สัมมาทิฐิในยุคดิจิทัล

สัมมาทิฐิในยุคดิจิทัล

สัมมาทิฐิ หมายถึง ความเห็น หรือการเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเกิดขึ้นได้ทางหนึ่งจากการได้รับการบอกกล่าว ได้รับการสั่งสอน ได้อ่านมาจากตำรา

หรือมีใครมาบอกไว้ในเว็บ ในเฟซบุ๊ค ในไลน์ รวมถึงอีกหลายช่องทางดิจิทัลที่มีใช้กันอย่างมากมายในวันนี้ 

แต่เพียงแค่การได้รับการบอกกล่าว ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความเห็น หรือมีการเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องได้ในทันที คำบอกกล่าวจากเฟซบุ๊คมีทั้งที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และที่พาให้หลงไปกับความไม่จริงนานาประการ จึงต้องขยับระดับการรับรู้จากสิ่งที่ได้รับการบอกกล่าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง คือต้องรับการบอกกล่าวโดยรู้จักคิด วิเคราะห์ในเหตุ และผล โดยใช้ข้อมูลข่าวสารหรือแหล่งความรู้ต่างๆจากการบอกล่าวมาประกอบ อันนำมาซึ่งการรู้แจ้งรู้จริง ในสิ่งที่ถูกต้อง

 ถ้าไม่ค้นหาคำตอบในเรื่องที่ค้างคาใจอยู่ ย่อมมีทุกข์ในใจมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ว่าเรืื่องนั้นกระทบกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ความไม่สบายใจมาจากอยากรู้ แต่ไม่ได้รู้ อยากรู้ว่าใครหนีไปอยู่ที่ไหน แล้วปิดหูปิดตาไม่ดู ไม่ฟังอะไรเลย เอาแต่ครุ่นคิดว่าใครคนนั้นน่าจะหนีไปทางนั้น โดยคนนั้นช่วย คนนี้ส่งเสริม ก็ยิ่งเติมเต็มอุปทาน เมื่ออุปทานไปสิบอย่างร้อยอย่าง อุปทานเหล่านั้นก็ย้อนกลับมากระตุ้นให้เกิดทุกข์จากความอยากรู้ แต่ไม่ได้รู้ หงุดหงิดไปทั้งวันจนทำการงานไม่ได้ 

ทุกข์ในยุคดิจิทัล คืออยากรู้ แต่ไม่ได้รู้ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์คือ อยากรู้ แต่ไม่หาหนทางให้รู้ มัวแต่อุปทานว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่พอลงแรงค้นหากูเกิลให้เจอคำบอกกล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่คาใจอยู่นั้น ได้คำตอบมาแล้ว แทนที่จะคลายทุกข์ กลับยังทุกข์ต่ออีก คือทุกข์จากความไม่แน่ใจว่าที่ได้รับคำบอกกล่าวมานั้น 

ตกลงแล้ว จริงหรือไม่จริง การเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องจึงยังไม่เกิดขึ้น ดูไลน์ ดูเฟซบุ๊ค ค้นกูเกิลก็เพื่อให้ทราบการบอกกล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่เราค้างคาใจอยู่ว่าใครทำอะไรไว้บ้าง หรืออะไรเป็นอย่างไร แต่การเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ได้คิด ได้วิเคราะห์ในเหตุ และผลจากการบอกกล่าวที่ได้รับทราบมา เมื่อได้คิด ได้วิเคราะห์แล้ว ย่อมได้คำตอบว่าที่ใครต่อใครบอกกล่าวผ่านดิจิทัลมานั้นเป็นความจริง หรือเป็นแค่มโนของคนนั้น

เมื่อมีความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องกับเรื่องใดแล้ว ก็ต้องคิดต่อไปให้สอดคล้องกับความเข้าใจที่ถูกต้องนั้น คิดจะทำอะไรต่อไป ก็ต้องคิดโดยมีความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นพื้นฐาน คิดต่อเรื่องอะไรก็ต้องคอยถามตัวเองว่าที่กำลังคิดต่อยอดขึ้นไปอยู่นั้น ไม่ได้ขัดแย้งกับความเข้าใจที่ถูกต้องนั้น เข้าใจถูกต้องแล้วว่าใครคนนั้นไปอยู่กลางทะเลทราย ถ้าจะไปตามหาคนนั้น ก็ต้องคิดหาพาหนะสำหรับการเดินทางในทะเลทราย ไม่ใช่ไปคิดหาเรือที่จะใช้ในการเดินทาง 

เริ่มต้นด้วย สัมมาทิฐิ แล้วตามด้วยการรู้จักคิดต่อในทางที่ถูกที่ควรบนพื้นฐานของความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องกับเรื่องนั้น ซึ่งต้องเป็นการเข้าใจที่ผ่านการคิด การวิเคราะห์มาแล้วด้วย

การคิดต่อว่าจะทำอะไรต่อไปอย่างไร อาจมีได้หลายหนทาง จากความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องเรื่องเดียวกัน เข้าใจแล้วว่าอยู่ในทะเลทราย จะตามไปด้วยเครื่องบิน หรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อก็ได้ทั้งสิ้น คิดต่อแต่ละวิธีอาจได้ผลมากน้อยไม่เท่ากัน 

หากบางวิธีที่คิดไว้ทำตามที่คิดแล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ไม่ได้หมายถึงความเข้าใจไม่ถูกต้อง คิดต่อว่าจะใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อไปตามหาใครในทะเลทราย แล้วไม่เจอ ไม่ได้หมายความว่าใครคนนั้นไม่ได้อยู่ในทะเลทราย แต่ถ้ามีความเข้าใจในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะคิดทำอะไรต่อสักกี่วิธีย่อมไม่เกิดผลใด ๆทั้งสิ้น คิดผิดว่าใครคนนั้นอยู่ที่เกาะ จะตามไปทางเรือ หรือทางเครื่องบิน ยังไงก็ไม่พบใครคนนั้น

ไม่มี สัมมาทิฐิ ย่อมไม่มีสัมมาสังกัปปะ คือไม่มีการคิดต่อในทางที่ถูกที่ควร เข้าใจไม่ถูก คิดทำอะไรต่อไปเก่งแค่ไหนก็ยังผิด