วิกฤติไข่ในยุโรป กับบทเรียนเรื่องความปลอดภัยอาหารของไทย

วิกฤติไข่ในยุโรป กับบทเรียนเรื่องความปลอดภัยอาหารของไทย

เมื่อเดือนที่แล้ว มีข่าวดังในยุโรปว่า พบไข่จำนวนมากถูกปนเปื้อนด้วยสารฟีโปรนิล (Fipronil) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ยุโรปห้ามใช้กับสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม

เพราะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เห็นว่าเป็นสารอันตรายกับผู้บริโภค โดยเฉพาะผลกระทบที่มีจะกับเด็ก ทำให้ยุโรปต้องเร่งสั่งปิดฟาร์มเลี้ยงไก่จำนวนหลายร้อยฟาร์มเพื่อดำเนินการตรวจสอบ และต้องระงับการขายและเรียกคืนไข่จำนวนหลายล้านฟองเพื่อนำไปทำลายทิ้ง

พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ท่ามกลางความตื่นตระหนกของผู้บริโภคยุโรปว่า แล้วจะยังรับประทานไข่อยู่ได้อยู่ไหม? หากเรากินไข่ออร์แกนิกค์หละจะปลอดภัย (กว่า) ไหม? และเนื้อไก่หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของไข่ อย่างเส้นพาสต้า ฯลฯ มีการปนเปื้อนด้วยไหม ? นั่นเป็นคำถามที่ผู้บริโภคยุโรปสงสัยในช่วงวิกฤติ แต่ทางการยุโรปออกมาให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

แต่สำหรับคนไทย เรามั่นใจแล้วหรือว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นปลอดภัย ใครจะให้ความมั่นใจแก่เรา

เมื่อเกิดเหตุการร์แบบนี้สิ่งที่ยุโรปทำคือ ซุปเปอร์มาร์เกตหลายแห่งตัดสินใจดำเนินนโยบายป้องกันไว้ก่อน โดยการเรียกคืนสินค้าไข่จำนวนหลายล้านฟองที่ขายออกไปแล้วในตลาดที่มาจากแหล่งผลิตที่ต้องสงสัย และนำไปทำลายทิ้ง และทางการยุโรปกำลังเริ่มทดสอบเพิ่มเติมทั้งในสินค้าเนื้อไก่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช่ไข่ไก่ด้วย

คาดว่าต้นตอเรื่องนี้ มาจากเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ในเนเธอร์แลนด์ หน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหารในเนเธอร์แลนด์หรือ NVWA ได้สั่งปิดฟาร์มไปกว่า 180 ฟาร์ม ซึ่งมีกำลังการผลิตไข่กว่า 40 ล้านฟ้องต่อสัปดาห์ ทางการเบลเยียมก็เร่งทำการตรวจสอบอย่างจริงจัง

แต่ไข่จากฟาร์มดังกล่าวถูกขายออกไปในหลายประเทศในยุโรป รวมทั้ง เบลเยียม อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ผ่านเครือข่ายธุรกิจอาหาร นอกจากนั้น ยังส่งออกไปขายถึงฮ่องกงด้วย (ไม่ต้องห่วง ไม่ได้ส่งออกมาขายในไทย) ส่วนเยอรมนียิ่งเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนหนักโดยเฉพาะไข่ที่มาจากเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ โดยทางการเยอรมนีเปิดเผยว่า พบระดับการปนเปื้อนในไข่จากเพื่อนบ้านมีมากถึงระดับ 1.2 มิลิกรัม/กิโลกรัม และเนเธอร์แลนด์ก็พบในระดับ 0.72 มิลิกรัม/กิโลกรัม เกินไปจากกฎหมายอียูที่อนุญาติให้มีการปนเปื้อนได้ไม่เกิด 0.005 มิลิกรัม/กิโลกรัม

กรณีการตรวจสอบกรณีไข่ปนเปื้อนในยุโรปได้ที่นี่ Timeline Europe’s eggs scandal

วิกฤติไข่ในยุโรป กับบทเรียนเรื่องความปลอดภัยอาหารของไทย

SOURCE: AFSCA release and POLITICO reporting

เหมือนเป็นฝันร้ายของอียู เพราะปกติอียูมีชื่อเสียงในด้านการควบคุมความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ซึ่งมีมาตรฐานที่สูงและกฎระเบียบที่ควบคุมอย่างเข้มงวด แบบที่ผู้ส่งออกไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรู้กันว่าต้องทำงานหนักแค่ไหนกว่าจะผ่านด่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านอาหารของอียูที่มีชื่อเสียงว่าสูงที่สุดในโลก ส่งสินค้าอาหารเข้าไปขายในตลาดยุโรปได้

แต่สถานการณ์การณ์ลักษณะนี้ ส่อให้เห็นปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎระเบียบของอียู ในประเทศของตนเอง กลายเป็นว่าไม่น่าเชื่อถือ เพราะอุตสาหกรรมของตนเองกลับหละหลวม อียูต้องหันไปพิจารณาว่ามาตรฐานสูงที่กำหนดไว้ ต้องบังคับใช้ให้ได้ด้วยในประเทศของตนด้วย ไม่ใช่เข้มงวดแต่กับประเทศที่ส่งสินค้าไปขายไปในยุโรป

แต่ด้านดีของเรื่องไข่นี้ ก็มีอยู่ว่า เรื่องการปนเปื้อนในอาหารแบบนี้เป็นที่จับตา และถูกนำมาตรวจสอบและแสดงข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสและเปิดเผยในยุโรป (อย่างน้อยก็ ในระดับหนึ่ง แม้จะช้าไปหน่อย แต่ก็ถูกเปิดเผย) อย่างน้อยทำให้อุตสาหกรรมอาหารของยุโรปยิ่งหละหลวมไม่ได้ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของอียู เพราะทางการด้านความปลอดภัยของอาหารเค้าดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง บนพื้นฐานและหลักฐานทางวิทยาศาตร์

หากแต่เราอยากรู้ว่าอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ในประเทศไทย มีชื่อเสียงระดับโลก ในด้านรสชาติ และความอร่อย นั้นปลอดภัยแค่ไหน? ใครจะบอกเราได้อย่างเต็มปาก

อยากส่งเสริมให้ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนในวงการอาหารออกมาให้ข้อมูลและให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น อย่างน้อยก็สินค้าเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หลักๆ ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน ว่าท่านมีระบบการควบคุมความปลอดภัยอย่างไร สินค้ามาจากไหน อาจเริ่มที่ระดับยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้ก่อนเลย เอาแบบยึดบนพื้นฐานและข้อมูลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์และการตรวจสอบในห้องแล็ปแล้ว

อยากเห็นองค์กรพิเศษ (จะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือไม่ใช่ภาครัฐก็ได้) ไว้คอยตรวจสอบภาครัฐและภาคธุรกิจอีกทีว่าระดับความปลอดภัยของอาหาร นั้นเป็นไปตามที่กำหนดจริงหรือไม่ คืออยากให้มีการสุ่มนำสินค้าเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ไม่ว่าจะออร์แกนิค ไม่ออร์แกนิค นำไปตรวจสอบในเล็ป เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล (จะยึดของอียูเป็น benchmark ก็ได้ แต่คนก็จะหากไม่มาตรฐานสูงเกินไปอีก ทำไม่ได้...) แบบสุ่มๆ นี่แหละดี แล้วเอามาเปิดเผยให้ประชาชนรู้นั่นแหละ เดี่ยวนี้มี social media ยิ่งมีประโยชน์ ยิ่งถูกจับตา จะยิ่งต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยให้สูง

สิ่งสุดท้ายที่อยากเห็นคือความโปร่งใส และการสร้างความมั่นใจในชีวิตและสุขภาพให้ประชาชนไทย ให้เรามั่นใจว่าเรากำลังรับประทานอาหารที่ “ปลอดภัย” อยู่ คุณลองถามตัวเองวันนี้ว่า คุณมั่นใจแล้วหรือว่าอาหารที่คุณรับประทานนั้นปลอดภัย?” อันนี้เป็นมาตรฐานแรกๆ ที่ประเทศต้องมีให้ประชาชนเมื่อพูดถึงความกินดีอยู่ดี พร้อมๆ ไปกับเรื่องสาธารณสุข และการศึกษา ไม่ใช่แค่เรื่องเงินในกระเป๋าอย่างเดียว

////

ดร. อาจารี ถาวรมาศ 

Consultant และผู้บริหาร บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายการดำเนินความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) สำหรับภาครัฐและเอกชนไทย และเป็นที่ปรึกษาอิสระให้กับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชีย

www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd