การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข (ตอนที่ 3)

การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข (ตอนที่ 3)

ความเห็นจาก พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กมธ.สาธารณสุข สนช.

การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ได้เขียนความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสาธารณสุขไว้แล้ว 2 ตอน ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงแนวทางและเป้าหมายการปฏิรูประบบสาธารณสุข ตอนที่ 2 เป็นข้อเสนอในการปฏิรูประบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข  ในตอนนี้จะได้กล่าวถึงการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบที่มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข จึงต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้การทำงานสอดคล้องต้องกัน เพื่อให้ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น

การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ปัจจุบันการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีปัญหาที่ตรวจพบจากหน่วยตรวจสอบของรัฐหลายหน่วยงาน เช่นคตร.(คณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ) สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาในการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการใช้จ่ายเงินที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย มีการจ่ายเงินให้แก่มูลนิธิที่บอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกรรมการ และการใช้เงินเปอร์เซ็นต์จากการซื้อยาไปใช้เป็นสวัสดิการของเจ้าหน้าที่สปสช. ซี่งสตง.ได้ทำหนังสือถึงรมต.สธ.ให้สอบสวนให้เสร็จภายใน  1 เดือน(1) และมีคำสั่งตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคสช.ให้แก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(คำสั่งที่ 37/2559)

ขอเสนอความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ว่าควรจะทำอย่างไร?

การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ถ้ามาดูกฎหมายที่เป็นหลักในการแก้ไขกฎหมายในปัจจุบัน ก็คือพ.ร.ฎ.การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายพ.ศ. 2558

หลักการแก้ไขกฎหมายตามพ.ร.ฎ.การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายพ.ศ. 2558

ในการแก้ไขกฎหมายใดๆนั้น พ.ร.ฎ.การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายพ.ศ. 2558 มาตรา9(7) ให้พิจารณาทบทวนเรื่องดังต่อไปนื้

(7) การป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบจากการบังคับใช้กฎหมายนั้น

ฉะนั้นหลักการสำคัญในการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญก็มีเพียงหลักใหญ่ 3ประการเท่านั้นคือ

ประการที่1.การทำตามพ.ร.ฎ.การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายพ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7)

ประการที่ 2.การแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 โดยแก้ไขและขจัดจากต้นเหตุแห่งปัญหา ซึ่งสาเหตุแห่งปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้คือ

1.การบริหารงานที่ขาดธรรมภิบาล

2.สาเหตุการบริหารงานที่ขาดหลักธรรมาภิบาลเป็นมาอย่างยาวนานตลอด 15 ปี

2.1  คณะกรรมการมีแต่พวกเดียวกัน และบกพร่องต่อการกำกับสปสช. และได้รับผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่?

2.2 ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขตกอยู่ใต้อำนาจการ”สั่งการ”ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 3.การแก้ไขปัญหาผลกระทบที่มีต่อระบบการแพทย์ สาธารณสุข การประกันสุขภาพ และประชาชน ซึ่งมีผลกระทบดังนี้คือ

3.1. ผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข

  • ผลกระทบต่อระบบการประกันสุขภาพ

3.3 ผลกระทบต่อประชาชน

ข้อเสนอในการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

  1. การป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบจากการบังคับใช้กฎหมายนั้น ในข้อนี้ ขอเสนอว่าการจะป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในกรณีนี้ ซึ่งรับผิดชอบบริหารงบประมาณแผ่นดินปีละเกือบสองแสนล้านบาท ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ควรมีมาตรการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบดังนี้
    • ควรกำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกคน เลขาธิการสปสช. รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้อำนวยการทุกคนของสปสช.เป็นบุคคลตามาตรา 100 ของปปช.ที่จะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทุกปี (หมายเหตุ ที่ผ่านมา มาตรา 35 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้เลขาธิการสปสช.คนเดียวเท่านั้นที่เป็นบุคคลตามมาตรา 100 ปปช. ทำให้หลายเรื่องเลขาธิการสปสช.มอบให้รองเลขาธิการฯทำหน้าที่แทน) การที่ให้คณะกรรมการเป็นบุคคลตามาตรา 100 ด้วย จะทำให้คณะกรรมการสนใจตรวจสอบการบริหารงานของสปสช.อย่างเข้มงวดมากขึ้น) จึงขอเสนอให้แก้ไขมาตรา 35 ให้เพิ่มบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลตามมาตรา 100 ของปปช.ด้วย
    • การตรวจสอบภายในสปสช.นั้นได้กำหนดไว้ในมาตรา37 ให้มีสำนักงานตรวจสอบภายในขึ้นตรงต่ออนุกรรมการตรวจสอบและให้รายงานผลต่อเลขาธิการสปสช. ขอให้แก้เป็น ให้รายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการ เพื่อคานอำนาจกับเลขาธิการสปสช. เพื่อให้สำนักงานตรวจสอบและอนุกรรมการทำงานได้อย่างสุจริตโปร่งใสไม่ต้องเกรงกลัวเลขาธิการสปสช.
    • ตามมาตรา 43 เดิม ให้การตรวจสอบประเมินผลภายนอก ให้สตง.ตรวจสอบและรายงานผลต่อครม. แต่ที่ผ่านมาแม้สตง.จะตรวจสอบและท้วงติงการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง แต่กลับไม่มีมาตรการลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา จึงไม่ทราบว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร และกระทรวงการคลังก็เชื่อผลการตรวจสอบจากบริษัทเอกชน ให้รางวัลสปสช.เป็นหน่วยงานที่บริหารกองทุนดีเด่นหลายๆปี

แสดงว่าระบบการตรวจสอบภายนอกก็ไม่มีประสิทธิผล จึงขอเสนอว่าให้แก้ไขมาตรา 43 กำหนดให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เป็นผู้ตรวจสอบภายนอก  และรายงานตรงต่อประธานกรรมการ  แล้วรายงานต่อคณะกรรมการให้รับรองก่อนนำเสนอครม.และรัฐสภา

  • มาตรา 36 เดิม จะเห็นได้ว่าเลขาธิการสปสช.มีอำนาจเต็มที่แต่เพียงผู้เดียวในการให้คุณให้โทษ แก่บุคลากรของสปสช. ทำให้บุคลากรทั้งหลายไม่กล้าที่จะทักท้วงการทำงานของเลฃาธิการสปสช. จึงควรแก้ไขมาตรา 36ให้เลขาธิการรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อขออนุมัติในการออกคำสั่งเกี่ยวกับบุคลากรทั้งหมด
  1. การป้องกันแก้ไขการบริหารงานที่ขาดธรรมาภิบาลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
    • คณะกรรมการที่มาจากการสรรหา มักจะเป็นซ้ำซากหน้าเดิมๆ(2)  หลายคนเป็นกรรมการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค(เช่นนส.สารี อ๋องสมหวัง นางยุพดี สิริสินสุข นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล หรือกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล) บางคนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการแพทย์ทางเลือก แล้วกลับเข้ามาเป็นกรรมการในนามองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ  (นพ.วิชัย โชควิวัฒน) บางคนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันสุขภาพ แล้วกลับมาเป็นกรรมการผู้แทนองค์กรผู้สูงอายุ บางคนเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพติดกัน 2 วาระ แล้วย้ายมาเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานอีก 2 วาระ(นางยุพดี สิริสินสุข) นับได้ว่าเป็นตลอดต่อเนื่อง 4 วาระ 10 ปี  ทำให้น่าสงสัยว่า การสรรหากรรมการคงมีการเล่นพรรคเล่นพวกกันตลอด มีแต่พวกเดียวกัน  และมีการสืบทอดอำนาจการเป็นกรรมการไว้เฉพาะกลุ่มซึ่งมีผลให้การควบคุมดูแลการทำงานของสำนักงานตามมาตรา 19 เกิดความบกพร่อง ตามการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบทุกหน่วยงานใช่หรือไม่?  จึงขอเสนอการแก้ไขในมาตรา 13 ให้การกำหนดผู้มาเป็นกรรมการ และวิธีคัดเลือกหรือสรรหากรรมการควรแก้ไขมาตรา 13 ดังนี้
      • มาตรา 13 (1) ควรเปลี่ยนประธานกรรมการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะเป็นการบริหารกองทุน ไม่ใช่การบริหารมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุข จะทำให้ประธานกรรมการไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกรรมการหรือเลขาธิการสปสช.
      • มาตรา 13(2)กรรมการตามตำแหน่งนั้น ถ้าเอาปลัดกระทรวงต่างๆ ซึ่งมีภาระงานในกระทรวงของตนมากมายมหาศาลอยู่แล้ว ไม่สามารถมาประชุมด้วยตนเองได้ และไม่มีเวลาศึกษาเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างลึกซึ้ง ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อที่ประชุม จึงควรตัดกรรมการที่มาตามตำแหน่งให้เหลือเพียงปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเท่านั้น
      • มาตรา 13 (3) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเลือกจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน จะรู้ปัญหาชาวบ้านมากกว่า
      • มาตรา 13 (4)ผู้แทนองค์กรเอกชนนั้น เมื่อเลือกกันมาแล้ว บางองค์กรได้รับเลือกเป็นกรรมการทุกปี เช่นผู้แทนองค์กรด้านผู้ติดเชื้อเอดส์ได้เป็นทั้งกรรมการหลักประกันฯและกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานทุกวาระ แต่ขาดองค์กรเพื่อผู้พิการหรือผู้ป่วยจิตเวช ไม่เคยได้เป็นทั้งกรรมการหลักประกันฯหรือกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน แม้แต่องค์กรเอกชนด้านเด็กหรือเยาชน หรือด้านสตรี ที่มีกลุ่มประชากรมากกว่ากลุ่มเอดส์และผู้สูงอายุก็ได้เป็นกรรมการหลักประกันแค่กลุ่มละ 1 วาระเท่านั้น และเห็นได้มาแต่กลุ่มเอดส์ กลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯมากกว่า จึงขอเสนอให้เลือกจากอสม.มาแทน เพราะอสม.นอกจากจะมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพแล้ว ยังรับทราบปัญหาการเจ็บป่วยและความจำเป็นในการรักษาพยาบาล (Health Need) ของชาวบ้านดีที่สุด
      • มาตรา 13 (5) ผู้แทนผู้ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุข คงไว้เหมือนเดิม
      • มาตรา 13 (6)ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันสุขภาพ ควรให้กรมการประกันภัยเสนอมา ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการเงินการคลัง ก็ควรให้กระทรวงการคลังแต่งตั้งมา เป็นต้น เพราะการสรรหาก็ได้แต่กลุ่มเดิมๆยึดครองอำนาจมาตลอดระหว่างกลุ่มก่อตั้งสปสช.และรัฐมนตรี ถ้าสองกลุ่มนี้เข้ากันได้ดีสาธารณสุขก็สงบ ถ้าสองกลุ่มนี้เข้ากันไม่ได้ ก็จะเกิดการจัดตั้งขบวนการต่อต้าน
      • มาตรา 13 ควรเพิ่ม(7) ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เป็นกรรมการร่วมด้วย ได้แก่แพทย์/พยาบาล/บุคลากรอื่นๆ เป็นผู้แทนจากรพ.ศ./รพ.ท. /รพ.ช. /รพ.สต./สสจ//สส.อ
      • การคัดเลือกหรือสรรหากรรมการ ควรกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้คนละ 1 วาระเท่านั้น และห้ามเป็นกรรมการควบคุมหรือกรรมการหลักประกันไม่ว่าพร้อมกันหรือคนละวาระ
      • มาตรา 18 กรรมการ (1) ไม่ให้อำนาจในการกำหนด “มาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข” เพราะกรรมการบริหารกองทุนไม่ควรไปก้าวก่ายกับ “มาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุข”
      • มาตรา 18 (3) ไม่ควรกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุข แต่ถ้าจะกำหนด ต้องประกาศให้ประชาชนทราบว่า จะกำหนดให้รักษาอะไรได้หรือไม่ได้เท่านั้น ไม่ใช่ห้ามรักษาโน่นนี่นั่น แต่ไปโฆษณาหลอกลวงประชาชนว่า รักษาทุกโรค
      • มาตรา 18 (13) ต้องจัดรับฟังความเห็นจริงจากสถานพยาบาลและนำเผยแพร่แก่สาธารณชน และให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาของผู้ให้บริการ
      • มาตรา 37 การตั้งสำนักงานตรวจสอบขึ้นในสำนักงานทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบ แต่ขอแก้เป็น และรายงานต่อคณะกรรมการ (ไม่ให้รายงานต่อเลขาธิการ เพราะจะเกิดการเกรงกลัวอำนาจการให้คุณให้โทษของเลขาธิการสปสช. และอาจทำให้เลขาธิการไม่รายงานผลการตรวจสอบภายในต่อคณะกรรมการ)
    • ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขตกอยู่ใต้อำนาจการ”สั่งการ”ของสปสช. เนื่องจากเป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขในฝ่ายปฏิบัติงานเพียงคนเดียวเท่านั้น
      • การเพิ่มกรรมการมาจากผู้แทนผู้ที่ต้องปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังกล่าวในข้อ 2.1.7 และ การแก้ไขมาตรา 18(1) ในข้อ2.1.10 น่าจะทำให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขสามารถแก้ปัญหาการบริหารที่ขาดธรรมาภิบาลของการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ออกข้อบังคับให้แพทย์รักษาตามที่สปสช.สั่งได้
  1. การแก้ไขปัญหาผลกระทบที่มีต่อระบบการแพทย์ สาธารณสุข การประกันสุขภาพ และประชาชน ซึ่งมีผลกระทบดังนี้คือ
    • . ผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข ทำให้ขาดงบประมาณ ขาดคุณภาพมาตรฐาน จึงต้องแก้ไขดังนี้
      • การจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุขมาตรา 18(6) การออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยบริการตามม.18(13) ก่อน และต้องทำตามมติของการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 18(13) ด้วย เพื่อให้หน่วยบริการได้รับเงินเท่ากับต้นทุนการให้บริการจริง
      • เพื่อให้การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมีความความประหยัด คุ้มค่า สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบ และดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ควรแก้ไขมาตรา 13 (1) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมกรรมการ และแก้ไขมาตรา 24ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยงานราชการ ระดับกรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
      • ถ้าแก้ไขมาตรา 18 (1) ไม่ให้กรรมการมากำหนดมาตรฐานการบริการสาธารณสุข แล้วกรรมการไม่สามารถมาละเมิดสิทธิในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และไม่สามารถละเมิดสิทธิในการออกระเบียบบังคับการกำหนดการรักษาได้ จะทำให้มาตรฐานการบริการสาธารณสุขมีพลวัตรที่พัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและดำเนินการสอดคล้อง ทันสมัยกับระบบบริการสาธารณสุขของนานาอารยะประเทศ ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะติดกับดักการ “กำหนดมาตรฐานการบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ”จากระเบียบกฎเกณฑ์หริชือประกาศของสปสช. ตามที่เคยทำอยู่
      • ควรนำมาตรา 5 วรรคสองมาใช้ โดยกำหนดให้ประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลร่วมจ่ายอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ในกรณีผู้ป่วยนอก และ 5 เปอร์เซ็นต์ในกรณีผู้ป่วยใน ยกเว้นผู้ยากจนที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางราชการแล้วไม่ต้องร่วมจ่าย เพราะการประกันใดๆถ้าผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่มีหน้าที่ร่วมจ่ายในเวลาไปขอรับการรักษา (Claim ประกัน) ก็จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ไปขอรับการรักษาเกินความจำเป็น อย่าลืมว่า หลักการของการประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ไม่มีประเทศไหนในโลกให้การครอบคลุมการบริการสุขภาพได้ฟรี ยกเว้นจะต้องเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่าที่เก็บอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ซึ่งนับเป็นการจ่ายล่วงหน้าแบบหนึ่ง แต่ก็ต้องมีระเบียบการไปใช้บริการโรงพยาบาล ไม่ใช่ว่าไปใช้ได้ตามใจชอบ เพราะจะทำให้ระบบการบริการมีภาระหนักเกินความจำเป็น และผลสุดท้ายยประชาชนจะต้องเสียเวลาในการรอคอย และการหาเตียงนอนในโรงพยาบาล

การกำหนดให้ประชาชนร่วมจ่ายในการไปรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกจะทำให้ประชาชนมีความเอาใจใส่ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของตนเองและครอบครัว เนื่องจาการสร้างสริมสุขภาพและการป้องกันโรคสามารถทำได้ง่ายเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ให้เป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเลิกพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ เข่น การออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตร การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล การรักษาบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้สะอาด การรัปประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ถูกสุขลักษณะ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค การไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สิ่งเสพติด ตลอดจนการมีคววามรู้และสามารถปฐมพยาบาลการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้เอง

  • . ผลกระทบต่อระบบการประกันสุขภาพ ที่มีการกำหนด “ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข ทำให้สปสช.กำหนดการรักษาและการใช้ยา เพื่อประหยัดเงิน โดยละเลยกคุณภาพของการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยและสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทำให้การประกันสุขภาพให้การบริการที่ด้อยคุณภาพ จะเห็นได้ว่าถ้าแก้ไขมาตรา 18(1) แล้ว และเลิกการโฆษณาชวนเชื่อว่ารักษาทุกโรคแล้ว ระบบการประกันสุขภาพก็จะเกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามหลักการบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน แต่ควรจะเพิ่มมาตรา 6 วรรคแรกว่าให้บุคคลเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นหน่วยบริการประจำเท่านั้น และให้เลือกหน่วยบริการใกล้บ้าน หรือใกล้สถานที่ทำงาน หรือใกล้สถานที่พักพิงชั่วคราว เพราะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาทำงานต่างถิ่น และการย้ายหน่วยบริการสามารถแจ้งล่วงหน้าได้ภายใน 30 วัน ส่วนการที่จะต้องไปรับการรักษายังสถานบริการที่มีศักยภาพสูงขึ้น ต้องให้หน่วยบริการประจำ (ปฐมภูมิ)ส่งตัวไปนัดล่วงหน้าเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่เร่งด่วนหรือจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

การกำหนดเช่นนี้ เป็นการจัดระเบียบการใช้บริการทางการแพทย์ เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องพบแพทย์จะได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว และแพทย์มีเวลาตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐาน โดยประชาชนก็ได้รับความสะดวกในการไปรับการรักษา และได้รับการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน

  • ผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับการรักษาที่ด้อยคุณภาพ ได้รับความเสียหาย เสียเวลารอนาน โรงพยาบาลแออัด ไม่มีเตียงนอนพักรักษาตัว ต้องมีการกำหนดให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย และเลือกหน่วยบริการประจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น กล่าวคือผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาจากหน่วยบริการปฐมภูมิก่อน แล้วถ้ามีความจำเป็นในการไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่าหน่วยปฐมภูมิ ก็ต้องได้รับการส่งตัวไปจากหน่วยปฐมภูมิเท่านั้น

การแก้ไขการไปรับบริการเช่นนี้ เป็นไปตามแบบประเทศอังกฤษที่ประเทศไทยไปเลียนแบบการประกันสุขภาพของเขามา แต่เลียนแบบมาไม่หมด เนื่องจากเมื่อเริ่มต้นนั้น ระบบหลักปประกันสุขภาพแห่งชาติ กลายมาเป็นนโยบายประชานิยม ทำตามใจประชาชนโดยให้สิทธิเสรีภาพมากเกินไป โดยไม่กำหนดให้มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันกับหน่วยบริการ จนทำให้หน่วยบริการคือโรงพยาบาลต่างๆรับภาระไม่ไหว ประชาชนไปรอนานเสียเวลาเป็นวันๆกว่าจะได้รับการตรวจรักษา

  และไม่ได้ให้ความสนใจทำการส่งเสริมสุขภาพละป้องกันโรคอย่างจริงจัง คือละเลยในเรื่องนี้ แม้จะมีการพูดว่า “สร้างนำซ่อม” ก็ตามแต่สปสช.กลับมีการโฆษณาทุกวันว่า “รักษาทุกโรค” ประชาชนจึงมุ่งเน้นไปที่การ “รักษาโรค”มากขึ้น

 การแก้ไขในเรื่องการให้ประชาชนทำตามระเบียบการใช้บริการโรงพยาบาลเช่นนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องรอนาน ได้รับการตรวจรักษาตามความจำเป็นด้านสุขภาพของแต่ละคนอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และได้รับความเป็นธรรมและความสะดวกในการ “เข้าถึง”บริการ

 และควรแก้ไขมาตรา 18(3) กำหนดให้ประชาชนได้รับความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ  ป้องกันโรคและอุบัติเหตุ ให้มีการกำหนดให้มีสิทธิประโยชน์ในการตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค และให้ความรู้ประชาชนในการปฐมพยาบาลความเจ็บป่วยเล็กน้อยได้เอง ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยไม่ให้มีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.isranews.org/isranews-news/58717-news_html

สตง.จี้รมว.สธ.ตั้งกก.สอบสปสช.ใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ58 โครงการ 272 ล.

  1. http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000126405

ขอเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุขตรวจสอบด่วน! เกี่ยวกับกระบวนการสรรหากรรมการบอร์ด สปสช. และกรรมการควบคุม