ตลาดหุ้นขึ้น ตลาดหุ้นลง เลือกหุ้นไม่ถูกซะที

ตลาดหุ้นขึ้น ตลาดหุ้นลง เลือกหุ้นไม่ถูกซะที

หากนักลงทุนมีปัญหากับการเลือกหุ้น เราควรลงทุนในกองทุนซึ่งอาจเป็น active หรือ passive ก็ได้แล้วแต่ชอบ

ตลาดหุ้นไทยปีนี้สอนนักลงทุนหลายเรื่องสำหรับการลงทุน ผมเชื่อว่าปีนี้นักลงทุนที่อ่านตำราเยอะ ต้องกลับไปทบทวนสิ่งที่เรียนรู้มา และอาจต้องถามตัวเอง ดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นเกือบ 100 จุดทำไมพอร์ตฉันแย่ลง หรือ ไม่เคลื่อนไหว

นักลงทุนประเภทนี้ ผมเดาได้เลยมีความคิดอยู่ 2 ประเภท คือ 1/ ท่านเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง มั่นใจตนเองมาก ตัดสินใจซื้อขายหุ้นด้วยตัวท่านเอง คนอื่นไม่ซื้อ ข้าซื้อคนเดียวก็ได้ 2/ พอร์ตท่านมีหุ้นคนบอกมา หรือ หุ้นที่อุดมไปด้วยเรื่องราวมากมาย ยกเว้นกำไรบริษัท และ เงินปันผล

ตลาดหุ้นไทยปี 2560 ทำให้นักลงทุนเริ่มเข้าใจเรื่อง มูลค่าหุ้น และ เงินปันผลมากขึ้น จากเดิมที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักชอบซื้อหุ้นเพราะ

1/ดูจากภาพลักษณ์บริษัทภายนอกเท่านั้น แต่ลืมพิจารณาผลประกอบการของบริษัทจากงบการเงินว่าคุณภาพของกำไรของบริษัทนั้นดีเพียงใด อัตรากำไรมากน้อย และกำไรขยายตัวมีความต่อเนื่องมากน้อย หรือ กำไรส่วนใหญ่มาจากการบันทึกบัญชีรายการพิเศษชั่วคราว หรือกำไรเกิดจากการปรับมาตรฐานด้านบัญชี การบันทึกกำไรมีจริงแต่เม็ดเงินกำไรจริงไม่เข้าบริษัท ดังนั้น เงินปันผลก็จ่ายได้น้อยหรือบางบริษัทสภาพคล่องการเงินเริ่มตึงตัว ลักษณะหุ้นแบบนี้ ราคาจะแกว่งตัวผันผวนเร็วแต่แนวโน้มราคาหลักมักจะเป็นขาลง

2/เพื่อน หรือ ผู้อื่นบอกว่าธุรกิจจะดี กำไรบริษัทจะโตมากมายจะโครงการในอนาคต แต่เมื่อเราถือหุ้นแล้ว ปรากฎว่ากำไรไม่โตซะที แถมบางบริษัทกำไรลดลงอย่างน่าประหลาดใจด้วย ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงเร็วและลึก ในกลุ่มนี้ บริษัทมักให้ภาพการเติบโตของธุรกิจลักษณะโลกสวยแก่นักลงทุนในตลาดหุ้นไว้มาก ความคาดหวังของกำไรที่จะขยายตัวรวดเร็วสูง ดังนั้น หุ้นประเภทนี้ มักซื้อขายด้วย มูลค่าพีอี หรือ ราคาเทียบกับกำไรต่อหุ้น มากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลายเท่าตัว ทำให้เมื่อบริษัทไม่สามารถบันทึกกำไรได้จริงอย่างที่บอก นักลงทุนจะเกิดความผิดหวัง การเทขายหุ้นจะตามมา ราคาหุ้นสามารถลดลงได้ 50-70% จากราคาหุ้นที่เคยขึ้นไปได้สูงสุด

3/ หุ้นที่ซื้อขายด้วยค่าพีอีสูงมากเมื่อเทียบกับแนวโน้มอัตราขยายตัวกำไรใน 1-2 ปีข้างหน้า ความจริงก็คือ หากนักลงทุนซื้อและถือหุ้นบริษัทที่กำไรเติบโตต่อเนื่อง แต่ค่าพีอีสูงก็อาจทำให้การลงทุนของท่านไม่ประสบความสำเร็จได้ในช่วง 12-36 เดือน เพียงแต่ระยะเวลาที่ยาวนานจะทำให้ท่านสามารถมีอัตราผลตอบแทนได้ในที่สุดเมื่อกำไรของบริษัทขยายตัวจนมูลค่าหุ้นเริ่มต่ำลงและดึงดูดใจให้นักลงทุนท่านอื่นเริ่มสนใจซื้อหุ้นดังกล่าว ในบางครั้งนักลงทุนที่ถือหุ้นมายาวนานอาจตัดสินใจขายหุ้น ตัดขาดทุนไปก่อน หรือขายหุ้นที่ถือมายาวนานเพียงหวังผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย เพราะหมดความอดทนเมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้น กรณีนี้เรามักพบว่านักลงทุนก็ได้กำไรไม่มากนักเมื่อราคาหุ้นดังกล่าววิ่งขึ้นมากๆ

4/ การจัดพอร์ตการลงทุนหุ้นของท่านมีการกระจุกตัวในกลยุทธ์ใด กลยุทธ์หนึ่งมากเกินไป แน่นอนตลาดหุ้นมีประเด็นที่ผลักดันราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น กลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุนของท่านได้ดีตลอดเวลา ดังนั้น พอร์ตเราควรมีการผสมผสานการถือหุ้นในหลายกลยุทธ์ และกระจายตัวและกระจายธุรกิจ แต่การถือหุ้นของนักลงทุนทั่วไปไม่ควรเกิน 10-12 บริษัทเพราะจะทำให้ท่านติดตามได้ไม่ทั่วถึง เช่นตัวอย่างการสร้างพอร์ต ประกอบด้วย ก) การถือหุ้นเพื่อระยะสั้นต่ำกว่า 2 สัปดาห์ไม่ควรเกิน 20% ข) การถือหุ้นที่อัตรากำไรขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดและมูลค่าพีอีไม่เวอร์มากราว 35% ค) การถือหุ้นที่อัตรากำไรโตต่ำกว่า 12% แต่พีอีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดและอัตราผลตอบแทนปันผลสูงกว่า 3.2% ขึ้นไปอีกราว 35% และ ง) ถือหุ้นเพื่อลุ้นการฟื้นตัวกำไร หรือ turnaround ราว 10% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมดของท่าน ซึ่งท่านสามารถปรับสัดส่วนการถือครองหุ้นใน 4 ประเภทได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรทุ่มลงทุนไปให้หุ้นกลุ่มเก็งกำไร และ turnaround ไปทั้งพอร์ต

ดังนั้นหากนักลงทุนมีปัญหากับการเลือกหุ้น เราควรลงทุนในกองทุนซึ่งอาจเป็น active หรือ passive ก็ได้แล้วแต่ชอบ แต่หากต้องการเลือกหุ้นลงทุนด้วยตัวท่านเอง ขอให้หลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด 4 ประการที่ผมเกริ่นไว้ ก็จะทำให้นักลงทุนถือลงทุนในหุ้นได้อย่างมีความสุข ความเครียดจะลดลง พอร์ตโดยรวมจะโตอย่างยั่งยืนครับ ไม่ใช่รวยเร็ว จนเร็วอย่างที่เป็นเรื่องเล่าขานแซวกันสนุกไปในวงการแมงเม่านะครับ