“ไอเดียชอปปิ้ง” – ช๊อปงานวิจัยมาพัฒนาต่อเป็นธุรกิจ

“ไอเดียชอปปิ้ง” – ช๊อปงานวิจัยมาพัฒนาต่อเป็นธุรกิจ

ปัจจุบันการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีประโยชน์ทางด้านวิชาการอย่างเดียว แต่ยังสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ได้ อย่างในยุโรป มหาวิทยาลัยมีรายได้

ส่วนหนึ่งจากการรับจ้างทำวิจัย (Contract Research) ให้แก่อุตสาหกรรมและภาคเอกชนต่างๆ โดยงานนวัตกรรมที่พัฒนาใหม่นี้สามารถสร้างรายได้จากการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการใช้ (มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของสิทธิบัตร) และ “University Spin-offs” คือ การที่นักวิจัยได้ผลิตงานนวัตกรรมภายใต้เครือข่ายของมหาวิทยาลัย ก่อนจะแยกตัวออกมาทำธุรกิจพร้อมทั้งถ่ายโอนเทคโนโลยี และ/หรือ ทรัพย์สินทางปัญญาจากมหาวิทยาลัยมาด้วย

ในครั้งนี้ ทีมงาน Thaieurope.net จึงขอนำเสนอกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเป็นธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากมหาลัยหรือสถาบันวิจัย และโอกาสของภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนด้านนวัตกรรม ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัย KU Leuven ในเบลเยียมได้ผลิตบริษัท spin-off ถึง 135 บริษัท เนื่องด้วยการ spin-off หมายถึงนักวิจัยเป็นคนจัดทำแผนธุรกิจ หาเงินมาลงทุน และนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์เอง ทำให้มีอิสระในการพัฒนาไปในทิศทางที่เจ้าของบริษัทต้องการได้

แพลตฟอร์มใหม่สำหรับนักธุรกิจไทย-นักวิจัยไทยในยุโรป

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ โดย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ จัดงานประชุมนักเรียนไทยในเบลเยียม ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากเบลเยียมสู่ไทย ผ่านมุมมองนักเรียนไทยในเบลเยียม ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมปาฐกถาพิเศษกับนายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ อัครราชทูต และนายมาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) โดยเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Infrastructure) ที่แข็งแรง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มีนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหากศึกษาสถิติของเบลเยียม จะพบว่าเบลเยียมมีประชากรน้อยกว่าไทยถึง 6 เท่า แต่มี GDP ใกล้เคียงกัน ซึ่งแสดงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของเบลเยียม ทางทีมประเทศไทยจึงได้เล็งเห็นประโยชน์จากการจัดประชุมนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเบลเยียมที่มีศักยภาพ และมีประโยชน์ต่อไทย รวมถึงวิธีการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ไทยสามารถพิจารณาปรับใช้ได้ในอนาคต

จากการประชุมครั้งนี้ ทีมประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้ริเริ่มการสร้างเครือข่ายนักวิจัยไทยในยุโรป โดยเริ่มจากเบลเยียม และสิ่งหนึ่งที่ทีมงานค้นพบจากการประชุม คือ งานวิจัยของนักวิจัยไทยมีความหลากหลายและรอโอกาสการนำพัฒนาประยุกต์ต่อในเชิงพาณิชย์ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัย เรื่องการใช้ความรอนในสภาวะกดดัน (heat stress) เพื่อพัฒนาให้กุ้งขาวแวนนาไม (Penaeus vannamei) ซึ่งเป็นกุ้งพันธุ์ที่นิยมเพาะเลี้ยงอันดับ 1 ในไทย และมีมูลค่าการส่งออกกว่า 60,000 ล้านบาท มีความทนทานต่อโรคเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่งยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากได้รับการพัฒนาต่อสามารถนําไปสู่อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุงที่ยั่งยืนได้ เป็นต้น โดยนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อมูลนักวิจัยไทยที่ทีมงาน Thaieurope.net สนับสนุน นอกเหนือจากการเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวต่างๆ ในยุโรปภายใต้สโลแกน “กรองยุโรปเพื่อไทย”

ปัจจัยที่ส่งผลให้การทำวิจัยด้านนวัตกรรมในเบลเยียมมีศักยภาพ

66% ของนักเรียนไทยในเบลเยียมเป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอก ซึ่งเลือกที่จะมาศึกษาทำวิจัยที่นี่เพราะเชื่อว่า เบลเยียมและประเทศอื่นๆ ในยุโรปให้โอกาสและสนับสนุนนักวิจัยให้สามารถต่อยอดงานวิจัยให้สำเร็จ โดยเฉพาะงานวิจัยในลักษณะวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Research) ซึ่งเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างเป็นทฤษฎีใหม่ รวมถึงการนำงานวิจัยมาปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยทุกคนเชื่อว่ามหาวิทยาลัยในเบลเยียมและประเทศอื่นๆ ในยุโรปมีศักยภาพด้านนี้มากกว่าทในไทย เพราะมีเงินทุนและห้องแล็บที่มีอุปกรณ์เฉพาะทางครบครันกว่า อีกทั้งเบลเยียมยังมีความเสถียรภาพในด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนางานวิจัยในระยะยาว เช่น การวิจัยยารักษาโรคที่อาจจะใช้เวลากว่า 12 ปี เพราะต้องผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์องค์ความรู้พื้นฐาน การทดลองในสัตว์ การทดลองในคน ถึงจะพัฒนาออกมาในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ การจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรในลักษณะ “Consortium” ซึ่งการทำงานวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานวิจัย บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีหัวข้อการศึกษาคล้ายกันจะช่วยส่งเสริมการทำวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลร่วม (Shared Data) ในการพัฒนาและประยุกต์ใช้กับงานวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น EnergyVille ที่เป็นการรวมกลุ่มระหว่าง มหาวิทลัย KU Leuven สถาบันวิจัย VITO สถาบันวิจัย IMEC และมหาวิทยาลัย UHasselt พัฒนาวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับพลังงานที่ยั่งยืนและระบบพลังงานอัจฉริยะ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างจากหลายประเทศที่ยังไม่มีการแบ่งปันข้อมูลข้ามสถาบันและองค์กรมากนัก ทำให้มีการทำวิจัยซ้ำซ้อนแทนทีจะมีการบูรณาการร่วมกัน นอกเหนือไปจากนั้น การส่งเสริมการจัดตั้ง spin-off ในมหาวิทยาลัย ยังส่งผลให้นักวิจัยสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการศึกษาวิจัย

โอกาสดีสำหรับนักธุรกิจไทยที่สนใจลงทุนด้าน R&D

รองปลัดวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้กล่าวถึงนโนบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Infrastructure) รวมถึงเป้าหมายในการสนับสนุนการลงทุนด้าน R&D ให้ถึงร้อยละ 1 ของ GDP โดยมีสัดส่วนการลงทุนจากภาคเอกชน 70% และภาครัฐ 30% รวมทั้งยังมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้าน R&D โดยให้บริษัทเอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ R&D มาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 300% ของรายจ่ายจริง ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายรัฐมีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับยุโรป โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะการลงทุนด้านนี้แหละที่จะเป็นเครื่องมือให้ไทยสามารถก้าวเข้าสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” และยกระดับของอุตสาหกรรมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Value Chain Upgrading) จากการเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก ไปสู่การเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง และพ้นจาก “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” 

อีกทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของไทย ที่ไม่มีความได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูกจึงควรปรับนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่ามากขึ้น