ความรักก็เหมือนห้างค้าปลีกต้องมีอะไรใหม่ๆเสมอ

ความรักก็เหมือนห้างค้าปลีกต้องมีอะไรใหม่ๆเสมอ

วินาทีนี้คงไม่มีข่าวไหนร้อนเท่ากับข่าวดาราสาวขวัญใจคนไทยประกาศ'เตียงหัก'อีกแล้วเราจะไม่ยุ่งกับเรื่องนี้

รู้แต่ว่าสำหรับใจมนุษย์กิเลสหนานั้นของดีหรือจะสู้'ของใหม่'

สำหรับความสัมพันธ์ของคนสองคน ความไว้วางใจและซื่อสัตย์ต่อกันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด มิเช่นนั้นเราจะเรียกคนที่แต่งงานกันว่า'คู่ชีวิต'หรือ แต่ความรักก็ไม่ได้สวยงามไปเสียทั้งหมดเพราะเรื่องการนอกใจ(Cheating)มีมานานตั้งแต่มนุษย์ได้รู้จักกับความรัก มองอย่างตรงไปตรงมาก็เพราะจิตใจมีความต้องการไม่รู้จบ มีความพึงพอใจ(Satisfaction)ระดับนึงแล้วก็ไม่พออยากจะได้อะไร'ใหม่ๆ'ให้ตื่นเต้นและมีความสุขมากกว่าเดิม

จึงมีตำราสอนหญิงมาช้านานให้รู้จักดูแลตนเองมัดใจคู่ครองด้วยเสน่ห์ปลายจวัก หรือจะด้วยกระบวนท่าลีลาใดก็ตาม ต้องไม่ทำให้เราดูน่าเบื่อ มิเช่นนั้นแล้วคนข้างๆก็อาจจะไปหา'คนใหม่'ได้

ถ้ามองความรักเป็นเกมธุรกิจก็จะได้สีสันของเรื่องราวไปอีกแบบ เพราะเมื่อบรรดาแบรนด์สินค้ากดโดนใจ(Pressure Point)ลูกค้าจนควักเงินซื้อได้แล้ว ก็ต้องคอยเอาใจผ่านกระบวนการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าหรือซีอาร์เอ็ม(Customer Relationship Management)เพื่อให้ลูกค้ายังติดใจและซื้อซ้ำ(Repurchase)จนเป็นลูกค้าประจำ ขายของไปได้สักพักก็ต้องเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์(Repackaging)หรือเพิ่มสินค้าใหม่ๆเข้าไปทั้งสินค้าประเภทใหม่และสินค้าเดิมรสชาติใหม่สีใหม่เพื่อให้ลูกค้าตื่นเต้นและอยากลอง อาจคงของเดิมรุ่นยอดนิยม(Classic)เอาไว้ด้วยหรือจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้แล้วแต่กลยุทธ์ทางการตลาดที่ตั้งกันเอาไว้

แบรนด์สินค้ายังต้องปรับตัวตลอดเวลา ส่วนบรรดาห้างค้าปลีก(Retailer)ทั้งหลายยิ่งต้องเปลี่ยนแปลงตาม เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้ขายสินค้าแต่เป็นการขายประสบการณ์(Experience)ทางบวกให้กับลูกค้า ปัจจุบันนักช้อปทั้งหลายก็มักตื่นเต้นกับสิ่งรอบตัว(Motivated and Hyper Customers) ใจร้อนแถมขี้เบื่ออีกด้วย

สังเกตได้ว่าเวลาไปห้างสรรพสินค้าสมัยนี้เรารับรู้กันดีกว่าห้างไหนๆก็มีของที่เราต้องการซื้อเหมือนกันทั้งนั้น เว้นแต่สินค้าบางประเภทที่เลือกช่องทางจัดจำหน่ายเฉพาะที่(Exclusive Distribution)ก็ถือเป็นจุดขายที่แตกต่างกันไป เมื่อมองมากกว่าตัวสินค้า สิ่งที่ทุกห้างขายคือความแปลกใหม่ประสบการณ์ใหม่โปรโมชั่นใหม่ๆที่โดนใจ กระทั่งกิจกรรมทั้งหลาย เช่น การเปิดตัวสินค้า งานแฟชั่นวีคหรือคอนเสิร์ตของศิลปินดังก็ยังไปจัดให้ห้างเพื่อหลีกหนีความรู้สึกจำเจของผู้บริโภคที่จะพัฒนาไปเป็นความเบื่อหน่ายในวันข้างหน้าได้

บรรดาธุรกิจค้าปลีกของไทยถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นมืออาชีพทีเดียว ถ้าเราไปห้างขนาดใหญ่อย่างสยามพารากอนหรือเซ็นทรัลเวิร์ลด์เราจะเห็นของใหม่ๆหรือกิจกรรมใหม่ๆอยู่เสมอ ทั้งการจัดร้านการจัดวางสินค้าป้ายหน้าร้านของแบรนด์ต่างๆที่เคลื่อนไหวแทบจะรายสัปดาห์ สิ่งที่ชัดเจนคือการปรับปรุงพื้นที่(Renovate)จะต่อเติมจะเพิ่มลูกเล่นอะไรเข้าไปก็ตามทีล้วนเป็นของที่ต้องทำ เดี๋ยวนี้เดินเล่นที่ห้างไปได้ไม่นานสักพักเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว แบรนด์ไหนที่ยอดขายไม่ดีไม่ดึงดูดคนก็เอาออกไปเอาแบรนด์ใหม่มาแทนที่่

บางทีไม่ได้ชอปปิ้งหลายเดือนกลับมาดูอีกทีร้านโปรดที่เคยซื้อก็ปิดกลับประเทศไปแล้ว การปรับเปลี่ยนในห้างค้าปลีกนี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนการรับรู้ของที่ตั้งและรูปแบบร้านค้าเท่านั้น ยังเปลี่ยนแปลงการตอบสนองทางร่างกายและพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าอีกด้วย จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมอแนช(Monash University)ในออสเตรเลียพบว่าการปรับปรุงร้านใหม่จะช่วยเพิ่มการรับรู้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ได้มากและส่งผลต่อยอดขายถึง44เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ลูกค้าเก่าผู้คุ้นเคยกับแบรนด์กลับเพิ่มขึ้น7-10เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นี่จึงตอบคำถามได้ดีว่าทำไมธุรกิจต้องปรับตัวตลอดเวลา เมื่อปรับก็จะสร้างการรับรู้ใหม่(Perception)

พอมีลูกเล่นใหม่ สายตาก็ไม่หันไปมองที่อื่น