กรรมการติดหนี้ค่าส่วนกลาง

กรรมการติดหนี้ค่าส่วนกลาง

มี "คำถาม" ซึ่งได้รับการสอบถามจากทั้งผู้ประกอบการ ผู้จัดสรรที่ดิน และผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอยู่บ่อยครั้งบ่อยครั้ง

เมื่อโครงการหมู่บ้านจัดสรรเตรียมการจดทะเบียน "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" หรือได้รับการ             จดทะเบียน "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร หรือคู่สมรสของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ทั้งในนามบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หรือฐานะใด หากประสงค์สมัคร หรือได้รับการเสนอชื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ ดำรงตำแหน่ง ในฐานะ กรรมการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร แต่ปรากฏว่ามีหนี้ค่าบริการสาธารณะ หรือค่าส่วนกลางค้างชำระกับผู้จัดสรรที่ดิน หรือหนี้ค่าบำรุงรักษา และการจัดการสาธารณูปโภคค้างชำระกับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร สมควรสมัคร หรือได้รับการเสนอชื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ ดำรงตำแหน่ง ในฐานะ กรรมการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือไม่

 

                         อย่างไรก็ดี เมื่อพลิกอ่านรายละเอียดพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียน การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ๒๕๔๕ ตลอดจนข้อบังคับของ  นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พบว่า ทั้งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน และกฎกระทรวงดังกล่าว มิได้กำหนดรายละเอียดทั้งคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคล หรือนิติบุคคลปฏิบัติหน้าที่ ดำรงตำแหน่ง                    ในฐานะ กรรมการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแต่อย่างใด แต่อาจพบข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในบางโครงการ บางแห่ง กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร ได้แก่ การห้ามมีหนี้ค่าบำรุงรักษา และการจัดการสาธารณูปโภค หรือหากมีหนี้ดังกล่าวค้างชำระติดต่อกันสามเดือน ก็ให้กรรมการหมู่บ้านจัดสรรรายดังกล่าว พ้นจากการเป็นกรรมการหมู่บ้านจัดสรรทันที เป็นต้น

 

                         ดังนั้น จึงมิอาจให้ "คำตอบ" ที่ชัดเจน ถูกต้องแก่ท่านผู้สอบถามได้ เหตุเพราะทั้งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มิได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ  และลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการหมู่บ้านจัดสรร อย่างไรก็ตาม หากจะนำพระราชบัญญัติ ตลอดจนข้อกำหนด ข้อบังคับ หรือจริยธรรมของนักบริหาร ผู้ปกครองขององค์กร นิติบุคคลอื่นมาเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน กฎกระทรวงฯ อาทิ พระราชบัญญัติอาคารชุด พระราชบัญญัติสหกรณ์ ฯลฯ เป็นต้น  ตลอดจนข้อกำหนด ข้อบังคับของนิติบุคคลอื่นมาเทียบเคียง  พบว่ามีข้อกำหนดทั้งคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคล - นิติบุคคลปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะ ผู้จัดการ ได้แก่ การไม่มีหนี้ค่าใช้จ่าย             ค้างชำระ ตามมาตรา ๑๘ ของพระราชบัญญัติอาคารชุด มาตรา ๓๕/๑ (๖) เป็นต้น แต่อาจมีบางท่านโต้แย้งประเด็นดังกล่าว เหตุเพราะมิใช่พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หรือไม่เกี่ยวข้องกัน หรือไม่ปรากฏรายละเอียดในข้อบังคับ หรือไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่สมาชิกรองรับ เป็นต้น จึงมิอาจนำมาเทียบเคียงใช้ในทางปฏิบัติต่อไปได้

 

                         ทรรศนะผู้เขียนเห็นว่าบุคคล หรือนิติบุคคลใดก็ตาม หากประสงค์สมัคร หรือได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่สมาชิกให้ปฏิบัติหน้าที่ ดำรงตำแหน่ง ในฐานะ กรรมการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน และข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ถึงแม้ไม่มีผู้สมัคร หรือ                  มีผู้สมัครจำนวนน้อย แต่ปรากฏว่าผู้สมัคร หรือผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการของ                  นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร มีหนี้ทั้งค่าบริการสาธารณะ หรือค่าบำรุงรักษา และการจัดการสาธารณูปโภค                   ค้างชำระกับทั้งผู้ประกอบการโครงการ ผู้จัดสรรที่ดิน และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ต้องไม่มีหนี้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวค้างชำระ เหตุเพราะคณะกรรมการถือเป็นผู้ทรงเกียรติ เป็นผู้นำ ผู้แทนนิติบุคคล ผู้ปกครอง และที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาคุณสมบัติอันเหมาะสม เห็นสมควรอนุมัติแต่งตั้งบุคคล - นิติบุคคล ปฏิบัติหน้าที่                      ในฐานะ กรรมการแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องเป็น *แบบอย่างที่ดี* ให้แก่สมาชิก และบุตรหลานได้เห็น เรื่องสำคัญ อย่าให้สมาชิกรายอื่น มองว่าการที่ท่านเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการของหมู่บ้านจัดสรร ท่านจะปฏิบัติตนเหนือข้อบังคับ กฎหมาย ตลอดจนมาตรฐาน จริยธรรม แบบอย่างที่ดี หรือการใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง หรือพวกพ้อง

//////

โดย นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด หมู่บ้านจัดสรรไทย

ที่ปรึกษา ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ