ปปช.ตามล่า ขาใหญ่ไอแบงก์

ปปช.ตามล่า ขาใหญ่ไอแบงก์

เห็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จัดโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต  ตามข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)ประจำปี 2560 เพื่อให้รัฐวิสาหกิจบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล และยกระดับคุณธรรมในการดำเนินงาน

ป.ป.ช. บอกว่าสถานการณ์การทุจริต ล่าสุดเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเข้ามา 15,600 เรื่อง มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ 548 เรื่อง อยู่ในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริง 429 เรื่อง มีเรื่องที่อยู่ในชั้นตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง 119 เรื่อง มีเรื่องที่ตรวจสอบและพบว่ามีมูลความผิด 3.5%  แม้จะมีปริมาณน้อยแต่มูลค่าความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ

จำนวนเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามามากมายมันบ่งบอกอะไรส่วนจะมากหรือน้อยคงเป็นหน้าที่ป.ป.ช. ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ยังไงป.ป.ช.ก็อย่าลืมกับคำสั่งที่ ปช.0019/1713 เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2560 ที่มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องไปให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน  กรณีที่“ขาใหญ่”แห่งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือไอแบงก์  เป็นผู้ถูกกล่าวหาจากป.ป.ช. ดูเหมือนจะเป็นข้อตกลงการรับประกันราคาหุ้นขั้นต่ำระหว่างไอแบงก์ กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรายหนึ่ง

ทั้งนี้ป.ป.ช. ต้องการที่จะให้ผู้แทนขาใหญ่ ให้ข้อมูลใน 3-4 ประเด็น อาทิ ความจำเป็นที่ไอแบงก์ต้องจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือน ก.ย.2552  ,การจัดทำบันทึกข้อตกลงรับประกันราคาหุ้นขั้นต่ำเป็นไปตามกฎหมายใด และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาก่อให้เกิดความเสียหายหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร และความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วหรือไม่อย่างไร

นี่เป็นประเด็นที่คณะอนุกรรมการไต่สวน ต้องการจะถาม จริงๆ เรื่องความไม่ชอบมาพากลในไอแบงก์ที่พูดมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น  ที่แน่ๆ ดูเหมือน มีเรื่องถึงมือป.ป.ช.ให้ตรวจสอบแล้วร่วม 30 เรื่อง แต่ละเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ทั้งสิ้น หากป.ป.ช.สามารถจัดการได้จริง มีหวังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจถูกดำเนินคดีกันเป็นทิวแถว

ไหนๆจะจัดการเรื่องทุจริตแล้ว ก็ช่วยจัดการเรื่องราวของไอแบงก์ด้วยละกัน ยังมีหลายคนเอาเงินไอแบงก์ไปใช้แล้วยังลอยนวลไม่คิดจะชดใช้ ...