ธุรกิจย้ายจากลอนดอนด้วย Brexit?

ธุรกิจย้ายจากลอนดอนด้วย Brexit?

เมื่อประมาณต้นปีนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอการวิเคราะห์ตัวแปรทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรภายหลังการลงประชามติการออกจากประชาคมยุโรปของสหราชอาณาจักร

เป็นเวลา 6 เดือน  ผลปรากฏว่า ตัวแปรที่มีแนวโน้มลดลงชัดเจนมีเพียงอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์  ส่วนอัตราการขยายตัวของจีดีพีไม่มีแนวโน้มลดลงหรือเพิ่มขึ้น

สิ่งที่น่าแปลกใจในครั้งนั้นคือ ดัชนีตลาดหุ้นลอนดอนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายใต้ความคาดคะเนในทางลบต่าง ๆ นานา  ข้อมูลล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2017 บอกว่าแนวโน้มเช่นนั้นยังคงอยู่ต่อไป โดยที่ FT100 เพิ่มขึ้น 21% และ FT 250  เพิ่มขึ้น 23% ภายหลังการลงประชามติ  แต่ข้อมูลที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ Eurostoxx banks เพิ่มขึ้นถึง 58%  เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี FT แล้ว คงจะได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า แม้ว่าธุรกิจในสหราชอาณาจักรโดยรวมได้รับผลกระทบทางบวกจาก Brexit แต่ธนาคารต่าง ๆ ในยุโรปได้รับผลกระทบทางบวกที่มีขนาดมากกว่า เนื่องจากเป็นที่คาดหมายได้ว่า ธนาคารที่ดำเนินงานภายในประชาคมยุโรปจะได้รับประโยชน์มากกว่า ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางของผู้คนในวงการสถาบันการเงินที่มีการกล่าวถึงการย้ายธุรกิจจากลอนดอนเข้าไปในประชาคมยุโรปตั้งแต่ก่อนลงประชามติมาจนกระทั่งทุกวันนี้

แต่สิ่งที่ควรแก่การสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ณ วันนี้ การย้ายการดำเนินงานออกจากลอนดอนยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย  ไม่มีใครโง่พอที่จะตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ทั้ง ๆ ที่ผลลัพธ์ของ Brexit ยังไม่มีเลย  ในลักษณะนี้  ข้อสังเกตต่อสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การออกมาแถลงของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการย้ายออกจากลอนดอนด้วย Brexit ตั้งแต่ก่อนลงประชามติจนทุกวันนี้ นั้น เป็นไปเพื่อเป็นการข่มขู่รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้ระลึกถึงผลประโยชน์ของธุรกิจเหล่านี้  มิฉะนั้น ธุรกิจเหล่านี้ก็จะดำเนินการในสิ่งที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

แถลงการณ์เท่าที่ปรากฏของธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม 2017 นี้ แสดงว่าในบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ 20 ราย มีประมาณครึ่งหนึ่งที่แสดงเจตนาในการตั้งบริษัทลูกในลักเซมเบิร์ก หรือ แฟรงค์เฟิร์ต หรือ ดับลิน เพื่อเป็นช่องทางในการรับธุรกิจภายในประชาคมยุโรปในอนาคตภายหลังจาก Brexit เกิดผลทางกฎหมายแล้ว  บริษัทเหล่านั้นได้แก่ Hiscox (ประกันภัย), Standard Charter, Hudson (สำนักงานกฎหมาย), Lloyd (ประกันภัย), Barclays, HSBC, AIG, Daiwa และ Nomura

บริษัทที่จะย้ายอย่างมีนัยสำคัญคือ UBS, Deutsche Bank, Goldman Sachs, Diageo (Vodka), Games, London Stock Exhcange และ Citigroups  ส่วนบริษัทที่แถลงว่าเกือบจะไม่มีผลกระทบเลยได้แก่ DFS (furniture) และ Microsoft

เมื่อประเมินสถานการณ์เช่นนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าแนวโน้มที่ลอนดอนจะสูญเสียธุรกิจหรือการจ้างงานมีสูง  ซึ่งคงจะเกิดขึ้นแน่นอนแต่ขนาดคงจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ  แต่ควรจะระลึกไว้ว่านี่คือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น  นอกเสียจากว่าผลลัพธ์จากการเจรจาเงื่อนไข Brexit ออกมาในทางที่ไม่สามารถรักษาสถานะที่ลอนดอนมีอยู่ในขณะนี้ได้  แต่การสูญเสียคงจะเกิดขึ้นแน่นอน  ปัญหาอยู่ที่ขนาดว่าจะมากเพียงใด

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2017  รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ส่งมอบสาส์นต่อทางการประชาคมยุโรปอย่างเป็นทางการเพื่อแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการขอออกจากประชาคมยุโรปและเริ่มทำการเจรจาในรายละเอียดหลังจากนั้น

David Davis, Brexit Secretary, ให้สัมภาษณ์ BBC เกี่ยวกับข่าวลือที่ว่า ทางประชาคมยุโรปได้เรียกร้องเงิน 50 พันล้านปอนด์สำหรับ “ใบหย่า” จากประชาคมยุโรป  เขากล่าวว่า “เราคงไม่เห็นเงินจำนวนดังกล่าวเปลี่ยนมืออย่างแน่นอน” และ “รัฐบาลได้เตรียมแผนฉุกเฉินในกรณีที่ไม่อาจบรรลุข้อตกลงได้”

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้ปราศรัยระหว่างการประชุมการค้าและการลงทุนกับกาต้าร์ว่า “พรุ่งนี้เราจะเริ่มต้นการเจรจาความเป็นหุ้นส่วนใหม่ที่ลึกซึ้งและพิเศษกับประชาคมยุโรป  ในขณะที่ทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะยึดถือโอกาสทางประวัติศาสตร์นี้ที่จะก้าวออกไปในโลกนี้และสร้างสรรค์บทบาทของสหราชอาณาจักรที่มากขึ้น  นี่ไม่ได้หมายความเพียงการสร้างพันธมิตรใหม่ แต่ยังหมายถึง การทำงานร่วมกับเพื่อนเก่าที่ยืนเคียงข้างเรามาหลายศตวรรษให้มากขึ้น”

Davis ยังได้กล่าวว่า สหราชอาณาจักรไม่ได้หวาดกลัวที่จะต้องเดินจากไปจากโต๊ะเจรจา แต่ข้อตกลงที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางยังคงเป็นเป้าหมายของเรา  เขาปฏิเสธเรื่องที่จะมีการจำกัดจำนวนคนเข้าเมืองโดยกล่าวว่า จำนวนคนเข้าเมืองอาจจะยอมให้เปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือน้อยลงได้ตามผลประโยชน์ของชาติ

Lord Hague อดีตรัฐมนตรีว่ากาารกระทรวงต่างประเทศได้กล่าวเตือนนายกรัฐมนตรีเมย์ไม่ให้แสดงความอ่อนแอในการเผชิญกับการปกป้องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคมยุโรป โดยไม่ลืมที่จะแอบชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของเยอรมันในการรักษาการส่งออกรถยนต์ไปยังสหราชอาณาจักร

เท่าที่บรรยายมาข้างต้นคงจะสรุปได้ว่า เศรษฐกิจโดยรวมของสหราชอาณาจักรคงจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบจาก Brexit แต่คงจะเป็นทางบวกมากกว่า การจ้างงานมีโอกาสที่จะลดลงชัดเจน  แต่คงไม่ใช่อย่างขนานใหญ่ เป็นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น แต่ละฝ่ายคงจะมีข้อต่อรองในกระเป๋าค่อนข้างมากและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่ใช่สหราชอาณาจักรที่จะมีแต่จุดอ่อนตามที่สือมวลชนประโคมเสมอไป  ในที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ข้อต่อรองทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจเป็นหลัก  แต่จะอยู่ที่ชั้นเชิงในการเจรจาต่อรองมากกว่า