“ความไว้วางใจกับงานธนาคารกลาง”

“ความไว้วางใจกับงานธนาคารกลาง”

ปลายเดือนที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากผู้จัดงาน National Asset and Liability Management Asiaซึ่งเป็นการประชุมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินของประเทศ

จัดที่สิงคโปร์ ให้เป็นองค์ปาฐกงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปี ซึ่งผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารเงินสำรองทางการและหนี้สาธารณะจากธนาคารกลางและหน่วยราชการประเทศต่างๆและมีผู้บริหารสินทรัพย์และผู้จัดการเงินลงทุนภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย ที่ผู้จัดเชิญเพราะอยากให้ผมพูดถึงประสบการณ์และบทเรียนการทำงานของผมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะนายธนาคารกลางที่เป็นที่รู้จัก ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงาน 

ซึ่งผมก็ตอบรับและได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานในธนาคารกลางโดยเน้นประเด็นความสำคัญของความไว้วางใจ หรือ Trust ที่มีต่องานของธนาคารกลาง ซึ่งการพูดวันนั้นได้รับการตอบรับดี วันนี้เลยอยากนำข้อคิดเหล่านี้มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์เศรษฐศาสตร์บัณฑิต ทราบ 

ความไว้วางใจ หรือ Trust เป็นประเด็นสำคัญมากในธุรกิจการเงิน รวมถึงงานของธนาคารกลาง ความไว้วางใจหมายถึง ความเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือจะได้รับเป็นสิ่งที่ดี ซื่อตรง เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพ ความเชื่อดังกล่าวสำคัญมากต่อธุรกิจการเงินและเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจการเงินสามารถเดินต่อหรือเติบโตได้ คือ ถ้าคนที่ติดต่อทำธุระหรือเป็นลูกค้ากับธนาคารหรือสถาบันการเงินไม่ไว้วางใจในวิธีการทำธุรกิจหรือในตัวธนาคารหรือสถาบันการเงิน ธนาคารหรือสถาบันการเงินก็จะเติบโตยาก 

ซึ่งสำหรับธุรกิจการเงิน ประเด็นความไว้วางใจที่สำคัญคือ ภาระหน้าที่ หรือobligation ด้านการเงินที่สถาบันการเงินมีต่อลูกค้าตามพันธะกรณี ข้อตกลง หรือสัญญาที่มี ที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญานั้นอย่างครบถ้วน ถูกต้องและตรงเวลา ไม่บิดพลิ้ว สำหรับธนาคารกลาง ความไว้วางใจสำคัญคือ ธนาคารกลางจะดูแลให้เศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศเติบโตและมีเสถียรภาพ ซึ่งรวมถึง ป้องกันไม่ให้วิกฤติิเกิดขึ้นในเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ ในทางปฏิบัติคือ ปลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเกิดวิกฤติิ ซึ่งที่สำคัญคือ ป้องกันไม่ให้ระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากจนเกินความสามารถที่จะชำระคืนได้ ทั้งหนี้ภาครัฐและหนี้ภาคเอกชน 

การก่อหนี้มากทำให้ประเทศใช้จ่ายเกินตัว นำมาสู่ปัญหาการขาดดุลการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่รุนแรงและเรื้อรัง จนประเทศอาจไม่สามารถชดเชยการขาดดุลดังกล่าวได้ และเกิดเป็นวิกฤติิในที่สุด ดังนั้นหน้าที่สำคัญของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพคือ ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจก่อหนี้และใช้จ่ายเกินตัวจนเกินความสามารถที่จะชำระคืนและเกิดเป็นวิกฤติิ 

เมื่อวิกฤติิเศรษฐกิจเกิดขึ้น ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อธนาคารกลางและต่อสถาบันการเงินของประเทศก็จะหายไปทันที เพราะผู้ที่มีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ รวมถึงสถาบันการเงิน ไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวดีพอ จนเศรษฐกิจเกิดปัญหา ภาวะการสูญเสียความไว้วางใจนี้จะมีต่อเนื่องจนกว่าผู้ทำนโยบายหรือธนาคารกลางจะสามารถกู้สถานการณ์ แก้วิกฤติิ และนำเศรษฐกิจกลับมาสู่การขยายตัว และระบบการเงินกลับมาสู่ความมีเสถียรภาพ 

หลังจากนั้น หน้าที่ของธนาคารกลางก็คือการกู้ศรัทธาหรือความไว้วางใจของประชาชนที่สูญหายไปให้กลับคืนมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าทำสำเร็จและเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว ความไว้วางใจของประชาชนต่อธนาคารกลางก็จะกลับมาสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้นจากการก่อหนี้ที่จะมีในรอบใหม่ที่อาจนำมาสู่การใช้จ่ายที่เกินตัว การเก็งกำไร สร้างความเสี่ยงที่วิกฤติิเศรษฐกิจอาจจะกลับมาอีก ซึ่งถ้าธนาคารกลางไม่สามารถบริการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ได้ เกิดวิกฤติิเศรษฐกิจขึ้น ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อธนาคารกลางก็จะหมดลงอีกทันที 

ในลักษณะนี้ เหมือนกับวิกฤติิเศรษฐกิจที่มีขึ้นมีลงเป็นวัฏจักรคือ มีการขยายตัว เกิดเป็นวิกฤติิ มีการชะลอตัวรุนแรง ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อธนาคารกลางก็มีลักษณะเป็นวัฏจักรเช่นกัน คือ มีขึ้นมีลง ความไว้วางใจต่อธนาคารกลางจะสูง ถ้าเศรษฐกิจเติบโตได้ดี และความไว้วางใจจะสูญหายไปถ้าวิกฤติิเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทำให้การทำหน้าที่ดูแลให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ จึงมีผลโดยตรงต่อความไว้วางใจที่ประชาชนจะมีต่อธนาคารกลาง 

ดังนั้น สำหรับนายธนาคารกลาง วัฏจักรความไว้วางใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าประชาชนไม่ไว้วางใจ การทำหน้าที่ของธนาคารกลางก็จะยาก ขณะเดียวกัน การเรียกคืนความเชื่อมั่นก็จะใช้เวลา ความไว้วางใจจึงเป็นเรื่องที่นายธนาคารกลางต้องตระหนักและระมัดระวังอยู่เสมอ 

การกู้ศรัทธาและเรียกคืนความไว้วางใจที่ว่ายากและใช้เวลานั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีธนาคารกลาง หน่วยงานราชการ สถาบันการเงินหรือแม้แต่บริษัทเอกชน เพราะความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ซึ่งสำหรับธนาคารกลาง เงื่อนไขสำคัญก็คือ 

  1. ธนาคารกลางต้องสามารถแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นให้ได้ให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวและระบบการเงินกลับมามีเสถียรภาพ นี่คือเงื่อนไขแรก
  2. ธนาคารกลางต้องแสดงให้เห็นว่าจุดอ่อนต่างๆในการทำนโยบายหรือการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เป็นช่องว่างที่นำไปสู่การเกิดวิกฤติ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงและปิดจุดอ่อนเหล่านี้แล้วจนมั่นใจได้ว่าจะไม่มีความอ่อนแอในลักษณะดังกล่าวที่จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีก เช่น มีการปรับปรุงระบบหรือกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนและปรับปรุงระบบการตรวจสอบและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
  3. การปฏิรูปต่างๆที่ได้ทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้มีการสื่อสารให้ประชาชนและผู้ร่วมตลาดทราบเพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการสื่อสารที่โปร่งใส ที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดรับชอบของธนาคารกลางในการทำหน้าที่ มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ ปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง สิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่จะสร้างความมั่นใจและเรียกคืนความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อธนาคารกลางให้กลับคืนมา

ล่าสุด หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ปี 2007/2008 วิกฤติดังกล่าวได้ทำให้ความไว้วางใจ หรือ Trust ของธนาคารกลางในหลายประเทศลดถอยลง ทำให้การเรียกคืนความไว้วางใจ (Rebuilding trust) กลายเป็นพันธกิจสำคัญของธนาคารกลางในประเทศเหล่านี้ 

ในบางกรณี ปัญหาเรื่อง Trust ได้กลายเป็นเป็นปัญหาใหญ่ เพราะธนาคารกลางยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นให้สำเร็จได้ การปฏิรูประบบการเงินหรือนโยบายการเงินเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติในอนาคตก็มีความคืบหน้าน้อย ขณะที่การสื่อสารของธนาคารกลางก็ไม่สามารถสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไรช่องว่างเหล่านี้ทำให้ความไว้วางใจต่อการทำหน้าที่ของธนาคารกลางยังไม่ดีขึ้น เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางเหล่านี้ต้องพยายามต่อไปเพื่อเรียกความไว้วางใจของประชาชนให้กลับคืนมา 

ทั้งหมดจึงเป็นอุทาหรณ์ว่าความไว้วางใจของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ถ้าความไว้วางใจของประชาชนมีสูง ธนาคารกลางก็จะทำหน้าที่ได้อย่างค่อนข้างสบาย ทุกอย่างจะดูราบรื่น สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ง่าย เพราะประชาชนเชื่อมั่น ตรงกันข้าม ถ้าความไว้วางใจต่อธนาคารกลางต่ำหรือมีน้อย ธนาคารกลางก็จะทำงานด้วยความยากลำบาก แม้เรื่องง่ายๆ ก็มีแรงต้าน เพราะประชาชนไม่ไว้วางใจ มีอคติ ไม่เชื่อถือ 

เมื่อขาดความน่าเชื่อถือ ธนาคารกลางก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ด้วยเหตุนี้การรักษาความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อธนาคารกลางจึงสำคัญมากต่อการทำหน้าที่ของธนาคารกลางให้ประสบความสำเร็จ 

นี่คือข้อคิดที่ผมได้ให้ไว้กับนายธนาคารกลางรุ่นใหม่และผู้เข้าร่วมสัมมนาที่สิงคโปร์เมื่อปลายเดือนที่แล้ว