ก้าวย่างดิจิทัลสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม (4IR)

ก้าวย่างดิจิทัลสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม (4IR)

นับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปี 1960 จากการเกิดขึ้นของเซมิคอนดักเตอร์ ระบบเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ เครื่องพีซี

จนชัดเจนมากขึ้นจากความแพร่หลายของระบบอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ปี 1990 อินเตอร์เน็ตได้นำดิจิทัลไลฟ์สไตล์มาสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนและได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและทางเศรษฐกิจหลายด้าน นวัตกรรมดิจิทัลได้ Disrupt อุตสาหกรรมและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและได้ยกระดับความคาดหวังของผู้บริโภคตลอดไป

พลังของนวัตกรรมดิจิทัล

การ์ทเนอร์ประมาณว่าในปี 2017 จำนวนสิ่งของที่เชือมต่อกันด้วยนวัตกรรมอินเตอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) จะมากถึง 8,400 ล้านชิ้นและอาจมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ IDC คาดว่ายอดการสั่งซื้อหุ่นยนต์ (Robotics) และโดรนรวมถึงบริการและซอฟต์แวร์ในปี 2017 อาจสูงถึง 97,200 ล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมมีการลงทุนมากที่สุดถึง 54,600 ล้านดอลลาร์ และประมาณว่าตัวเลขรายได้ทั้งหมดจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้นเป็น 230,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 นอกจากหุ่นยนต์แล้วนวัตกรรม 3D Printing ก็เป็นกำลังผลักดันการผลิตที่สำคัญใน Smart Factory ซึ่งถูกนำมาใช้ในการผลิตแบบ Mass Customization มากขี้น

Autonomous Vehicle (AV) หมายถึงพาหนะที่ไร้คนขับไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ โดรน อาวุธสงครามหรือเครื่องบินซึ่งต่างต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะรถยนต์ไร้คนขับต้องใช้เทคโนโลยีอย่าง AI, เซนเซอร์ กล้อง และการวิเคราะห์ประมวลผล ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดังอย่าง เทสล่า (Tesla) ที่ติดตั้ง Onboard Supercomputer จาก NVIDIA Drive PX กับรถใหม่เพื่อใช้ในการทำงานของ Image Processing ของระบบ Autopilot โดยมีความสามารถในการคำนวณเทียบเท่ากับเครื่อง MacBook Pros จำนวน 150 เครื่องและสามารถสนับสนุนการทำงาน AI ของระบบ Self-Driving อีกด้วย 

เชื่อว่าค่ายรถยนต์ชั้นนำรวมทั้งเทสล่า กูเกิลและอูเบอร์ต่างเร่งมือที่จะผลิตรถยนต์ไร้คนขับออกสู่ตลาดในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตามคาดว่ารถยนต์ไร้คนขับที่สมบูรณ์แบบที่สุด (Full Automation) จะสามารถออกสู่ตลาดได้ในปี 2020 ถึง 2025

พาหนะไร้คนขับซึ่งประมวลผลและขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลจะเปลี่ยนพฤติกรรมของการเดินทางและการขนส่ง ทำให้เกิดธุรกิจการให้บริการขนส่งและเดินทางแบบใหม่ที่ปลอดภัย ลดมลพิษและระบายรถติดบนท้องถนน ทำให้เกิดค่านิยมใหม่ในการซื้อรถยนต์ซึ่งจากการสำรวจของ KPMG พบว่า 59% ของผลสำรวจผู้บริหารของบริษัทรถยนต์เชื่อว่า ในปี 2025 กว่าครี่งหนึ่งของเจ้าของรถในปัจจุบันจะไม่ซื้อรถยนต์เป็นของตัวเอง

Artificial intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมที่คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และเลียนแบบการตัดสินใจของมนุษย์ผ่านโลจิกหรือกฎที่กำหนดขึ้น โดยเทคโนโลยี AI ขั้นสูงที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในเวลานี้คือ “Machine Learning” และ “Deep Learning” ที่คอมพิวเตอร์สามารถฝึกฝนตัวเองได้ ในปัจจุบัน AI ถูกนำไปใช้ในซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น Voice Platform อย่าง Siri และ Alexa หรืออยู่ในเสิร์ชเอนจิน ในแอพพลิเคชั่นการถ่ายภาพ รวมถึงในแพลตฟอร์มทางการแพทย์ การสาธารณสุข การเงิน การสื่อสาร อุตสาหกรรมและการผลิต โดยประโยชน์และความท้าทายของ AI มีมากมายซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต

ธุรกิจ Sharing Economy อย่าง Airbnb เป็นแพลตฟอร์มการให้บริการเช่าห้องพัก ที่มีห้องพักกว่า 4 ล้านห้องใน 191 ประเทศทั่วโลกหรือเท่ากับจำนวนห้องพักจาก 5 ลำดับต้นของโรงแรมชั้นนำรวมกัน ตลอดจนแพลตฟอร์มอย่างอูเบอร์ (Uber) ที่ให้บริการเรียกใช้รถแท็กซี่ใน 84 ประเทศหรือ 732 เมืองทั่วโลก และมีรายรับถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 เห็นได้ว่าแพลตฟอร์มของโมเดลธุรกิจใหม่ได้เปลี่ยนความต้องการของลูกค้าจากการซื้อมาเป็นการเช่าหรือแชร์ใช้แทน โดยยังมีกลุ่มสินค้าและบริการอื่นที่กำลังนิยมใช้อีโคซิสเต็มลักษณะนี้ อาทิ ในประเทศจีนที่มีการเช่าใช้จักรยาน ร่ม แบตเตอรี่มือถือหรือกระทั่งลูกบาสเก็ตบอล เป็นต้น

แนวคิด 4IR

ศาตราจารย์เคราซ์ ชว๊อบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธาน World Economic Forum (WEF) ได้ประพันธ์หนังสือชื่อ “The Fourth Industrial Revolution” (4IR) โดยกล่าวว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ประกอบกันขึ้นจากทั้งด้านกายภาพ ดิจิทัลและด้านชีวะภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทุกวิชาชีพ เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจนยากที่จะคาดเดาผลลัพธ์

ศาตราจารย์ชว๊อบยังเชื่อว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การขยายผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามเนื่องจากขนาด ความเร็วและความซับซ้อนของนวัตกรรมที่เกิดขี้น ที่ถาโถมเข้ามาจากนวัตกรรมต่างๆ อาทิ AI, IoT, Blockchain, หุ่นยนต์, 3D Printing, พาหนะไร้คนขับ รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น โดยเป็นหว่งว่าองค์กรจะไม่สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากคลื่นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้ได้ทัน และส่วนราชการอาจไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์หรือไม่สามารถกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความปลอดภัยและความเท่าเทียมกันเพื่อความสงบสุขในสังคม

ปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลง

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่อาจสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ประเทศหรือองค์กรที่มีความสามารถในการใช้นวัตกรรมดิจิทัลให้เกิดประโยชน์จะมีโอกาสเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและความคิด วิชาชีพที่สามารถถูกทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีจะอยู่ในความเสี่ยง จึงจำเป็นที่องค์กรภาครัฐและบุคคลากรต้องทำความเข้าใจและฝึกฝนเพื่อปรับตัวและพัฒนาให้พร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว