ปรับฐานคิด เปลี่ยนทัศนคติ ต่อการศึกษาไทย (จบ)

ปรับฐานคิด เปลี่ยนทัศนคติ ต่อการศึกษาไทย (จบ)

ในบทความ ปรับฐานคิด เปลี่ยนทัศนคติต่อการศึกษาไทย (1) ผู้เขียนได้ระบุถึงปัญหาด้านฐานคิด หรือทัศนคติของพ่อแม่ ผู้กำหนดนโยบาย

ที่ต่างมีความพยายามมอบการศึกษาที่ดีให้เด็กไทย แต่เพราะทัศนคติและมุมมองของ “การศึกษาที่ดี” แตกต่างกัน แนวทางที่เลือกใช้ก็ไปคนละทิศทาง ผลลัพธ์จึงยังห่างไกลจากสิ่งที่ควรเป็น เช่นนี้แล้ว เราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้อย่างไร? 

เปลี่ยนฐานคิด (Paradigm shift)เพื่อปรับทัศนคติ

เมื่อระบบการศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคมที่ใหญ่มหึมาคนมีปฏิสัมพันธ์กับระบบนับล้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่อาจทำได้ด้วยการใช้กำลังบังคับให้ทำตามเพราะแต่ละบุคคลมีฐานคิด(paradigm) ของตนเองที่เกิดจากประสบการณ์ที่ประสบมาฐานคิดนี้เป็นตัวกำหนดวิธีการมองโลกและวิธีปฏิบัติและตัดสินใจต่อสิ่งรอบตัวดังนั้นจะปรับทัศนคติได้จะต้อง เปลี่ยนฐานคิด (Paradigm shift) กันใหม่

การเปลี่ยนฐานคิดเป็นคำที่ Thomas Kuhn นักฟิสิกส์และปรัชญาชาวอเมริกันใช้เรียกปรากฏการณ์ในโลกวิทยาศาสตร์ที่หักล้างความเชื่อเดิมนำไปสู่การมองโลกและการแก้ปัญหาที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง

เช่นในปี 1543 นิโคลัสโคเปอร์นิคัสพิสูจน์ได้ว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่หมุนรอบดวงอาทิตย์ เขาได้หักล้างความเชื่อเก่าที่มีมานับพันปีการคำนวณที่อยู่บนฐานคิดเดิมว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลกลายเป็นโมฆะ ทำให้สังคมนักวิทยาศาสตร์ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงานอย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนฐานคิดครั้งนั้นกลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นำไปสู่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในเวลาถัดมา

เทียบกับสถานการณ์การศึกษาไทยฐานคิดของพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังถูกกำหนดโดยตลาดงานในศตวรรษที่ 20 ที่มีการจ้างงานตลอดชีพและมีสายอาชีพที่รับประกันรายได้มั่นคง ขณะที่คนจบการศึกษาระดับปริญญามีน้อย การเรียนให้สูงที่สุดจึงเป็นใบรับประกันสู่การมีชีวิตที่ดี เพราะฐานคิดนี้ทำให้พ่อแม่ไม่น้อยกดดันลูกเลือกสายการเรียนเลือกอาชีพหรือเลือกองค์กรที่ดูมั่นคง

แต่ทว่าโลกในศตวรรษที่ 21 เด็กนักเรียนต้องใช้ชีวิตที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดเดาไม่ได้บริษัทยักษ์ใหญ่ถูกล้มได้โดย start up เล็กๆ บางอาชีพจะสูญหายไปและมีอาชีพเกิดใหม่เมื่อฐานคิดเดิมของสังคมไม่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์จริงจึงเกิดการลักลั่น เช่นบัณฑิตมีใบปริญญาแต่ยังตกงานหรือสิ่งที่เรียนมาใช้งานไม่ได้อีกต่อไปกลายเป็นความทุกข์ของผู้สำเร็จการศึกษาที่ต้องปรับตัวให้ได้กับความคาดหวังของพ่อแม่และโลกการทำงานจริง

ในศตวรรษที่ 20 การเข้าถึงความรู้มีจำกัดการเรียนในห้องเรียนจึงมีวัตถุประสงค์หลักคือการถ่ายเทความรู้ไปสู่ผู้เรียนให้ได้มากที่สุดฐานคิดนี้นำไปสู่การสอนที่เน้นเนื้อหาเป็นหลัก(content-based)เน้นท่องจำแต่ในศตวรรษที่ 21 ความรู้ต่างๆ เข้าถึงง่ายดายด้วยเทคโนโลยี ความสามารถในการแข่งขันจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจำข้อมูลได้มากที่สุดแต่ใครจะนำข้อมูลนั้นไปวิเคราะห์ใช้ให้ประโยชน์ได้มากกว่ากันทักษะเช่น การคิดวิเคราะห์การแก้ปัญหาซับซ้อนจึงจำเป็นอย่างยิ่งหากผู้สอนเปลี่ยนฐานคิดเช่นนี้แล้วการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ในศตวรรษที่ 20 มีการเคลื่อนย้ายประชากรน้อยการเข้ามาของต่างชาติถูกมองว่าเป็นการคุกคามเราจึงยังเห็นหลักสูตรการเรียนที่มุ่งรักษาอัตลักษณ์ของประเทศและถ่ายทอดอุดมการณ์ชาตินิยมไปสู่คนรุ่นใหม่ แต่โลกในศตวรรษที่21จะเกิดการทำงานข้ามวัฒนธรรมมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนการเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการร่วมงานกับบุคคลหลากหลายจะเป็นทักษะที่โลกการทำงานใหม่ต้องการ หากผู้ออกแบบหลักสูตรเปลี่ยนฐานคิดใหม่จะทำให้การออกแบบหลักสูตรแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

สร้างจุดสั่นสะเทือน” (Disrupt)แทนเปลี่ยนรูปแบบ” (Reform)

ปัจจุบันมีกลุ่มคนและองค์กรไม่น้อยที่กำลังหักล้างความเชื่อเก่าว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องจัดการโดยลงไปทำงานร่วมกับโรงเรียนและนักเรียนโดยตรงไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระของภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรในภาคเอกชน

แต่รูปแบบการทำงานขององค์กรเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะโครงการที่มีระยะเวลาจำกัด หรือต้องได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐเพื่อทำงานร่วมกับโรงเรียนได้การขยายผลจึงมีข้อจำกัดนอกจากนี้พื้นที่การทำงานของแต่ละองค์กรกระจัดกระจายจึงยากที่จะเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์จนเปลี่ยนความเชื่อของสังคมได้

การลงทุนเพื่อการเปลี่ยนการศึกษาในโลกยุคใหม่จึงควรมุ่งเน้นกลไก 2 จังหวะ คือ (1)การประสานพลังขององค์กรเหล่านี้เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้และ (2) ถอดบทเรียนเพื่อขยายผลเพื่อทำให้แนวทางที่ได้ผลไม่เป็นเพียง “ทางเลือก” แต่กลายเป็น “กระแสหลัก” ของประเทศ

กระบวนการนี้คือกระบวนการสร้างจุดสั่นสะเทือน (Disrupt) เช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกกระบวนการนี้ทำให้แนวทางปฏิบัติที่ดูไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้กลายเป็นแนวทางกระแสหลักได้ในเวลาไม่กี่ปีอย่างที่ airbnb ทำให้การไปนอนค้างบ้านคนที่ไม่รู้จักกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ในภาคธุรกิจการ disrupt ที่เกิดจากผู้เล่นใหม่ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างระบบใหม่และระบบเก่ามีทั้งผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้แต่การ disrupt ในภาคการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือของผู้เล่นใหม่และผู้เล่นเก่าจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ด้วยความตั้งใจและด้วยทัศนคติใหม่คือความหวังที่จะทำให้เกิดระบบการศึกษาใหม่บนฐานคิดใหม่ที่ผู้ได้รับประโยชน์คือคนไทยทุกคน

 ////

โดย... ณิชา พิทยาพงศกร