ปัญหายาเสพติด กับทางออกของประเทศ

ปัญหายาเสพติด กับทางออกของประเทศ

เรื่องของปัญหายาเสพติดที่ระบบสาธารณสุขเข้าไปเกี่ยวข้องในแง่การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดนี้ ทำให้งานสาธารณสุข

เป็นเพียงหน่วยงานรองรับปัญหามากกว่าป้องกันปัญหา เพราะเน้นเรื่องการบำบัดรักษาเป็นเรื่องหลัก จำนวนผู้เข้าบำบัดมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งมหาดไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการ แรงงาน กลาโหม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาชนและประชาสังคม กระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นเหมือนกระทรวงปลายน้ำที่เกือบจะไม่มีส่วนในการป้องกันปัญหานี้เลย

ในการประชุมกรรมาธิการสาธารณสุขครั้งหนึ่ง ผู้ชี้แจงมาจากสองหน่วยงานคือสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและกระทรวงสาธารณสุข เนื้อหาดูเหมือนออกไปในทางสิ้นหวังที่จะป้องกัน เพราะเป็นเรื่องของการค้ายาเสพติดข้ามประเทศ จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน แต่เมื่อเป็นทางผ่านก็มีการแพร่ขยายตลาดในประเทศไทยไปในตัวด้วย

กลยุทธ์สำคัญของผู้ค้ายาเสพติดในประเทศไทยคือลดราคายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าจากที่เคยราคาสูงถึงเม็ดละสองหรือสามร้อยบาท ปัจจุบันเหลือประมาณเจ็ดสิบบาท ผู้ค้าได้ขยายกลุ่มเป้าหมายลงมาระดับล่างผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น และขยายจำนวนหรือยอดขายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้เงินไม่น้อยกว่าที่เคยได้เมื่อขณะจำหน่ายในราคาสูง จึงเป็นเรื่องที่เห็นกันบ่อยครั้งว่าการจับกุมแต่ละครั้งที่เคยอย่างสูงระดับแสนเม็ดในอดีต ปัจจุบันเป็นระดับล้านหรือหลายล้านเม็ด

เรื่องของยาเสพติดในบ้านเรามีความหลากหลายในประเภทและชนิดของยาเสพติดเกือบสิบชนิดสูงสุดคือยาบ้า รองลงไปคือกัญชา ไอซ์ เฮโรอีน ฝิ่น กระท่อม และสารระเหย

เคยคิดว่าสิ่งที่เราเรียกว่ายาเสพติดเหล่านี้ แท้จริงแล้วสารตั้งต้นไม่ได้เลวร้ายเสียทั้งหมด เพราะในทางการแพทย์ก็มีการสกัดนำมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆได้เป็นจำนวนมาก แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่ได้มีการพัฒนาอย่างเต็มที่เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งบางอย่างเขาให้ออกจากบัญชียาเสพติดไปแล้วเช่นกัญชา และถ้าพูดกันจริงๆแล้ว ก็มีอีกหลายอย่างที่เข้าลักษณะที่จะเป็นสิ่งเสพติดได้ไม่ว่าบุหรี่ กาแฟ เหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ แต่กฎหมายไม่กำหนดว่าเป็นสิ่งเสพติด นอกจากจะเข้าลักษณะลักษณะยาเสพติดตามที่ประกาศในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติยาเสพติด ซึ่งดูเหมือนจะล้อไปกับที่องค์กรระหว่างประเทศกำหนด มากกว่าที่เรากำหนดขึ้นมาเอง

บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขในการบำบัดรักษาก็เหมือนกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนทั่วไป เพียงแต่ผู้รับการบำบัดเป็นผู้ต้องโทษตามกฎหมายยาเสพติดก่อนที่จะได้รับการบำบัด จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดจะมากน้อยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบการป้องกันโรคติดต่อและเวชศาสตร์ป้องกัน

ฟังดูแล้วก็เหมือนไม่ค่อยมีทางออกเท่าไรสำหรับกระทรวงสาธารณสุข จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดที่หายแล้วแต่กลับมาต้องโทษแล้วก็ต้องกลับมาสู่การบำบัดใหม่ยังมีอัตราที่สูง เมื่อรวมกับผู้ต้องโทษหน้าใหม่ก็ทำให้จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดยังสูงมาก

เท่าที่ทราบนักโทษยาเสพติดที่ต้องโทษจำตามทัณฑสถานทั่วประเทศมีประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ต้องโทษทั้งหมดซึ่งเป็นจำนวนหลายแสนคน

งานของสาธารณสุขคงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มากนัก เพราะการเสพติดมาจากคนที่มีปัญหาในครอบครัวและสังคมและหาทางออกด้วยการใช้ยาเสพติดทั้งผู้ค้า ผู้ขาย ผู้ครอบครองจำหน่าย ผู้เสพ บางครั้งคนๆเดียวโดนจับหนึ่งครั้งมีหลายข้อหา จึงนึกไม่ออกจริงๆว่าสาธารณสุขจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

สมัยจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆจากคณะนิติศาสตร์ เคยเป็นทนายว่าความคดีอาญาครั้งแรกเมื่อประมาณสี่สิบปีมาแล้วเป็นคดียาเสพติด จำเลยมีเฮโรอีนซึ่งเป็นสารต้องห้ามไว้ในครอบครอง ผลปรากฎว่าแพ้คดี

สี่สิบปีที่ผ่านมา คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นมหาศาล จนผู้ต้องหาล้นห้องขัง ผู้ต้องโทษล้นคุก เข้าตำรา ยิ่งปราบยิ่งเพิ่ม เหมือนถนนยิ่งตัดยิ่งยาว

กระทรวงสาธารณสุขเน้นเรื่องการบำบัดผู้เสพติดและการรักษาพยาบาล ในขณะที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติด เน้นเรื่องการจับกุม แต่แค่สองหน่วยงานนี้ทำงานร่วมกันคงยังไม่พอ เพราะเรื่องของยาเสพติดมันเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน สังคม ชุมชน ธุรกิจ การค้าผิดกฎหมาย รวมทั้งส่งผลให้เกิดการกระทำความผิดอาญาอย่างอื่นตามมา ดูแล้ว เรื่องของยาเสพติดเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลบานออกไปทุกทิศทุกทาง ถ้าเราหยุดเรื่องยาเสพติดไม่ได้ ผลกระทบอีกหลายระลอกก็คงหยุดไม่ได้

ทุกประเทศที่กำหนดโทษเรื่องยาเสพติด มักอยู่ในวังวนของปัญหานี้เหมือนกัน มากบ้างน้อยบ้างตามพัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

เราโชคร้ายที่เป็นถิ่นกำเนิดของสารตั้งต้นยาเสพติดไม่ว่า ฝิ่น กัญชา กัญชง และก็เสพกันมาตั้งแต่สมัยไม่ผิดกฎหมาย แม้ว่าจะแก้ปัญหาการผลิตในประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่การที่ประเทศเป็นศูนย์กลางของการเดินทางของหลายประเทศ ก็เลยเป็นศูนย์ค้าขายทั้งสิ่งถูกกฎหมายและสิ่งผิดกฎหมายด้วยในตัว

จึงคิดว่า ถ้าเปลี่ยนนโยบาย โดยแก้ไขกฎหมาย ยกเลิกความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมด จะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่า คงมีคนคัดค้านไม่เห็นด้วยมากมายในความคิดนี้ แต่ถ้ามองในแง่ความเสียหายและการสูญเสียที่เกิดอย่างต่อเนื่องจากการค้ายาเสพติดนั้นมากกว่าค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลผู้ติดยาอย่างเทียบกันไม่ได้ มันก็เหมือนการกินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เข้าอาบอบนวด เมื่อเปิดช่องให้ทำได้ตามเงื่อนไขกฎหาย ผู้ที่ต้องการบริโภคก็ต้องรับผิดชอบเอง เป็นการตัดวงจรธุรกิจ และเอาธุรกิจมืดมาเป็นธุรกิจตามกฎหมาย เก็บภาษีเต็มที่ เหมือนเหล้า บุหรี่ ที่ทำทุกวันนี้

แนวคิดที่เสนอให้เปิดทางแก้กฎหมายยาเสพติดนี้ คงไม่ใช่เปิดกว้างอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่เหมือนการเปิดวาวระบายความร้อนให้มีทางออกก่อนที่มันจะระเบิดเพราะหลายประเทศเขาก็ใช้แนวคิดนี้ เห็นได้ชัดๆคือเรื่องการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย เฉพาะใน ASEAN ก็หลายประเทศ ทั้งประเทศเจริญแล้วเช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศกำลังพัฒนาเช่นแคมโบเดีย ก็ช่วยแก้ปัญหากิเลสของคนที่อยากเล่นพนันให้ได้เล่น แล้วก็เก็บภาษีหนักๆ พร้อมตั้งเงื่อนไขยอมให้เล่นได้แต่ภายใต้การควบคุม

ยุคนี้เป็นยุคปฏิรูป เรากำลังมีคณะกรรมการปฏิรูปหลายคณะ รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ถ้าไม่คิดทำตอนนี้ ก็ทำยากในอนาคต