ปริญญาโทและเอก กับ ‘ผู้มีรายได้น้อย’

ปริญญาโทและเอก กับ ‘ผู้มีรายได้น้อย’

ผมรอคอยการตรวจสอบของกระทรวงการคลังด้วยความระทึกใจอย่างยิ่งว่าจริงหรือไม่ที่คนจบปริญญาเอกและโท

ไปลงทะเบียนขอรับสิทธิเป็น “ผู้มีรายได้น้อย” รวมกันมากกว่า 6,000 คน

คุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกนักข่าวว่ากระบวนการการคัดเลือกคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดนั้นจากยอดลงทะเบียนทั้งหมด 14.1 ล้านคน เหลือ 11.6 ล้านคน ตัดกลุ่มผู้มีรายได้-เงินฝากเกิน และที่ดินเกินกว่ากำหนด รวมแล้ว 2.5 ล้านราย

ที่เป็นข่าวเกรียวกราวไม่น้อยคือพบว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงทั้งระดับปริญญาเอกหรือที่มี “ดอกเตอร์” นำหน้ามาลงทะเบียนด้วยเกือบ 700 คน และระดับปริญญาโทประมาณ 5,800 คน

คุณกฤษฎาบอกว่าเมื่อพบข้อมูลเช่นนี้ก็ต้องเร่งตรวจสอบว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาอะไร

ส่วนสวัสดิการที่ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 7-8 ล้านคน เบื้องต้นกำหนดให้มาลงทะเบียนใหม่ ระยะที่ 2 เพื่อยืนยันตัวตน และน่าจะจ่ายเงินได้ในต้นปี 2561 แต่ต้องพิจารณางบประมาณด้วย ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขด้านต่างๆ ทั้งการทำบัญชีครัวเรือน การฝึกอบรมทำอาชีพให้ความรู้ ต้องมีรายได้สูงกว่าเดิมในปีถัดไป เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำตามข้อกำหนด

ทั้งนี้ ผลวิจัยของ สศค. พบว่า ไทยมีสวัสดิการดูแลประชาชนกว่า 44 สวัสดิการ ใช้งบต่อปี 2.86 แสนล้านบาท อาทิ อุดหนุนเด็กแรกเกิด การศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วยเหลือเกษตรกร ค่าไฟฟรี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังศึกษามาตรการดูแลกลุ่มคนพิการและคนชรา ที่มีปัญาหนี้นอกระบบ ซึ่งแนวทางช่วยเหลือจะแตกต่างกัน แต่หลักการช่วยเหลือของรัฐบาลจะต้องถูกตัว เพื่อประหยัดงบประมาณให้ได้มากที่สุด และนำเงินมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นได้

ฐานข้อมูลผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติ 11.6 ล้านคน แบ่งเป็นผู้สูงอายุ สัดส่วน 1/3 ของผู้ลงทะเบียน , ผู้พิการ 3 แสนคน , เป็นผู้ไม่มีรายได้สัดส่วน 1/5 ของผู้ลงทะเบียน , เป็นเกษตรกร 4 ล้านคน , รับจ้างอิสระและค้าขาย 3 ล้านคน

ที่ผู้คนสนใจว่าคนที่มีปริญญาโทและเอกไปขอเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้มีรายได้น้อย” นั้นเกิดจากเหตุผลอันใด

เพราะพลันที่ตัวเลขนี้ออกมาก็เกิดคำถามว่าคนที่มีการศึกษาระดับสูงเช่นนี้ยังมีปัญหาเรื่องรายได้ถึงขั้นที่ต้องเป็นภาระกับบ้านเมืองเหมือนคนสูงอายุ ผู้พิการและเกษตรกรอย่างนั้นหรือ?

หรือเป็นเพราะคนเหล่านี้เรียนจบระดับสูงแล้วยังหางานทำไม่ได้ หรือมีงานทำแล้วแต่ยังนึกว่าตัวเองเข้าข่ายที่ต้องให้รัฐช่วย เพราะตัวเองไม่สามารถช่วยตัวเองได้?

ทำให้เกิดคำถามต่อว่าการศึกษาขั้นสูงของไทยเราผลิตคนออกมาอย่างไรจึงกลายเป็นภาระมากกว่าที่จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ?

หรือหากจะบอกว่าผู้มีปริญญาเอกและโทกลุ่มนี้ไม่เข้าใจเงื่อนไขกติกาที่จะอ้างสิทธิเป็น “ผู้มีรายได้น้อย” นึกว่าเมื่อรัฐบาลประกาศให้เงินช่วยเหลือก็จึงไปลงทะเบียนเผื่อจะได้รับการพิจารณาก็ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วง

เพราะนั่นย่อมแปลว่าคนกลุ่มนี้ไม่อาจจะทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ของทางการเรื่องนี้ทั้งๆ ที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าคนอื่นๆ ในสังคมส่วนใหญ่

และทุกคนที่จบปริญญาโทและเอกย่อมต้องผ่านปริญญาตรีมาก่อน ซึ่งก็แปลว่าทุกคนในกลุ่มนี้ต่างก็ได้ใช้เงินภาษีประชาชนที่อุดหนุนสถาบันการศึกษาไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกันทั้งสิ้น

จึงได้แต่ภาวนาว่าเรื่องของรายชื่อคนปริญญาโทและเอกที่ไปขอสิทธิในฐานะ “คนมีรายได้น้อย” นั้นเป็นความเข้าใจผิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

และประกาศยกเลิกคำขอเหล่านี้ออกไปให้พ้นจากข้อสงสัยคลางแคลงของประชาชนผู้เสียภาษีด้วย