ทำไมคนข้างนอกมองเราดีกว่าเรามองตัวเอง?

ทำไมคนข้างนอกมองเราดีกว่าเรามองตัวเอง?

ผมนั่งคุยกับคนเก่งคนมีวิชาความรู้นอกบ้านมักจะได้มุมมองอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับประเทศเราเองเสมอ

วันก่อนนักวิชาการที่มอบหนังสือของเขาให้ผมบอกว่าเมื่อเริ่มศึกษาศักยภาพของประเทศไทยอย่างจริงจังในช่วงหลังนี้จึงเห็นว่าประเทศนี้ควรจะเป็นศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของเอเซียอาคเนย์จริง ๆ

ศาสตราจารย์เฝิงท่าสวน ท่านนี้มีชื่อเสียงด้านเป็นนักฟิสิกซ์นิวเคลียร์ เกิดอินเดีย ไปเรียนหนังสือที่อเมริกาและมาสอนหนังสือที่ไต้หวันกับมาเก๊า

วันนี้แกมาจับเรื่องจีนและเอเซียโดยเฉพาะเรื่องเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ของจีนที่กำลังเป็นเรื่องร้อนๆ อยู่

ผมพบ ดร. เฝิงครั้งแรกที่ AIT กรุงเทพเพราะได้รับเชิญจากท่านอธิการบดี ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัยให้ขึ้นเวทีสัมภาษณ์หลังการบรรยายเรื่อง One Belt One Road ของจีนเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ก่อน

ด้วยความบังเอิญ ดร. เฝิงกับผมอยู่ที่สิงคโปร์พร้อมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงนัดหมายตั้งวงเสวนาบนโต๊ะอาหารเช้าก่อนขึ้นเครื่องบิน

ระหว่างพูดคุยกันเรื่อง One Belt One Road ว่าจะทำอย่างไรให้จีนได้ฟังความเห็นของประเทศเล็กๆ อย่างไทยและเพื่อนบ้านนั้น ดร.เฝิงก็เอ่ยขึ้นมาว่า “ผมเห็นไทยต่อรองกับจีนดีกว่ามาเลเซียเลยนะ”

ผมอธิบายให้แกฟังถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังเรื่องการเจรจาโครงไทยรถไฟไทยกับจีนเท่าที่ผมได้รับรู้ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจีนกำลังผงาดเป็นยักษ์ จึงมีเงื่อนไขหลายเรื่องที่เป็นประเด็นต้องต่อรองกันจนประชุมกันมาแล้ว 20 รอบก็ยังต้องเจรจากันต่อไป

ดร.เฝิงบอกว่าเดิมที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องไทยนั้นก็ยังไม่เข้าใจ แต่ยิ่งหาข้อมูลและสอบถามเรื่องราวของไทยก็เห็นว่าไทยน่าจะเป็นศูนย์กลางของโครงการนี้ในย่านนี้ด้วยซ้ำไป เพราะเหมาะสมด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์,​การเมือง, เศรษฐกิจและเกือบทุกด้าน

ผมบอกว่าคนไทยเป็นคนถ่อมตัว ไม่ค่อยจะมั่นใจในบทบาทการเป็นแกนนำนัก แม้ว่าตอนที่ตั้งอาเซียนนั้นไทยเราก็อยู่ในแถวหน้าของการก่อตัวให้เกิดองค์กรแห่งภูมิภาคแห่งนี้ก็ตาม

ผมฟังนักวิชาการเชื้อสายจีนที่ไปร่ำเรียนสหรัฐและอังกฤษท่านนี้วิเคราะห์ภาพประเทศไทยแล้วก็พอจะสรุปได้ว่าคนข้างนอกเขาเห็น “ของดี” ของไทยเรามากกว่าที่คนไทยเราเองมองเห็นตัวเอง

แน่นอนว่าเขาก็ย้อนกลับไปถึงการดำเนินนโยบายของไทยที่ทำให้ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นตะวันตก, การสร้างชาติด้วยการจับมือกับทุกฝ่ายในเวทีระหว่างประเทศ (แม้จะมีความขัดแย้งการเมืองภายในยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว) และการมีคนระดับมันสมองที่ไม่เป็นสองรองใครในอาเซียน

อีกทั้งยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับตลาดโลกโดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ที่กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

ผมบอกเขาว่าถ้าไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อหลายปีก่อนในประเทศไทย เราจะไม่รู้ว่าไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญขนาดนั้น เพราะพอเกิดอุทกภัยใหญ่ โรงงานทั้งหลายหยุดการผลิต โรงงานประกอบรถและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งโลกก็ได้รับผลกระทบโดยทั่วหน้ากัน

เขาถามผมว่า “แล้วทำไมคนไทยไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นฐานการผลิตสำคัญขนาดนี้มาก่อนหรือ?”

ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เพื่อนชาวสิงคโปร์คนหนึ่งคุยกันเรื่องจีนกับความสัมพันธ์ต่อประเทศอาเซียน...โดยเฉพาะกับสิงคโปร์และไทยที่ดูเหมือนจะมีอะไรติดใจกันอยู่ลึก ๆ

เขาบอกผมว่า “เราเฝ้าดูทิศทางของไทย ไทยเดินไปทางไหนกับจีนเราก็คอยปรับให้ไปทางเดียวกันเพราะเราเชื่อในความคล่องตัวของไทยในเรื่องนโยบายต่างประเทศ...”

ผมไม่แน่ใจว่าผู้นำสิงคโปร์คิดแบบเดียวกับเพื่อนชาวสิงคโปร์คนนี้หรือไม่ แต่ภาพอย่างนี้ ถ้าเราไม่ไปสัมผัสเอง ตั้งวงคุยกันอย่างลุ่มลึก แลกเปลี่ยนเรื่องซุบซิบการบ้านการเมืองระหว่างกันในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพแล้ว เราก็จะไม่ได้เห็นภาพของไทยในสายตาข้างนอก

แน่นอนว่าเขาถามถึงเรื่องราวในประเทศไทยหลายหัวข้อที่เขาสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็กระซิบถามเขาถึงเรื่องราวของบ้านเมืองเขาที่อาจจะไม่ปรากฏเป็นข่าว เราจึงเห็นภาพที่ชัดเจนและมีความเข้าใจตัวเราเองและเพื่อนบ้านเรามากขึ้นกว่าเพียงการเสพสื่อเท่านั้น

จีนเคืองสิงคโปร์เรื่องทะเลจีนใต้ที่เกาะแห่งนี้มีจุดยืนค่อนข้างจะเป็นตัวของตัวเองหลังมีคำพิพากษาศาลที่กรุงเฮกยืนยันว่าฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ร้องเรียนนั้นถูกต้องแล้วที่ท้าทายการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะแก่งทั้งหลายในทะเลจีนใต้

จีนมีเรื่องค้างคาใจกับไทยก็เรื่องการเจรจาเรื่องรถไฟไทยจีนที่ยืดเยื้อกันมารอบแล้วรอบเล่า

ที่เห็นได้ชัดคือภาพของศักยภาพไทยจากสายตาข้างนอกนั้นเป็นด้านบวกมากกว่าที่คนไทยเรากันเองวิเคราะห์, วิพากษ์, นินทาและซุบซิบกันอย่างแน่นอน

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ควรแก่การใคร่ครวญอย่างยิ่ง