“ช่างกล” ตีกัน

“ช่างกล” ตีกัน

ก่อนการเกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ผู้นำนักเรียนโรงเรียนช่างกลขึ้นเวทีการประท้วงและประกาศร่วมกันว่าต่อไปนี้พวกเขาจะไม่ตีกันเองอีกแล้ว

 แต่จะสามัคคีร่วมกับนักศึกษาประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พลังของการรวมตัวในครั้งนั้นมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้การต่อสู้ไม่ยุติลงง่ายๆ หลังการปราบอย่างรุนแรง และทำท่าจะยืดเยื้อ จนทำให้ชนชั้นนำทางการเมืองในขณะนั้นตัดสินใจบีบให้ “3 ทรราชย์เดินทางออกนอกประเทศ ทุกอย่างจึงสงบลง 

ต่อมาไม่นาน เมื่อปีกหนึ่งของชนชั้นนำทางการเมืองเริ่มวิตกกับบทบาทของนักศึกษาที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ก็ได้เข้าไปสนับสนุนขบวนการนักเรียนอาชีวะให้สร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อพิทักษ์สังคมไทยให้รอดพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ และพวกเขาก็ได้เปลี่ยนตัวเองจากหัวหอกที่สู้เพื่อประชาธิปไตยมาสู่ขบวนการต่อสู้เพื่อรักษาสถานเดิมของสังคม 

ในช่วงนั้น ขบวนการของนักเรียนอาชีวะแยกออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจนกลุ่มที่ยังยึดมั่นอยู่กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหลือน้อยลง แต่ยังคงมีบทบาทเป็นกองหน้าของขบวนการนักศึกษา ที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนช่างกลพระรามหก แต่นักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ได้หันกลับเข้าไปสัมพันธ์กับกลไกอำนาจรัฐ 

โรงเรียนช่างกลพระรามหก (เรียนกันโดยทั่วไปขณะนั้นว่า “รามซิกส์“) มีครูรุ่นใหม่ที่มีทั้งครูช่างและฝ่ายปกครองซึ่งทำงานร่วมกับขบวนการนักศึกษามาโดยตลอด จึงสามารถที่จะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของการอุทิศตนให้แก่ประชาธิปไตยของนักเรียนอาชีวะรุ่นก่อนให้แก่นักเรียนรุ่นหลัง 2-3 ปีได้ (ครูกลุ่มนี้หลายคนได้มาเปิดโรงเรียนช่างที่มีคุณภาพสูงที่จังหวัดในภาคเหนือและยังคงเสนอแนวทางการอุทิศตนเองให้สังคมแก่นักศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ) 

ผมหยิบจังหวะหนึ่งของประวัติศาสตร์นักเรียนช่างกลขึ้นมาเพื่อบอกกล่าวว่าหากจะเข้าใจและหาทางแก้ปัญหานักเรียนช่างกลต้องคิดไปให้มากกว่าที่ผ่านมาเพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วนักเรียนช่างกลตีกันตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2500 แล้ว และยังตีกันอย่างต่อมาเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (การแก้ไขด้วยการเอาไปฝึกทหารทำให้การตีกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฮา) การหยุดทะเลาะกันในช่วงสั้นๆ ระหว่างก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาและหลังจากนั้นสัก 2 ปีเท่านั้น 

ผมหยิบจังหวะประวัติศาสตร์ช่วงนี้เพื่อบอกว่า อัตลักษณ์ และการให้ความหมายใหม่แก่นักเรียนช่างกลเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้การตีกันลดลงหรือยุติลงในช่วงหนึ่ง การสร้าง “อัตลักษณ์” ให้แก่ช่างกลว่าเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยซึ่งมีความหมายถึงการอุทิศตนเองให้แก่ความก้าวหน้าของสังคมได้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงตนเองและต้องทำทุกอย่างตาม “อัตลักษณ์” และความหมายทางสังคม

ขณะเดียวกัน เมื่อพลตรีสุดสาย เทพหัสดิน ณ. อยุธยา ผู้นำคนหนึ่งของ กอ.รมน.ได้เริ่มต้นเปลี่ยน “อัตลักษณ์” และความหมายทางสังคมให้นักเรียนอาชีวะกลับไปสู่มิติเดิมได้แก่กลุ่มรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นแนวหน้าในการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากขบวนการนักศึกษา จึงทำให้เกิดการแยกกลุ่มออกมาและทำให้เกิดปฏิบัติการความรุนแรงต่อนักศึกษาตลอดช่วงเวลานั้น

การแก้ไขปัญหาการตีกันของนักเรียนช่างกลจึงต้องสัมพันธ์อยู่กับการให้ความหมายทางสังคมแก่พวกเขาเพื่อให้พวกเขาได้ร่วมสร้าง อัตลักษณ์” ชุดใหม่ขึ้นมาโดยจะต้องทำให้เกิดความตระหนักร่วมกันว่านักเรียนช่างกลมีคุณค่ามีความสำคัญต่อสังคมไทย ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำให้นักเรียนช่างและสังคมไทยเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพราะกลุ่มทุนเท่านั้น หากแต่แรงงานระดับกลางของ “ช่าง” ทั้งหลายมีส่วนอย่างสำคัญ การทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ได้ก็ต้องทำให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่รอบด้านและวางบทบาทของคนแต่ละกลุ่มในกระบวนการเปลี่ยนมาสู่อุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม

หากสังคมไทยยังไม่สนใจที่จะให้ความหมายทางสังคมแก่การทำงานเพื่อพัฒนาประเทศของ “ช่าง” ทั้งหลาย อัตลักษณ์ของพวกเขาก็เป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่ไร้ความหมาย. และก็ย่อมส่งผลต่อเนื่องมาสู่นักเรียนอาชีวะที่จะเป็น “ช่าง” ในอนาคต โปรดอย่าลืมนะครับว่าอุตสาหกรรมของเราที่โตมาได้ถึงวันนี้ก็เพราะการอุทิศตนเองของ “ช่าง” ทั้งหลายนะครับ

การปรับเปลี่ยน อัตลักษณ์จะต้องปรับเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจด้วย การให้ความหมายทางสังคมอย่างลอยๆ ก็จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยน “อัตลักษณ์” ดังนั้น รัฐก็จำเป็นที่จะต้องให้การศึกษาแก่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมว่าไม่ใช่เพียงแค่ทุนของพวกเขาเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาร่ำรวยมาจนถึงวันนี้ แรงงานของประชาชนไทยได้สร้างความร่ำรวยแก่พวกเขามาเนิ่นนานแล้ว กฎหมายการดูแลแรงงานจะต้องเน้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ให้ความหมายความสำคัญต่อแรงงาน “ช่าง” มากขึ้น ไม่ใช่เอียงเข้าข้างกลุ่มทุนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ กระทรวงแรงงานต้องทบทวนตัวเองขนานใหญ่และเปลี่ยนความคิดตนเองทุกมิติ (ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ น่าจะตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงแรงงาน ผมเสนอ “ลุงตู่” ให้ทำ แต่คำถามก็คือ “กล้าไหม“ ฮา )

ไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงแรงงานที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง กระทรวงศึกษาก็จะต้องคิดเรื่องนี้กันใหม่ เพื่อที่จะทำให้กระบวนการสร้าง “ช่าง” ให้แก่สังคมไทยพัฒนาขึ้น ผมเสนอว่ามี 2 ทางเลือก ทางเลือกแรก ตั้งกระทรวงการศึกษาอาชีวะขึ้นมา ทางเลือกที่ 2 สร้างคณะกรรมการอิสระดูแลกรมอาชีวะในช่วงการปรับเปลี่ยน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ทางเลือกนี้จำเป็นที่จะต้องเน้นการพัฒนาการศึกษาอาชีวะให้ไปมากกว่าแก่การอนุญาตให้วิทยาลัยสอนระดับสูงขึ้นได้ (เฮ้อ คิดกันหน่อยซิ ท่านรัฐมนตรี)

จำเป็นต้องเน้นว่าเบื้องต้นนี้ เอาแค่การสนับสนุน “ครูช่าง” ให้มากขึ้น เพราะในวันนี้เอง โรงเรียนอาชีวะทั้งหมดหา “ครูช่าง” ได้ยากมาก เพราะวิศวกรที่เข้าไปเป็นครูช่างก็จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เพื่อรองานอื่นๆ ที่ดีกว่า การไม่มี “ครูช่าง” จึงเปิดให้รุ่นพี่เข้ามาและใช้ฐานรุ่นพี่รุ่นน้องจรรโลง “อัตลักษณ์” เดิม

การแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ ต้องเข้าใจให้ลึกลงไปกว่าปรากฏการณ์พื้นผิวของปัญหา ไม่อย่างนั้น เด็กไทยก็จะตายกับสงครามอาชีวะนี้ไปอีกนาน