พัฒนาอย่างไรให้เป็นเลิศด้านนวัตกรรม

พัฒนาอย่างไรให้เป็นเลิศด้านนวัตกรรม

ทำไมประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆอย่างสิงคโปร์ จึงมีอันดับความสามารถการแข่งขันที่สูงในอันดับ Top 3 หรืออยู่ในลำดับที่ 1 หรือ 2 ติดต่อกันมาหลายปี

เมื่อเรานึกถึงดัชนีชี้วัดหรือผลการจัดอันดับประเทศด้านความสามารถการแข่งขัน (The Global Competitiveness Index) เราคงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว อาทิ IMD หรือ WEF แต่ถ้าความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม คงต้องนึกถึง GII หรือ Global Innovation Index ซึ่งได้รายงานผลการจัดอันดับเป็นประจำทุกปีเช่นกัน

สำหรับคนไทยหรือแม้แต่คนชาติอื่นๆมากมายหลายคนคงนึกแปลกใจไม่น้อยว่า ทำไมประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆอย่างสิงคโปร์ จึงมีอันดับความสามารถการแข่งขันที่สูงในอันดับ Top 3 หรืออยู่ในลำดับที่ 1 หรือ 2 ติดต่อกันมาหลายปี อีกทั้งยังมีอันดับด้านนวัตกรรมในอันดับที่ 7 ของโลก (ผลการจัดอับดับล่าสุด ปี ค.ศ. 2017) เหนือเกาหลี (อันดับที่ 11) ทั้งๆที่เราคุ้นเคยกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ Smart phone ชั้นนำระดับโลก เหนือญี่ปุ่น (อันดับที่ 14) ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

 

แน่นอนคงมีปัจจัยมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา(การพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่) ด้านการวิจัยพัฒนา(ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ด้านการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา และด้านอุตสาหกรรมและบริการ ประเด็นที่ผมสนใจก็คือ องค์กรต่างๆในประเทศสิงคโปร์มีแนวทางและวิธีการบริหารจัดการอย่างไร จึงได้ชื่อว่ามีระดับความสามารถด้านนวัตกรรมที่สูง อีกทั้งยังสามารถพัฒนารูปแบบการบริการใหม่ๆที่มีความทันสมัยและปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วทันกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

 

คุณ Lim Boon Whatt ที่ปรึกษาด้านการจัดการและผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ชาวสิงคโปร์ ได้เล่าให้ฟังถึงกรอบการบริหารจัดการเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม (Innovation Excellence Framework) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ทำให้ทุกคนในองค์กรเกิดความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับมิติต่างๆ ของความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม โดยช่วยให้

 

ผู้นำ (Leadership) สามารถกำหนดและถ่ายทอดกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ เข้าใจเรื่องสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นในฐานะของผู้นำ และสร้างวัฒนธรรมความเป็นเลิศให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยแสดงให้เห็นถึงบทบาทการเป็น Innovation Leader

 

ผู้บริหาร (Management) สามารถเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์และการปฏิบัติการ ส่งเสริมให้บุคลากรมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุง และเป็นผู้ถือธงนำในการปรับปรุง โดยเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องค่านิยมที่เน้นนวัตกรรม Innovation Champion

 

บุคลากร (All employees) สามารถทำหน้าที่ช่วยองค์กรสร้างทิศทางร่วมกันของคนในองค์กร มีส่วนร่วมในการปรับปรุงแบบเป็นทีมหรือโดยลำพังแต่ละบุคคล (Innovator)

 

คุณ Lim Boon Whatt ยังได้ขยายความถึงคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้กรอบการบริหารจัดการเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม ทำให้หลายองค์กรในสิงคโปร์ ยกระดับกลายเป็นองค์กรนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าได้สูงขึ้นกว่าการดำเนินธุรกิจในแบบเดิมๆ ได้แก่

 

  1. การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์ (Visionary Leadership) มีนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมาย ตลอดจนมีค่านิยมองค์กรที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ด้วย
  2. ความเป็นเลิศโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric Excellence) โดยมุ่งเน้นที่ประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ และความคาดหวังที่อยู่นอกเหนือความต้องการทั่วไป
  3. การมุ่งเน้นนวัตกรรม (Innovation Focus) ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการ หากแต่ต้องคำนึงถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆที่แตกต่างออกไปจากเดิม
  4. การให้คุณค่าและความสำคัญต่อพนักงานและพันธมิตร (Valuing People and Partners) ยกย่อง ชมเชย และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่การทำ แต่รวมถึงการคิดสิ่งใหม่
  5. ความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Ready) คาดการณ์อนาคต และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร
  6. ความคล่องตัว (Agility) ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวอย่างรวดเร็ว
  7. การขับเคลื่อนด้วยความรู้ (Knowledge driven) โดยการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกถึงการกระทำที่มีต่อสถานการณ์นั้นๆ เพื่อการตัดสินใจ เรียนรู้ และปรับปรุง
  8. การเรียนรู้ระดับองค์กรและระดับบุคคล (Organizational and Personal Learning) โดยใช้หลากหลายรูปแบบและวิธีการ ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน การสืบค้นผ่านระบบ การปฎิบัติในสถานที่จริง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
  9. การมุ่งเน้นผลลัพธ์ (Results Orientation) นอกจากผลลัพธ์ที่ดี ตรงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว ยังต้องมีความสมดุลในความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

 

เมื่อเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมาถึงจุดนี้ เราเริ่มสนใจและใคร่รู้ลึกลงไปในรายละเอียด อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่ามีอะไรที่เราสามารถจะนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของไทย และองค์กรต่างๆในประเทศไทยสามารถจะใช้ในการพัฒนาและยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรม (Innovation Capability Development) ให้เข้มแข็งได้ในระดับโลก ซึ่งจะขอมาสาธยายให้ได้อ่านกันในโอกาสต่อไป