‘เสี่ยยักษ์’สวมสูทบริหาร รับไม้ต่อตู้เติมเงินเอเจ

 ‘เสี่ยยักษ์’สวมสูทบริหาร รับไม้ต่อตู้เติมเงินเอเจ

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

            ‘เอเจ พระเอกตัวจริง’วลีฮิตที่ทำให้ บมจ. เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นที่รู้จักด้วยธุรกิจที่หลากหลายตั้งแต่ขายสินค้าไฟฟ้าในแบนด์ตัวเอง ซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต   รับชำระเงิน  พัฒนาซอฟต์แวร์  ขนส่งสินค้า  บริการโรงเก็บสินค้า และธุรกิจขายตรง

            ปี 59 บริษัทยังกระโดดเข้ามาทำธุรกิจตู้เติมเงิน ภายใต้ชื่อ ‘ตู้เอเจเติมสบาย’ บริหารโดยบริษัทย่อย คือ ‘เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น ‘ ด้วยจำนวนตู้ 12,500 ตู้ ตั้งเป้าหมายจะขยายให้ได้ถึง 50,000 เพื่อสร้างยอดขายขึ้นมามีส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 3 ให้ได้  ด้วยกลยุทธ์จูงใจลงทุนตู้ละ 2,500 บาท ผ่อนได้ 60 เดือน รับประกันนานถึง 7 ปี

            เป้าหมายกับผลดำเนินงานกลับเป็นเรื่องสวนทางกันสิ้นเชิง  จากผลประกอบการล่าสุด ครึ่งปีแรกปี 60 เวนดิ้ง ฯ มีรายดีรวม 643 ล้านบาท ขาดทุน 204 ล้านบาท   มีสินทรัพย์ 1,420 ล้านบาท หนี้สิ้น 1,012 ล้านบาท  ส่วนของผู้ถือหุ้น 407 ล้านบาท

            ดังนั้นส่งผลทำให้ เอเจเอ ในฐานบริษัทแม่ รับรู้ขาดทุนตามสัดส่วนถือหุ้น  60.08 % ตามไปด้วย จากผลประกอบการ  ไตรมาส 2ปี 60 บริษัทมีรายได้รวม  1,058 ล้านบาท  ขาดทุน 227 ล้านบาท

            โดยมีการชี้แจงเกิดจากธุรกิจตู้เติมเงินแทบทั้งสิ้น ทั้งต้นทุนการขายเพิ่มขึ้น 61 % ตั้งสำรองมูลค่าลดลงของสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น   ต้นทุนบริการเพิ่มขึ้น 60% จากธุรกิจตู้เติมเงินออนไลน์มีบริการรายเดือนการใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น   มีต้นทุนการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 44% จากการคืนตู้เติมเงิน  และรับรู้หนี้สงสัยจะศูนย์พร้อมกับค่าดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 11.63 % และ 17.64 % ตามลำดับ

            ปัจจุบันบริษัทจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดการรับรู้ขาดทุนจากบริษัทดังกล่าว ด้วยการเพิ่มทุนใน เวนดิ้ง ฯ อีก  480  ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน  4.8 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 115 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 552 ล้านบาท  ซึ่งบริษัทจะสละสิทธิเพิ่มทุนเพื่อให้กลุ่มที่จองซื้อหุ้นเข้ามาเพิ่มทุนแทน  เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้บริษัทมีมูลค่าถึง  707 ล้านบาท

            กลุ่มผู้จองซื้อหุ้น คือ ‘เสี่ยยักษ์ ‘ วิชัย วชิรพงศ์ ,  วิชิรธร คงสุข และสันติธร บุญเชื้อ   ซึ่งมีการชำระค่าหุ้นไม่น้อยกว่า  483 ล้านบาท ไปแล้วเมื่อเดือนก.ย. และจะชำระอีกครั้งภายใน 12 ต.ค. มูลค่า  68 ล้านบาท  พร้อมทั้งทำสัญญาซื้อขายสินค้าเสร็จเด็ดขาดกับบริษัทเพื่อซื้อตู้เติมเงินออนไลน์และอะไหล่ทั้งหมดจากบริษัท ซึ่งหลังจากนี้ไม่มีสินค้าตู้เติมเงิน ภายใต้ เอเจ อีกต่อไป

            การเข้ามานั่งแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ‘เสี่ยยักษ์’  เปิดใจกับ Money Wise  ว่าเป็นการตกกระไดพลอยโจน เดิมเป็นเพียงนักลงทุนที่สนใจการเติบโตของธุรกิจตู้เติมเงิน  แต่ต้องกลายมาเป็นเจ้าของและผู้บริหารในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ตนต้องการ

            ก่อนหน้านี้ธุรกิจตู้เติมเงินค่อนข้างไปได้ดีมีสินทรัพย์ในตัวบริษัท  เช่น ตู้เติมเงินนำไปบริหารจัดการหารายได้ได้  มีรายได้เข้ามาตลอด  แต่ปัญหาเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของผู้บริหารด้วยการนำเอาหนี้ระยะสั้นไปใช้เป็นหนี้ระยะยาวทำการเงินสะดุด

            โดยหนี้ระยะสั้นมีการออกเป็นตั๋วเงินบี/อี  ซึ่งทำได้ง่ายและได้เงินเร็ว แต่ที่ผ่านมาตลาดตั๋วเงินบี/อีได้รับผลกระทบ  ขาดความเชื่อมั่น จนกลัวจะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้เหมือนหลายกรณีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถออกตั๋วบี/อี มาต่ออายุได้ ทำให้ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาชำระหนี้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจปลอดหนี้  เช่นเดียวกันทาง เอเจเอ ที่สามารถรอดจากขาดทุนหลังขายสินทรัพย์บริษัทนี้ออกไปด้วยเช่นกัน

            หลังจากนี้คาดว่าต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี กว่าจะเห็นธุรกิจกลับมาเติบโตได้  ซึ่งตนถนัดเป็นนักลงทุนมาตลอด ไม่มีความคิดจะนั่งบริหารงานแต่หลังจากนี้ต้องรื้องานบริหารงานขึ้นมาใหม่หมดซึ่งต้องมาดูว่าจะทำอะไรดี แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน

            อย่างไรก็ตามในแง่มุมบวกก็มีเพราะธุรกิจนี้ไม่ได้แย่ ไม่งันตนคงไม่กล้าใส่เงินเพิ่มทุนไปขนาดนี้   รวมทั้งในอนาคตหากบริษัทเติบโตดีสามารถเป็นมรดกให้กับครอบครัวของตนเองได้

‘ ไม่เสียใจที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ แต่เสียดายโอกาส ที่บริษัทนี้กำลังดีๆ อยู่ ดันมามีปัญหาการบริหารหนี้ที่ผิดพลาด  เรื่องตั๋วบี/อี นอกจากบริษัทที่เจอปัญหาแล้วยังมีอีกกว่า 100 บริษัทเจอในลักษณะเดียวกัน   และยังเสียดายเวลา เพราะต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี ที่จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตไปได้ ’