บีทีเอสขยายพอร์ตธุรกิจ รุกสื่อ-อสังหาฯ เต็มตัว

บีทีเอสขยายพอร์ตธุรกิจ  รุกสื่อ-อสังหาฯ เต็มตัว

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

            หากพูดถึงบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS แล้ว ภาพแรกหนีไม่พ้นการเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย  ที่วิ่งขนส่งผู้โดยสารเขตกรุงเทพ ชั้นในไปยังโซนนอกเมือง  แต่กลุ่มบีทีเอส ยังมีอีกหลากหลายธุรกิจที่น่าสนใจและกำลังเติบโตจากการขยายในช่วง 1-2 ปีเป็นอย่างมาก

กลุ่มบีทีเอส ดำเนินธุรกิจ ออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน หากแบ่งตามสัดส่วนรายได้  ธุรกิจหลัก คือ ระบบขนส่งมวลชน ภายใต้บริษัทบีทีเอสซี    มีสัดส่วน 64.1 %

ที่ผ่านมาการเติบโตจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ได้รับสัมปทานเดินรถสายสีเขียวเข้ม(เส้นสีลม) สายสีเขียวอ่อน (เส้นสุขุมวิท) 23.5 กิโลเมตร และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (แบริ่ง-สมุทรปราการ) 12 กิโลเมตร ล่าสุดมีผู้โดยสาย 58 ล้านเที่ยวคน เพิ่มขึ้น 2.4 % จากปีก่อน และค่าโดยสารเฉลี่ยเป็น 27.9 บาทต่อเที่ยว

ล่าสุดพึ่งมีการประกาศปรับขึ้นค่าโดยสารเป็นทางการ 1 ต.ค. 60 อีก  1- 3 บาท  จากกรอบ 15-24 บาท เป็น 16-44 บาท  ทำให้ค่าโดยสารเฉลี่ยบีทีเอสเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 28.50 บาท

การเติบโตในธุรกิจนี้จะเริ่มเห็นมากขึ้นในปี 61 จากรับรู้รายได้เต็มปีสำหรับเดินรถส่วนต่อขยายในสายสีเขียวใต้ (เส้นสำโรง)   และในปี 63 มีการให้บริการสายสีเขียวเหนือ (เส้นคูคต) ยังไม่นับรวมคาดการณ์ว่าจะได้เซ็นสัญญาคือสายสีเหลือง (เส้นลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (เส้นแคราย-มีนบุรี) รายได้ในกลุ่มนี้บีทีเอสตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่อง 10 -12% จากเส้นทางเดินรถขยายตัว   และการบำรุงรักษารถไฟฟ้า (O&M)  

 ธุรกิจสื่อโฆษณา สัดส่วน  27.3 %  โดยมีบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) เป็นเรือธงสำคัญ   ซึ่งมีบริษัทที่ซื้อเข้ามาและร่วมลงทุน อาทิ บริษัท มาร์เตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO , บริษัท แอร์โร มีเดีย , บริษัท  เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG

เน้นพื้นที่โฆษณาตามแนวรถไฟฟ้าเป็นหลัก หากดูจากการขยายเส้นทางตามธุรกิจแรกแล้ว ภายในระยะเวลา 3 ปี จากนี้ไป คาดว่า บีทีเอส จะมีสถานีเพิ่มอีก 78 สถานี  ใน 82 กิโลเมตร

บริษัทตั้งเป้าเติบโต 32 % อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท  จากปีก่อนอยู่ที่ 3,009 ล้านบาท  โดยมีทั้งสื่อนอกบ้าน  ขยายตัวตามเส้นทางเดินรถใหม่ๆ   และยังมีสื่อในบ้าน  คือ เนชั่น ฯ ที่มีทั้งสิ่งพิมพ์ และทีวี

ทางผู้บริหารได้ประกาศ ว่า สื่อดังเดิมที่มีอยู่ในมือขณะนี้สามารถที่พลักดันให้รายได้ในธุรกิจดังกล่าวแตะเป้าหมาย 8,000 ล้านบาท  ได้อีก 3 ปีข้างหน้า (60-63) ถือว่าเร็วกว่าที่มองไว้ 5 ปี (60-65)  จากก่อนหน้านี้การเติบโตได้สะดุดไปตามทิศทางภาวะเศรษฐกิจ ทำให้กำไรของ วีจีไอ งวดปี  59-60 ลดลง 12 %

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 4.7 %  ภายใต้บริษัทยู ชิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U  และบริษัท ยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ถือว่าเป็นธุรกิจที่พึ่งจะรุกได้ไม่นาน  เห็นได้ชัดคือ การนำที่ดินตามเส้นทางรถไฟฟ้ามาทำเป็นโครงการที่พักอาศัยรวมกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ถึง 8 โครงการ รวมมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท  ในชื่อ เดอะ ไลน์ เปิดขายไปแล้ว 3 โครงการ

ส่วน งวดปี 60-61 บริษัทคาดการณ์เริ่มรับรู้ยอดโอน เข้ามาคิดเป็นส่วนแบ่งกำไรประมาณ 200 ล้านบาท  ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  12.4 %  ซึ่งยังเหลือทยอยเปิดตัวโครงการดังกล่าวอีก 5 โครงการมูลค่า 19,200 ล้านบาท  จากงวด ปี 59-60 รับรู้ผลขาดทุนเข้ามาประมาณ 253 ล้านบาท

สำหรับพอร์ตอสังหาฯ บริษัทเองจะมีการทำโครงการแบบมิกซ์ยูส 2 แห่งในกรุงเทพฯ  มีการคาดการณ์สามารถเปิดตัวโครงการแรกภายในปีหน้า และโครงการที่เหลือภายใน 4 ปีข้างหน้า

            ปิดท้ายที่ธุรกิจ บริการมีสัดส่วน 3.9 % มีทั้งรับเหมาก่อสร้าง โรงแรม  อาหาร  สนามกอล์ฟ ฯลฯ  

            เรียกได้ว่าอาณาจักรของบีทีเอส ได้ขยายพอร์ตลงทุนได้เพิ่มมากขึ้นและเป็นที่สนใจด้วยว่าในอนาคตจะมีการลงทุนหรือเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับใครบ้าง ด้วยฐานะทางการเงินของกลุ่มบีทีเอสวันนี้ มีเงินสดรวม 21,326 ล้านบาท   เพิ่มขึ้น  542 % จาก 18,006 ล้านบาท   มีอัตราหนี้สิ้นต่อทุน (ดี/อี)  1.27  เท่า 

            บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสินคาดการณ์กำไรงวดปี 60-61 ยู่ที่ 2,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18 % จากปีก่อน   ให้น้ำหนักการลงทุนไปที่ธุรกิจอสังหาฯ จากการโอนโครงการเดอะ ไลน์ 3

ขณะที่รายได้จากการเดินรถไฟฟ้า ยังไม่โดดเด่นเท่าเพราะยังมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเงินกู้ในช่วงลงทุนรถไฟฟ้า สายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีชมพู และสีเหลือง  จึงมองราคาเหมาะสมที่ 10.08 บาท