รางวัลแห่งชีวิต

รางวัลแห่งชีวิต

อาจารย์อาคม พัฒิยะ (ศาสตราจารย์ พันตรี ดร. ) ได้เขียนบทกลอนก่อนเสียชีวิตและได้นำมามาพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานศพของท่าน ความทำนองว่า

ขอเพื่อนฝูงให้หมั่นทำความดีไว้บ้าง เพื่อที่จะไม่ทำให้พระที่มาทำพิธีในงานศพต้องประสบความยากลำบากในการเทศน์เพราะไม่รู้ว่าจะพูดถึงคุณงามความดีของผู้ตายได้อย่างไร เพราะไม่มีเอาเสียเลย ท่านเขียนฝากเอาไว้ว่า

จึงขอฝากญาติมิตร เพื่อนสนิทอย่าเพิกเฉย

ปล่อยตัวกันตามเคย ขอให้ตั้งระวังตน

ทำความดีไว้บ้าง เพื่อพระอ้างเป็นมรรคผล

อย่าให้ท่านอับจน กลางธรรมมาสน์อนาถครันฯ

ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ/ธรรมดาสำหรับมนุษย์ทุกคน และเป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกเช่นกันที่คนตายไปแล้ว ก็มักจะถูกลืมไปจากชีวิตประจำวันของผู้คนที่ยังอยู่ ก็คงจะมีก็เพียงแต่ ในบางช่วงเวลา เท่านั้น ที่คนข้างหลังจะหวนรำลึกถึง “คนที่ตายไปแล้ว” ซึ่งก็เกิดขึ้นในมิติอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปอันขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคนตายที่มีต่อคนเป็น

ความ/การระลึกถึงคนตาย “ในบางช่วงเวลา” ของคนเป็นนี่แหละครับ คือ ความหมายของคนที่ตายไปแล้ว เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งหมดที่ถักสานกันมายาวนานระดับหนึ่งจะกลั่นกรองจนตกตะกอนให้เป็นเพียงจินตนาการหนึ่งเดียวที่สรุปความหมายให้แก่คนที่ตายไปแล้ว

กระบวนการที่กลั่นกรองจนสรุปความหมายให้แก่คนตายนั้น จะเชื่อมโยงกันอย่างน้อย 2 ด้านด้วยกัน ด้านที่เป็นฐานได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้คน โดยเริ่มจากครอบครัว เครือญาติ เรื่อยมาจนถึงบุคลิกส่วนตัวซึ่งปรากฏในความสัมพันธ์การทำงานหรือการมาหากินทั่วไป ในอีกด้านหนึ่งที่ประกอบกัน ได้แก่ บทบาทของคนตายที่ได้กระทำการต่อชุมชนหรือสังคม

แม้ว่าความสัมพันธ์ทั้งสองด้านนี้จะประกอบซึ่งกันและกัน แต่ความหมายของคนที่ตายไปแล้วจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักว่าคนที่ตายไปแล้วนั้นมีชีวิตที่สัมพันธ์กับด้านใดมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่าในชีวิตของแต่ละคนนั้น การจัดความสัมพันธ์ 2 ด้านนี้ย่อมไม่เท่ากัน กระบวนการกลั่นกรองให้ความหมายแก่คนตายจึงเป็นการสร้างทั้ง ความทรงจำส่วนตัว กับ ความทรงจำร่วมของสังคม (น่าสังเกตุว่าหนังสืออนุสรณ์งานศพของคนธรรมดาๆ ยุคหลังนี้จะมีเพียงชีวิตส่วนตัว/ความทรงจำส่วนตัว ซึ่งเป็นเพราะคนจำนวนมากรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรให้สังคม ซึ่งไม่จริง เพราะต่อให้เราเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย เราก็ได้ทำให้สังคมก้าวหน้าเช่นกัน)

กลุ่มเพื่อนฝูงของผมเคยถามกันเล่นๆ ในวงสนทนาหลังเที่ยงคืนว่าหากตายไปแล้ว อยากจะให้คนจดจำเราในลักษณะใด คำตอบก็มีหลากหลาย แต่ทั้งหมดพยายามคิดและตอบในมิติของ “ความทรงจำร่วมของสังคม” และเราก็จะสนทนาต่อไปโดยลองคิดกันว่าบรรดานักการเมืองที่ครองอำนาจอยู่นั้น พวกเขาอยากให้คนในสังคมจดจำในลักษณะใด การสนทนาจบลงในลักษณะที่ว่าหากคนทุกคนคิดถึง/คำนึงถึง/ตระหนักถึงความหมายของชีวิตหลังจากตายไปแล้วน่าจะมีทำให้เป็นพลังหนึ่งในการกำกับชีวิตในปัจจุบันขณะที่ยังไม่ตาย

ผมคิดว่าสังคมไทยได้ละเลยการใคร่ครวญคิดเรื่อง ความหมาย” ของคนตายไปนานพอสมควรแล้ว จำทำให้คนจำนวนมากไม่แคร์ที่จะทำอะไรเลวๆ ซึ่งท้ายสุดก่อนที่จะจบชีวิตลง ก็จะพบกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างที่คนโบราณบอกว่า “นอนตาตาไม่หลับ”

กล่าวคือ ก่อนที่เราจะหยุดหายใจ ในห้วงคำนึงของเราจะวิ่งวนปะปนไปกับความทรงจำทั้งส่วนตัวและความทรงจำร่วม เราจะหวนระลึกถึงสิ่งที่เราอยากจะทำแต่ไม่ได้ทำ สิ่งที่เรารู้สึกว่าหากขาดเราไปจะทำให้การทำการนั้นลำบากมากขึ้น อารมณ์ทั้งหลายอาจจะเรียกได้ว่าเป็น อาวรณ์" และ นิวรณ์

“อาวรณ์” ทำให้เป็น “นิวรณ์” แล้วทำให้คนที่กำลังจะตายก็ตายไปด้วยความรู้สึกที่สับสน/เจ็บปวด/เสียดายต่อสิ่งที่ทำมา ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความไม่สบายใจแก่คนข้างหลังที่ยังอยู่

ผมคิดว่าทางออกจากความคิดที่วิ่งวนจนเป็น “อาวรณ์” และ “นิวรณ์” นี้ จะทำได้โดยเริ่มต้นจากว่า คนๆนั้นจะต้องเตรียมตัวตายตั้งแต่เนิ่นๆด้วยความตระหนักว่าเขาจะต้องทำชีวิตประจำวันให้เป็นที่จำ/ให้ความหมายเพื่อความทรงจำหลังความตาย และที่สำคัญ หากท่านใดสามารถที่จะเข้าใจเรื่องนี้และได้ทำอะไรให้แก่สังคมจนเกิดความทรงจำที่มีความหมายงดงาม ก็เท่ากับว่าท่านก็ได้รับ รางวัลแห่งชีวิต ที่มีคุณค่าที่สุดที่มนุษย์จะได้รับ โดยไม่จำเป็นต้องมีองค์กรใดๆ มารองรับเลย

ผมเขียนความเรียงนี้ เพราะทราบข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (รองศาสตราจารย์ ดร. ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ) โดยหวังจะบอกกล่าวแก่อาจารย์สุธาชัย ( หากท่านรับรู้ได้ )และมิตรสหายทุกท่านว่า อาจารย์สุธาชัยได้รับ รางวัลแห่งชีวิต ที่ทรงคุณค่าแล้ว เพราะอาจารย์ได้อุทิศชีวิตส่วนหนึ่งให้แก่ความหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และอีกส่วนหนึ่งให้แก่การศึกษาเพื่อคืนความทรงจำให้แก่ประชาชน ทั้งสองส่วนงดงามและเหมาะสมแล้ว

ขอแสดงความคารวะต่ออาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ