SMEs ไทยกับการปรับตัว สู่ธุรกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม

SMEs ไทยกับการปรับตัว สู่ธุรกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม

ปัจจุบันผู้ประกอบการSMEsไทยยังดำเนินธุรกิจในลักษณะของการเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าตามรูปแบบและเครื่องหมายการค้า

ตามที่ลูกค้ากำหนด (OEM:Original a Equipment Manufacturer ) เนื่องจากขาดควาสามารถในการแสวงหาตลาด ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และไม่ให้ความสำคัญกับการออกแบบสินค้า เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น การเพิ่มของต้นทุนการผลิต และค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ว่าจ้างมีการย้ายการว่าจ้างไปยังแหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่า โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเพื่อนบ้านของไทย เช่น เขมร และเวียดนาม ทำให้ผู้ประกอบการSMEsจำนวนมากที่ใช้บริการสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข เป็นNPLต้องล้มเลิกกิจการในที่สุด

รูปแบบในการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมโดยทั่วไป สามารถแบ่งออกได้เป็นลำดับขั้นของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นได้ใน3รูปแบบ ได้แก่

การรับจ้างผลิต (OEM:Original Equipment Manufactuer) เป็นการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ตามแบบที่ผู้ว่าจ้างกำหนด มักจะเป็นโรงงานที่ไม่มีความชำนาญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไม่เน้นการสร้างแบรนด์ของตนเอง

การผลิตตามรูปแบบของตนเอง (ODM:Original Design Manufacturer) คือผู้รับจ้างที่มีความสามารถในการผลิตและออกแบบ นำแบบสินค้าไปเสนอให้ลูกค้าที่มีแบรนด์แล้ว หรือออกแบบร่วมกับเจ้าของแบรนด์

การผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง (OBM:Original Brand Manufacturer) เป็นผู้ประกอบการที่พัฒนาจากOEMหรือODMเป็นโรงงานที่พัฒนาได้เต็มที่แล้ว ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี การออกแบบ พัฒนาสินค้าจนเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าให้การยอมรับ มีความสามารถในด้านการตลาด

ผู้ผลิตที่เป็น OEM จะมีจำนวนมากที่สุดทั่วโลกมากกว่าร้อยละ80 ODM ประมาณ ร้อยละ20และมีจำนวนน้อยมากที่เป็น OBM สำหรับประเทศไทยท่านผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยผลิตสินค้าที่มีการออกแบบและสร้างสรรค์ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองOBMโดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี การพัฒนาวิจัย บุคลากรที่มีความรู้ มีแผนการตลาดและงบประมาณที่เพียงพอ

โอกาสของผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มOBMที่ประสบความสำเร็จ ไม่ผูกขาดเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น ผู้ประกอบการSMEsก็สามารถก้าวถึงจุดนี้ได้ กรณีศึกษาของบริษัท ไทยพลาสติกแฮนดิคราฟท์ จำกัด ที่ทำการวิจัยค้นคว้าผลิตภัณฑ์หวายสังเคราะห์ประสบความสำเร็จแห่งแรกของโลกภายใต้เครื่องหมายการค้า “Monarch และ Messey” ที่ผมเคยนำเสนอผ่านคอลัมน์นี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ท่านผู้ประกอบการSMEs ควรศึกษาเป็นแบบอย่าง

ความสำเร็จของท่านผู้ประกอบการSMEsที่จะพัฒนาไปสู่OBMนอกจากจะขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการแล้ว ภาคครัฐจะต้องให้การสนับสนุนทั้งด้านความรู้ มาตรการพิเศษทางภาษีที่เข้มข้นกว่าปัจจุบัน สถาบันการเงินทุกแห่งจะต้องให้การสนับสนุนเงินทุนด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

ความพร้อมทางด้านเงินทุน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดครับ.....