเห็นห้างสรรพสินค้าพากันปิดตัวเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นได้ยากกว่า เพราะสิงคโปร์แตกต่างด้วยขนาดพื้นที่และความสะดวกสบายในการเดินทาง แต่ก็ไม่สามารถประมาทช่องทางออนไลน์ได้เลย สิ่งที่อีคอมเมิร์ซยังไม่สามารถแทนที่ห้างค้าปลีกได้คือประสบการณ์ในร้านค้า(In Store)ซึ่งต้องทำให้โดนใจ สร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง(Unique Experience)ให้ได้ โลกธุรกิจเปลี่ยนเร็ว ใครปรับตามได้ทันจึงจะอยู่รอด