มรดกแห่งผู้นำ

มรดกแห่งผู้นำ

หากอยากให้ลูกเป็นที่ภูมิใจของคุณ จงทำตัวให้เป็นที่ภูมิใจของเขา นั่นคือมรดกแห่งผู้นำ

“พิน ทำอะไรอ่ะลูก” ผมถามเมื่อเห็นเจ้าลูกสาวง่วนกับหน้าคอมพ์ที่โต๊ะหนังสือ

“I’m googling you” ลูกตอบง่ายหากพ่อสะดุ้ง “หา ทำอะไรนะ”

เด็กน้อยป.ห้าหมุนจอมาให้พ่อดู หน้า Image ของกูเกิลมีรูปผมจากที่โน่นที่นี่โผล่มา ตั้งแต่สมัยละอ่อนในอเมริกา จากงานสลิงชอตในไทย งานหนังสือของเนชั่น งานรับรางวัลที่อินเดีย งานบนเวทีอิมแพ็ค งาน Iclif จากเคแอล ฯลฯ

สัมภาษณ์กันอยู่ครู่ใหญ่ก็ได้ความว่านี่เป็นการบ้านจาก ISKL ให้เด็กทุกคนค้นคว้าว่าพ่อแม่ของตนทำอะไร ได้ปรากฎตัวในสายตาของโลกโซเชียลบ้างหรือไม่อย่างไร ประมาณว่าให้ค้นประวัติพงศาวดารตัวเอง หากเป็นสมัยก่อนเราก็ต้องนั่งตัดแปะข่าว แต่เด็กสมัยนี้ใช้กูเกิลเอา

“Why don’t you try just our last name” ผมแหย่เล่นๆ พินตาเป็นประกายอย่างนึกสนุก จิ้ม ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาษาอังกฤษอยู่พักนึงก็ได้ผลที่ประมวลใหม่

คราวนี้รูปที่เด้งกลับมามีทั้งพ่อ ลุงธรณ์ อาจี๊ป คุณปู่ ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ และคุณทวด หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในภารกิจต่างๆกันไป

“The one thing parents in the world most wish for is for our kids to make us proud” สิ่งที่พ่อแม่ในโลกหวังมากที่สุดคือต้องการให้ลูกสร้างความภาคภูมิใจให้กับตระกูล คุณราจีฟ CEO ผู้เขียนหนังสือ Too Many Bosses Too Few Leaders กล่าวกับผู้เรียน ผมกำลังรันหลักสูตร Be The Change อยู่กับแก

“คุณรู้ไหมว่าวิธีดีที่สุดที่จะทำให้ลูกทำตัวให้คุณภูมิใจคืออะไร” คือคำถาม

If you want your kids to make you proud, the best way to do that is for you to do something that makes them proud of you

ข้อคิดของผู้นำสมอง

1. Give Your Life A Story ผู้นำคือผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง 

ยุค 4.0 แห่ง Open Source คือยุคอันมีโอกาสให้ไขว่คว้าเต็มไปหมด การสื่อสารง่ายขึ้น การเดินทางง่ายขึ้น อินเทอร์เน็ตไร้พรมแดน ผู้คนมากมาย มีปัญหาหลากหลายให้เราแก้ Asian Leadership Community ทำให้ผมได้รู้จักเรื่องราวมากมายของคนธรรมดาๆ ในเอเชีย ที่ใช้เทคโนโลยีสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับทวีประดับโลก 

ดังนั้นอย่าส่งต่อกระดาษว่างเปล่าเป็นมรดกให้กับลูก ลงมือเขียนเรื่องราวแห่งผู้นำของคุณ

2. Don’t Use Your Family As Excuse นอกจากไม่สร้างมรดกแล้ว หลายคนโทษครอบครัวในการไม่กล้าเริ่มเส้นทางของตัวเอง

 I can’t do that because I have a family เรายังทำอะไรเสี่ยงไม่ได้เพราะมีครอบครัว ฉันเถียงนายอย่างใจคิดไม่ได้เพราะมีปากท้องต้องส่งเสีย เราต้องตามกระแสเพราะเกิดอะไรขึ้นใครจะดูแลลูก มันไม่ผิดหรอก แต่จงทบทวนให้แน่ใจว่ามันคือเหตุผลที่แท้จริง อย่าโยนความไม่กล้าของคุณไปเป็นความผิดของพวกเขา

3. Legacy Transfers ความภาคภูมิจากพ่อแม่ส่งต่อถึงลูก 

หากวัดกันตามตำรา คุณพ่อคุณแม่ผมเลี้ยงเรามาแบบผิดสุดๆ ตามใจทุกเรื่อง อยากได้อะไรได้ พาไปเที่ยวรอบโลก ไม่เคยบังคับให้เรียน ซึ่งถ้าดูแค่นั้น ทั้งสามพี่น้องควรจะเป็นเด็กสปอยล์ที่สร้างปัญหาให้สังคมสุดๆ ไม่ควรเป็นอย่างที่พิน Google พบเลย 

“พ่อเลี้ยงลูกอย่างนี้ไม่กลัวพวกเราเสียคนบ้างหรือ” ผมเคยถามท่านตรงๆ “ไม่กลัว” คุณพ่อตอบง่ายๆ “เพราะพ่อมั่นใจในลูกของพ่อทุกคน”

“ทำไมผมจึงกลายมาเป็นอ.ธรณ์ในวันนี้” เป็นเรื่องเล่าจากเวที Leadership Energy Summit Asia 2017 in Bangkok ซึ่งผม(บังคับ)ให้พี่ชายขึ้นเล่าประวัติที่ทำให้แกเป็นแกทุกวันนี้

“ในครอบครัวผมมีความกดดันสูงนะฮะ คุณปู่เป็นนายกฯ คนที่แปดของประเทศไทย ส่วนคุณพ่อก็เป็นทั้งรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงที่อายุน้อยที่สุด แถมอยู่ในตำแหน่งยาวนานอันดับต้นๆ”

“ผมชอบอ่านนิยาย เลยถูกปลูกฝังความเชื่อว่าลูกมีหน้าที่สืบทอดความภาคภูมิใจของบรรพบุรุษ อันนี้เป็นความเชื่อผิดๆ นะครับ ไม่ต้องจดไป เป็นความคิดโง่ๆ ของผมในตอนนั้น” คนฟังในห้องหัวเราะครืนใหญ่

“ผมเลยตัดสินใจเลือกเอาดีทางทะเลนี่แหละ เป้าหมายคือต้องไม่ให้เสียเกียรติ คือเสียนิดหน่อยได้แต่ต้องไม่ให้เสียชื่อวงศ์ตระกูล”

แม้ผู้นำใกล้ตัวผมคนนี้จะออกตัวว่านี่เป็นความเชื่อผิดๆ แต่ผมว่านิยายเหล่านั้นกล่าวไว้ถูกต้องเลยล่ะ หากอยากให้ลูกเป็นที่ภูมิใจของคุณ จงทำตัวให้เป็นที่ภูมิใจของเขา เพราะนั่นคือมรดกแห่งผู้นำ

คุณล่ะครับ วันนี้สร้างความภูมิใจไว้ให้ลูกอย่างไรบ้าง