สินค้า “ความศักดิ์สิทธิ์ ”

สินค้า “ความศักดิ์สิทธิ์ ”

แม้ว่ามหาเถรสมาคมออกกฎห้ามการจำหน่าย "วัตถุมงคล” ในเขตพื้นที่อุโบสถหรือพระอุโบสถจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะจะได้จัดวาง “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์”

ให้แตกต่างจากพื้นที่อื่นในวัด แต่การประกาศนี้ไม่มีทางที่จะยุติการขาย “วัตถุมงคล” ในบริเวณส่วนอื่นของวัดได้ หรือหากวัดใดจะยึดถืออย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้ “วัตถุมงคล” นั้นไปขายสะพรั่งรอบๆวัดแทน บรรดาเชียนพระเครื่องทั้งหลายจึงไม่คิดว่าการออกกฎระเบียบนี้จะทำให้การค้าขายของพวกเขาซบเซาลงแต่ประการใด มิหน่ำซ้ำ หากวัดต่างๆ เลิกหรือผลิต “วัตถุมงคล” น้อยลงก็ยิ่งส่งผลทำให้สินค้าของเขาที่อยู่ในสต๊อกมีราคาสูงขึ้นไปอีก

ตลาดของ วัตถุมงคลมีความสลับซับซ้อนและมีการแยกส่วน (segmentation) ตลาดได้อย่างละเอียดตามความปรารถนาและชนชั้นของลูกค้าการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความต้องการของตลาด สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัว ได้แก่ สภาวะของสังคมปัจจุบันที่ทำให้เกิดความต้องการ “สินค้าความศักดิ์สิทธิ์” นี้จนกลายเป็นตลาดขนาดมหึมาไปแล้ว

ความต้องการ สินค้าความศักดิ์สิทธิ์ นี้ขยายตัวมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิมมากในช่วง 20 ปีหลัง การขยายตัวนี้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขปัจจัยสองด้านด้วยกัน

ด้านแรก ความรู้สึกถึง ความเสี่ยง มีมากขึ้นในทุกมิติของชีวิต ลองไล่เรียงดูนะครับ เริ่มจากการทำงานในการผลิตนอกระบบที่ไร้กฎเกณฑ์หรือไม่สามารถที่กำหนดอะไรได้เลย อย่าลืมนะครับว่าคนทำงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการมีสัดส่วนถึง 65% ของกำลังแรงงาน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีหลักประกันใดๆที่จะทำให้พวกเขาอุ่นใจได้เลย พร้อมกันนั้น ชีวิตในปัจจุบันมีความจำเป็นในการเดินทางไปที่ต่างๆ ที่มากขึ้นมาก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็ลดลงอย่างรู้สึกได้ ในระดับครอบครัวเอง สามี/ภรรยา ก็รู้สึกถึงโอกาสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (โดยเฉพาะฝ่ายชาย) จะไปสร้างความสัมพันธ์นอกสมรสกับคนอื่นอันนำไปสู่การหย่าร้าง ฯลฯ

ความรู้สึกถึง “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คนโดยที่พวกเขาไม่สามารถจะคิดได้เลยว่าจะมีใครที่ไหนมาช่วยได้หากต้องเผชิญหน้ากับปัญหานั้นๆ ครอบครัวหรือเครือญาติที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหลักพิงให้เวลาประสบปัญหาก็ไม่มีเหลือแล้ว ครอบครัวเดี่ยวที่ขยายตัวมาได้หลายสิบปีก็แตกสลายเหลือเพียงครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวซึ่งต้องเผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง กลไกอำนาจรัฐหรือก็ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกพึ่งพิงได้เลยแม้แต่หน่วยงานเดียว

ความรู้สึก เสี่ยงในทุกมิติของชีวิตนี้เองทำให้ความต้องการ สินค้าความศักดิสิทธิ์มาให้อบอุ่นใจ คนจำนวนมากมักจะแก้ตัวในเรื่องความต้องการครอบครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ว่าเป็น “ที่พึ่งทางใจ”ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่มีที่พึ่งที่อื่นอีกแล้ว (นักศึกษาปีที่หนึ่ง คณะหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยภาคเหนือแห่งหนึ่งจำนวนมากกว่า 80% บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอให้สอบเข้าได้ ที่ต้องบนก็เพราะต้องการ “ที่พึ่งทางใจ” )

พร้อมกันนั้น ความยากลำบากในการประกอบอาชีพที่ทำให้โอกาสในการมีเงินหมื่นเงินแสนนั้นริบหรี่ลงเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดการขยายความต้องการ “สินค้าความศักดิ์สิทธิ์” ที่ตอบสนองความร่ำรวยอย่างปัจจุบันทันด่วน ส่งผลให้เกิดกระแส “พระเจ้าทันใจ” ขึ้นมา รวมไปถึงการนำเข้า ผีนัตหรือนาถะ” (nat) จากประเทศพม่ามาขายให้คนอยากรวยด้วย (หลังจากแมวกวักจากญี่ปุ่นพิสูจน์ความศักดิ์สิทธ์ไม่ได้อย่างใจ )

แม้กระทั่งนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงทั้งหมดก็รู้สึกว่าความก้าวหน้า/เลื่อนตำแหน่ง/การทำงานก็อยู่ในภาวะ “ความเสี่ยง” ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมาจากนายที่อาจจะต้องการอะไรพิเศษนอกเหนือการทำงาน เพื่อนที่ทำงานที่พร้อมจะเลื่อยขาเก้าอี้ ลูกน้องที่พร้อมจะหักหลังเพื่อประจบคนที่น่าจะมีอนาคตกว่า เอาเข้าจริงๆ ข้าราชการจำนวนมากก็ล้วนแล้วแต่เป็นลูกค้าในตลาดสินค้าประเภทนี้ครับ

อะไรที่เรียกว่าเป็น “ ระบบ” ของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือระบบราชการล้วนแล้วแต่ “ไม่เป็นระบบ” จริงๆทั้งนั้น จึงยิ่งทำให้คนในสังคมไทยรู้สึกถึงความ “เสี่ยง” อยู่ตลอดเวลา หากคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังคงรู้สึก เสี่ยงเช่นนี้ สินค้าความศักดิ์สิทธิ์ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย

อีกด้านหนึ่ง การดำเนินชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่ง “ศาสนา” อย่างเดิมอีกต่อไป ศาสนาถูกผลักให้ลดลงเหลือเพียงเครื่องกำกับจิตใจ หรือ ที่เข้าใจทั่วไป อันได้แก่ การแยกระหว่าง “ทางโลก”กับ”ทางธรรม” จึงทำให้ความสนใจที่จะทำความเข้าใจในหลักธรรมลดน้อยถอยลง เห็นได้อย่างชัดเจนนะครับว่าเดิมนั้นคนไทยจะไม่นำพระเครื่อง/พระพุทธรูปเข้ามาไว้ในบ้าน เพราะไม่ใช่ที่ของพระพุทธรูป (พระเครื่องจะสลักหลังว่า “เยธัมมา” แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์เพื่อที่จะให้คนในยุคหลังปัญจอันตรฐานได้พบและรู้ว่าคนสมัยเก่าก่อนนั้นนับถือศาสนาพุทธ​ ) แต่ปัจจุบัน เป็นการครอบครองโดยปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น

การขยายตัวทางเศรษฐกิจยิ่งทำให้คนต้องใส่ใจในโลกนี้/ชาตินี้มากขึ้น จึงย่ิงทำให้ความใส่ใจ/สนใจในหลักธรรมลดลงไปเรื่อยๆ ภาระการแบกรับดูแลศาสนาพุทธจึงตกอยู่บนบ่าของลูกหลานคนจนที่จำเป็นต้องเข้าสู่ศาสนาเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือ ในขณะที่ลูกหลานชนชั้นกลางกลับไม่แยแสที่จะช่วยดูแลศาสนา ลูกหลานชนชั้นกลางจะบวชกันเพียงระยะสั้นๆตามใจพ่อแม่เท่านั้น

เพศที่สาม ที่เป็นคนจนก็จำเป็นต้องเข้าสู่ผ้าเหลืองเพราะนอกจากจะมีโอกาสร่ำเรียนหนังสือแล้ว การเป็น “เพศที่สาม” และ “จน” ด้วยนั้นทำให้โอกาสในการแสดงออกและการมีกลุ่มน้อยกว่า “เพศที่สาม” ที่ “รวย” พอที่จะเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเทียบกันไม่ได้เลย จึงไม่น่าแปลกในที่ “เพศที่สาม” เข้ามาเป็นพระสงฆ์มากขึ้น

พร้อมกันนั้น การขยายตัวของรัฐเข้ามาสร้าง ระบบราชการพระ ยิ่งทำให้พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ สนใจเพียงการปฏิบัติตามกฎระเบียบของการเลื่อนชั้นยศ เช่น สร้างอะไรราคาเท่าไรจะได้เลื่อนชั้นอะไร จึงทำให้ความใสใจในการสร้างความรู้ความเข้าใจในศาสนาให้แก่สังคมลดลงไปเรื่อยๆ และที่สำคัญ การขาย สินค้าความศักดิ์สิทธิ์ นี้ทำให้เจ้าอาวาสสะสมเงินมากพอที่จะลงทุนสร้างถาวรวัตถุเพื่อขอเลื่อนยศพระอีกด้วย

ด้วยเงื่อนไขปัจจัยสองด้านที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมทำให้การจำกัดการจำหน่าย “สินค้าความศักดิ์สิทธิ์” ทำได้น้อยมาก (ได้แค่เขตอุโบสถ ) หากจะคิดกันจริงๆในเรื่องนี้ต้องคิดกันให้มากและต้องทำงานไปพร้อมๆ กับสังคม ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีผลอะไรหรอกครับ

เอาละครับ พรุ่งนี้ ผมว่าจะไปบูชาพระทันใจสักองค์ก่อนที่จะขึ้นราคา แหม ก็หวังจะถูกหวยเหมือนกันนี่ครับ