การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกับการลงทุน

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกับการลงทุน

เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้นประเมินได้ว่ากำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป ขับเคลื่อนโดยการส่งออกและการท่องเที่ยว

นอกจากนั้นภาครัฐก็ยังเร่งการลงทุนและการใช้จ่าย เพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมีข้อสรุปว่า ขอให้รอต่อไปอีกไม่นานการขยายตัวของเศรษฐกิจก็จะกระจายตัวไปอย่างทั่วถึง

แต่ก็มีบทวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อ 24 ส.ค. กล่าวถึง การลงทุนของภาคเอกชน ที่อยู่ในระดับที่ต่ำมากมายาวนาน “และไทยก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการลงทุนได้สักที” โดยมีข้อสังเกตว่าปัจจุบัน การลงทุนมีความสัมพันธ์กับ การส่งออกลดลงจากสมัยก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ (ในปี 1997) ในช่วงดังกล่าวเมื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น 1% การลงทุนก็จะเพิ่มขึ้น 0.85% แต่ในระยะหลังวิกฤติ ถ้าการส่งออกเพิ่มขึ้น 1% การลงทุนจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.52% ในทำนองเดียวกันในช่วง 2003-2007 ความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนกับการบริโภคสูงถึง 91% แต่ในระยะหลัง (2010-2016) ความสัมพันธ์ ลดลงเหลือ 54% ซึ่งทำให้อาจสรุปได้ว่าการเพิ่มขึ้นของการส่งออกและการบริโภคจะไม่กระตุ้นการลงทุนให้เพิ่มขึ้นมากเช่นแต่ก่อน

บทความดังกล่าว ยังนำเสนอแนวคิดวงจรอุบาทว์ (Vicious Cycle) ซึ่งอธิบายการไม่ฟื้นตัวของการลงทุนว่า เป็นเพราะธุรกิจไม่ยอมรับผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำลง (ในโลกที่เปลี่ยนไป ทั้งในมิติของเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและเพราะต้นทุนของการระดมทุนของไทยสูง) จึงทำให้ไม่ลงทุนแต่ถือเงินสดหรือจ่ายเงินปันผลและไม่ยอมกู้เงิน (ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยก็ต่ำติดดินแล้ว)

ดังนั้น จึงยิ่งทำให้ภาคธุรกิจตั้งระดับอัตราผลตอบแทนที่ยอมรับได้(Hurdle Rate) เอาไว้ในระดับที่สูง ผลที่ตามมาคือการที่การลงทุนของไทยไม่สามารถฟื้นตัวได้ กล่าวคือทางแก้ปัญหาดูเหมือนว่าจะต้องกู้เงินให้มากขึ้น ผลตอบแทนการลงทุนจะได้เพิ่มขึ้น และ/จะต้องยอมรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง จึงจะทำให้ธุรกิจยอมลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการไม่ฟื้นตัวของการลงทุนของประเทศไทย

แต่การยอมรับผลตอบแทนที่ลดลงนั้น หากทำกันอย่างแพร่หลายย่อมหมายความว่าสินทรัพย์และกำลังการผลิตที่ลงทุนสร้างขึ้นมาในอนาคตที่จะส่งมอบต่อให้ลูกให้หลานของประเทศนั้น จะให้ผลตอบแทนลดลงและย่อมจะทำให้การขยายตัวโดยรวมของเศรษฐกิจลดลงไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เพราะผลตอบแทนของทุนใหม่ลดลงอย่างถาวรในระยะยาวจริง ก็คงจะต้องมีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนมาชี้แจงให้ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันและอนาคตจะต้องยอมรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และภาครัฐเองก็น่าจะต้องพิจารณาปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว พร้อมกันไปด้วย เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่ารายได้ต่อหัวของประชาชนคนไทยที่ 6,500 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีในปัจจุบันจะต้องเพิ่มขึ้นไปเป็น 15,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีภายในปี 2037 เทียบเท่ากับประเทศที่ร่ำรวยแล้วนั้น ก็ไม่น่าจะทำได้ หากการลงทุนของไทยโดยรวมจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำลง และจีดีพี ของไทยอาจต้องขยายตัว 3.5% ต่อปี ไม่ใช่ 5% ต่อปี ดังที่ตั้งเป้าเอาไว้ เป็นต้น

ผมขอย้ำว่าการลงทุนเป็นหัวใจสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพราะธุรกรรมทางเศรษฐกิจในแก่นสารนั้นมีเพียง 2 ประเภท คือ การใช้ทรัพยากรเพื่อบริโภค(และหมดไปต้องหาใหม่) ในปัจจุบัน หรือการยอมไม่บริโภคในปัจจุบันเพื่อให้เหลือทรัพยากรซึ่งนำไปสร้างกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้สามารถบริโภคได้มากขึ้นในอนาคต กล่าวคือ การลงทุนคือการยอมเสียสละไม่บริโภคในวันนี้เพื่อให้สามารถบริโภคได้มากขึ้นในวันหน้านั่นเอง

หากฟื้นการลงทุนไม่ได้ เศรษฐกิจก็จะไม่สามารถขยายตัวได้ และการลงทุนนั้นยิ่งมีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ (ให้ผลตอบแทนสูง) ก็หมายความว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเร็วมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น การลงทุนของประเทศสังคมนิยมในอดีต (ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของและ/หรือผู้ชี้นำการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจเป็นหลัก) จึงไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพเทียบเท่ากับประเทศที่อาศัยระบบทุนนิยมตลาดเสรี (ซึ่งนายทุนระดมทุนและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในเชิงของปริมาณและคุณภาพ) เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ในอดีตเราจะมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เช่น ความแตกต่างในส่วนของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจระหว่างเยอรมนีตะวันออก กับเยอรมนีตะวันตก เป็นต้น

ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยแน่ใจว่าการที่ธุรกิจยังพยายามที่จะแสวงหาผลตอบแทนขั้นต่ำที่รับได้ (Hurdle rate) ที่ค่อนข้างสูงนั้น จะเป็นต้นเหตุของวงจรอุบาทว์ และจะเป็นต้นเหตุที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งไม่ได้ และเมื่อเชื่อเช่นนั้นผมก็คงจะต้องหาคำอธิบายมาเล่าสู่กันฟังว่า ปัจจัยอะไรกันแน่ที่อาจจะกำลังฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยครับ