ว่าด้วยเรื่อง ไม่ถือว่าเป็นความผิด (No-Fault) ทางการแพทย์ (จ

ว่าด้วยเรื่อง ไม่ถือว่าเป็นความผิด (No-Fault) ทางการแพทย์ (จ

ได้อ่านบทความเกี่ยวกับ No-Fault แล้วได้ข้อสรุปตรงกันว่า No-Fault ในทางการแพทย์อาจไม่ใช่ข้อสรุปที่ดีในทุกเรื่อง ประเทศสวีเดน และนิวซีแลนด์

ที่หลายประเทศนำมาอ้างอิงเกี่ยวกับการใช้หลัก No-fault มายุติข้อพิพาททางแพ่งระหว่างผู้ป่วยและแพทย์พยาบาลผู้ทำการรักษานั้น ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ประโยชน์ของ No-Fault จริงๆแล้วคืออะไรกันแน่

เหตุผลก็คือความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลหรือที่เรียกว่า Malpractice นั้น มีความหลากหลาย เป็นทั้งความผิดทางอาญาและทางแพ่งคือละเมิด ความผิดทางอาญานั้น คงไม่สามารถลบล้างได้แน่นอน แต่ความผิดทางแพ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานละเมิดนั้น อาจเป็นได้ทั้งคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หรืออาจเป็นคดีแพ่งอย่างเดียว 

ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า No-Fault ไม่ได้ทำให้การฟ้องร้องเป็นคดีความหมดไป แต่หยุดเฉพาะส่วนที่กฎหมายถือเป็นข้อยุติ และที่สำคัญการยุติข้อพิพาททางแพ่งนั้นก็มีข้อจำกัด เพราะถ้าผู้เสียหายเรียกร้องเกินกว่าเพดานของข้อตกลงใน No-Fault ก็ต้องฟ้องเป็นคดีในส่วนที่เหลืออยู่นั่นเอง เพราะเราคงไม่สามารถจำกัดสิทธิของประชาชนได้ว่าให้ถือว่าเมื่อเป็น No-fault แล้ว ห้ามมิให้ฟ้องร้องเป็นคดีความทางศาล เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และนี่จะเป็นช่องโหว่ที่นักกฎหมายทนายความของผู้เสียหายจะใช้เป็นข้ออ้างที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายส่วนที่เกินจากเพดานที่กำหนดไว้ใน No-fault

ประเทศสวีเดน ที่เป็นประเทศที่ใช้หลัก No-Fault มาเกือบ 40 ปีแล้วใช้วิธีพิจารณาแบบเรียบง่ายก่อนที่จะกำหนดให้ใช้ No-Fault ทางการแพทย์หรือไม่ โดยการตั้งคำถามดังนี้ ความเสียหายนั้นเกิดจากการรักษาพยาบาลหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ คำถามต่อไปคือ การรักษาพยาบาลนั้นมีความเหมาะสมและผลของการรักษานั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่ ถ้ามีคำตอบข้อใดข้อหนึ่งว่า ใช่ ผู้ป่วยจะไม่สามารถเรียกร้องให้ได้รับการชดเชย แต่ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ แต่ถ้าไม่ใช่ทั้งสองคำตอบ กระบวนการ No-Fault ถึงจะดำเนินการต่อไป

สวีเดนเชื่อว่า กระบวนการนี้ไม่ได้แค่ช่วยให้ไม่มีการฟ้องร้องทางละเมิดเท่านั้น แต่ยังช่วยในการปรับปรุงกระบวนการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น เพราะอย่างน้อยที่สุด ปัญหาที่ผู้ป่วยหยิบยกมาว่าเกิดจากการรักษาพยาบาลนั้นจะต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อมิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และที่สำคัญคือตัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องดำเนินคดีทางศาลที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความ ที่นับวันจะพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และอาจสูงกว่าส่วนที่เรียกร้องชดเชยความเสียหายทางการแพทย์จริงๆด้วยซ้ำ

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีบางรัฐได้นำหลักระบบความรับผิดว่าด้วย No-Fault (No-fault Liability System) มาปรับใช้ แทนระบบความรับผิดเนื่องจากประมาท (Negligence-based System) แต่ก็กำหนดข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่นที่มลรัฐฟลอริด้า และเวอร์จิเนียให้ใช้เฉพาะกรณีความเสียหายทางสมองที่เกิดจากทำคลอด (Birth-related neurological impairments in newborns) เพราะเรื่องนี้มีการเรียกร้องค่าชดเชยที่สูงมาก นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการชดเชยจากการทำงานที่เรียกว่า Workers’ Compensation ที่นายจ้างจะเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยแทนแพทย์ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้พุ่งสูงมาก จากประมาณ 2 พันล้านเหรียญในปี 1960 มาเป็น 63.9 พันล้านเหรียญในปี 2001

ประเทศสวีเดนและนิวซีแลนด์ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของระบบ No-Fault ก็มีการปรับปรุงอยู่ตลอดมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือจำกัดการเรียกร้องค่าชดเชย แต่ก็ดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จ ที่มลรัฐยูท่าห์และโคโลราโด ของสหรัฐ ได้นำหลักการ No-fault จากสวีเดนมาใช้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายโดยตรงสูงกว่าการทำคดีฐานประมาทเลินเล่อเสียอีก ทั้งนี้เพราะความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลนั้นพุ่งขึ้นตามค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งข้อจำกัดในเรื่อง No-fault ว่าให้จำกัดเฉพาะการเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บคือความเจ็บปวดและทุกขเวทนา (Injuries and painful)นั้น ในความเป็นจริงนั้นผู้เสียหายยังได้รับผลทางด้านอื่นที่ไม่เป็นตัวเงิน (Non-economic) ฉะนั้นระบบ No-fault จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

สำหรับประเทศไทย ถ้าจะให้มีระบบ No-Fault ก็คงต้องไปแก้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และกำหนดให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วย No-Fault เฉพาะในเรื่องข้อพิพาทระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน เพราะประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากการฟ้องคดีง่ายๆตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคก็คงคัดค้าน เพราะนี่เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิที่เคยได้มากให้เหลือน้อยลงไป

ทางออกที่ดีที่สุดก็คือออกกฎหมายใหม่เลยว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลรัฐ ให้ยุติข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ ไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรม เว้นเสียแต่เป็นเรื่องทุรเวช

อย่างนี้ ก็ไม่ต้องมาเถียงกันเป็นคดีความให้รกโรงรกศาล การเยียวยาฝ่ายผู้ป่วยก็ทำได้เช่นเดิม

เพราะถึงอย่างไร แพทย์พยาบาลผู้ทำการรักษา กับผู้ป่วยผู้รับการรักษา ก็ต้องอยู่ด้วยกันจนตายไปข้างหนึ่ง

จบแบบ Win/Win น่าจะดีกว่า Win/Lose

เพราะนี่ไม่ใช่ Zero-sum Game ที่ผู้ชนะ ได้ทั้งหมด ผู้แพ้ เสียทั้งหมด

(หมายเหตุ...ผู้สนใจเกี่ยวกับ อนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ หาอ่านได้จากบทความที่ลงใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับออนไลน์ ได้เลยครับ)

//////

โดย ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร / นักวิชาการอิสระ