ยามเเรกรัก น้ำต้มผักก็ว่าหวาน เมื่อจืดจาง น้ำตาลยังว่าขม

ยามเเรกรัก น้ำต้มผักก็ว่าหวาน เมื่อจืดจาง น้ำตาลยังว่าขม

ท่านผู้อ่านหลายท่าน อาจได้มีโอกาสรับชมรายการโทรทัศน์ ช่องไทยรัฐทีวี 32 รายการ "ถามตรงๆ กับจอมขวัญ" เมื่อเร็วๆ นี้

พิธีกรได้เรียนเชิญสุภาพสตรีท่านหนึ่งเข้ารายการ คุณปอ สุภาพสตรีของแม่ลูกสองคน คนแรกอายุขวบเศษ คนโตอายุกว่าสี่ขวบ ซึ่งบุตรสาวคนโตได้ถูกอดีตสามีไฮโซ ซึ่งเลิกรากันไป ฉกลูกสาวคนโตจากโรงเรียน นำบุตรสาวคนโตไว้กับตนเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ โดยไม่ยินยอม              ส่งตัวบุตรสาวคนโตให้แก่อดีตภรรยา ถึงแม้อดีตภรรยาจะพยายามร้องขอผ่านคนใกล้ชิด และพี่สาวของอดีตสามี ขอให้ส่งบุตรสาวคนโตคืนให้แก่ตน โดยอ้างว่าบุตรสาวคนโตไม่เคย อยู่ห่างบุตรสาวคนเล็กแม้แต่                  วันเดียว ไม่เคยประสงค์จะได้ทรัพย์สมบัติ เงินทองจากอดีตสามีแต่อย่างใด ขอเพียงให้ได้อยู่กับบุตรสาว               ทั้งสองคน ก็เพียงพอ จนในที่สุด เมื่อได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ไม่เห็นผล จึงได้อาศัยทนายความฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง ให้ส่งคืนบุตรสาวคนโตให้แก่อดีตภรรยา นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งทันที สาเหตุความขัดแย้งระหว่างบุคคลทั้งสอง เข้าใจว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงได้ทราบข้อมูลจากรายการพิธีกรโทรทัศน์ระดับหนึ่งแล้ว ผู้เขียนไม่ขอนำเรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบอีก

 

                         ข้อพิพาทระหว่างอดีตภรรยา และสามีข้างต้น อาจสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่ง               ได้แก่ ชาย - หญิง ซึ่งเป็นคู่รักกันจะตกลงร่วมหอ ลงเอยด้วยการเป็นชีวิตคู่ ครอบครัวที่สมบูรณ์ อบอุ่น                    ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร ดังเช่นครอบครัวอื่น ซึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ในอดีตนั้น ปัจจุบัน อาจพบเห็นได้น้อย ถึงน้อยมาก การจดทะเบียนหย่าร้างของชาย - หญิงจำนวนหลายคู่ ส่วนใหญ่มักพบว่าเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งความไม่เข้าใจ การไม่ยอมรับนิสัยใจคอของแต่ละฝ่าย  การขาดความอดทน อดกลั้น ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นเพราะแต่ละฝ่ายอาจไม่ได้ศึกษา เรียนรู้นิสัยใจคอของแต่ละฝ่ายให้ถ่องแท้ และมากพอ จึงเป็นเหตุต้องแยกทาง จดทะเบียนหย่ากันในที่สุด

 

                         ประเด็นความขัดแย้ง จนก่อให้เกิดการแยกทาง จดทะเบียนหย่าของคู่ชาย - หญิง                                        ซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมายข้างต้น อาจไม่แตกต่างจากการที่นิติบุคคลอาคารชุด                    "ผู้ว่าจ้าง" ตัดสินใจอนุมัติคัดเลือกผู้บริหารทรัพย์สิน ทั้งในฐานะ บุคคล หรือนิติบุคคล (Professional Outsource) เข้ารับผิดชอบงานบริหารจัดการทรัพย์สิน ตามข้อบังคับ  และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด                     โดย "ผู้ว่าจ้าง" ขาดการทำการบ้าน ทั้งการตรวจสอบรายละเอียด ประวัติ หรือผลงาน "ผู้รับจ้าง" จึงกลายเป็นสาเหตุของการยกเลิก หรือบอกเลิกสัญญาจ้างระหว่างกัน ซึ่งบางแห่ง อาจมีคดีความในศาล ตามมาในภายหลังอีกด้วย

 

                         ต้องยอมรับว่าการที่จะเลือกใครเป็น "คู่ครอง" ของทั้งฝ่ายชาย - หญิง อาจมิใช่เลือกบุคคลที่หน้าตา หรือมีทรัพย์สิน เงินทองมากมายเพียงอย่างเดียว แต่อาจต้องพินิจ พิจารณาจากด้านอื่นๆ ของแต่ละฝ่ายประกอบไปพร้อมกันด้วย อีกทั้งจำเป็นต้องใช้เวลานานพอสมควรในการพิจารณาคัดเลือกคู่ครองของตนให้เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เกิดความล้มเหลวชีวิตคู่ และครอบครัว และอาจเกิดปมด้อยแก่เด็ก หรือบุตรของทั้งสองฝ่ายตามมาในภายหลัง

 

                         อย่างไรก็ดี เรื่องข้างต้น อาจสามารถนำมาเปรียบเทียบกับการที่นิติบุคคลอาคารชุดแห่งใด ประสงค์จะอนุมัติคัดเลือกผู้บริหารทรัพย์สิน ทั้งการจ้าง ในฐานะ บุคคลธรรมดา  หรือนิติบุคคล (Professional Outsource) ก็ตาม เพื่อให้ได้บุคลากร และทีมงานที่ดีมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ                   เรื่องดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เหตุเพราะภารกิจการบริหารทรัพย์สินภายในอาคารชุด คอนโดมิเนี่ยมในแต่ละแห่งนั้น มีความเกี่ยวข้องกับระบบการอยู่อาศัยขนาดใหญ่ การใช้ชีวิตประจำวันของคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของเจ้าของร่วม ผู้พักอาศัย ระบบบัญชี - การเงิน ทั้งรายรับ รายจ่ายประจำวัน เดือน ปี การควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล ทรัพย์ส่วนกลางให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เรียบร้อย การประสานงาน การติดต่อระหว่างเจ้าของร่วม                 ผู้พักอาศัยกับนิติบุคคลอาคารชุด หรือนิติบุคคลอาคารชุดกับบุคคล หรือนิติบุคคลภายนอก ฯลฯ  เป็นต้น

 

                         อนึ่ง กระบวนการคัดเลือก สรรหาผู้บริหารทรัพย์สิน ทั้งในฐานะ บุคคล หรือนิติบุคคล                     เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่การบริหารจัดการทรัพย์สินภายในนิติบุคคลอาคารชุดให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของร่วม ผู้พักอาศัยในระยะยาว ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ตามข้อบังคับ และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือความรับผิดชอบของคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการ (ถ้ามี) ผู้เขียนเห็นว่ากระบวนการ ขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือก สรรหาผู้บริหารทรัพย์สินให้ได้ประสิทธิภาพ จำเป็นต้องยึดหลัก 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

 

  1. 1. นิติบุคคลอาคารชุด "ผู้ว่าจ้าง" มีงบประมาณรายรับค่าส่วนกลางที่เรียกเก็บกับเจ้าของร่วมทุกรายในอาคารชุด คอนโดมิเนี่ยมเพียงพอต่อการว่าจ้างหรือไม่
  2. 2. นิติบุคคลอาคารชุด "ผู้ว่าจ้าง" ได้กำหนดคุณสมบัติ - ลักษณะต้องห้ามของบุคคล หรือ                         นิติบุคคลตามข้อบังคับ และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ตลอดจนการจัดทำ หรือการกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงาน (Term of Reference) ไว้ล่วงหน้า และถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการจ้าง ตามสัญญาจ้างด้วยหรือไม่

 

                         3.กระบวนการสัมภาษณ์ผู้บริหารทรัพย์สิน โดยดู หรืออาศัยจากเอกสารหลักฐานในคราวการนำเสนอ แนะนำตัวครั้งแรก (Presentation) เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ และรองรับการอนุมัติคัดเลือกการจ้างผู้บริหารทรัพย์สิน นิติบุคคลอาคารชุด "ผู้ว่าจ้าง" ควรจัดตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบประวัติ - ผลงานจากสถานที่การปฏิบัติงานจริง "ผู้รับจ้าง" ประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมด้วย

 

                         4.กรณีนิติบุคคลอาคารชุด "ผู้ว่าจ้าง" ตกลงอนุมัติการจ้างบุคคล หรือนิติบุคคล ผู้บริหารทรัพย์สิน "ผู้รับจ้าง" เห็นสมควรให้กำหนดหลักประกันความเสียหาย ประกอบการจ้างในสัญญาจ้างเพิ่มเติมด้วย และ

 

                         5.กรณีนิติบุคคลอาคารชุด "ผู้ว่าจ้าง" ตกลงอนุมัติการจ้างนิติบุคคล (Professional Outsource) เป็นผู้บริหารทรัพย์สิน เห็นสมควรให้ทำการสัมภาษณ์บุคลากร "ผู้รับจ้าง" ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ณ นิติบุคคลอาคารชุดในคราวเดียวด้วย

 

                         อย่างไรก็ดี หากทั้งฝ่ายชาย - หญิง ตลอดจนนิติบุคคลอาคารชุด "ผู้ว่าจ้าง" ต่างได้ใช้โอกาส ในการทำ "การบ้าน" ทั้งการศึกษานิสัยใจคอ เรียนรู้ตัวตนของแต่ละฝ่ายอย่างถ่องแท้ และได้เตรียม                 การ วางแผนจัดทำรายละเอียดการคัดเลือก สรรหาผู้บริหารทรัพย์สินได้อย่างเพียงพอ ถูกต้อง เหมาะสม โอกาสซึ่งชาย - หญิง จะแยกทาง เลิกรา หรือจดทะเบียนหย่านั้น ย่อมเกิดได้ยาก และการได้ผู้บริหารทรัพย์สินที่ดี  มีความรับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิติบุคคลอาคารชุด และ      เจ้าของร่วม

//////

โดย นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย และ

"ที่ปรึกษา" ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ