ธุรกิจเพื่อสังคมกับ สิทธิประโยชน์พิเศษจากรัฐ

ธุรกิจเพื่อสังคมกับ สิทธิประโยชน์พิเศษจากรัฐ

“ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือที่เรียกกันตามภาษาที่เป็นทางการว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม”

เป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายในการทำธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์ผลประโยชน์เชิงบวกต่อสังคม ผ่านความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันและสามารถในการทำกำไรได้เช่นเดียวกับธุรกิจโดยทั่วไป

โดยความหมายในเชิงลึกของ วิสาหกิจเพื่อสังคม จะหมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่

หรือมีเป้าหมายในการจัดตั้ง ตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน และนำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในกิจการของตนเอง หรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ก็คือธุรกิจที่มีการบริหารจัดการธุรกิจเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ทั่วไป เพียงแต่เป็นธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายจะใช้กำไรที่ได้รับจากธุรกิจ ไปเพื่อการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นเป็นหลัก ซึ่งจะแตกต่างกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจทั่วไปที่มีเป้าหมายสร้างกำไรเพื่อเป็นผลตอบแทนให้กับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นที่ได้ลงทุนในการก่อตั้งธุรกิจ

โดยที่รัฐบาล มีนโยบายสนับสนุนให้มีการประกอบกิจการเพื่อสังคมในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนทำให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการดูแลช่วยเหลือชุมชนและสังคม

จึงได้เสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับธุรกิจเพื่อสังคม ผ่านการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับ วิสาหกิจเพื่อสังคม ขึ้นในปี 2559 โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นที่ควรทราบ ดังนี้

  1. ยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำผลกำไรทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ไปลงทุนในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ โดยไม่มีการจ่ายเงินได้ในลักษณะของการปันผล หรือมีเงินลดทุนที่จ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้นในรอบบัญชีเดียวกันมากกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ
  2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่นำเงินไปลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม จะสามารถนำจำนวนเงินที่นำไปลงทุนนั้น หักออกจากเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำไปคำนวณภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้นๆ
  3. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ให้เงินหรือทรัพย์สิน บริจาคหรือโอนให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม ก็สามารถนำจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินนั้น หักออกจากเงินได้พึงประเมินที่ต้องไปคำนวณภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้นๆ

ส่วนเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นๆ ที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฏีการฉบับนี้ ได้แก่

  1. จะต้องมีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” อยู่ในชื่อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นด้วย
  2. จะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจากกระทรวงการคลังกำหนด
  3. จะต้องยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามแบบที่กระทรวงการคลังกำหนด
  4. ไม่มีการขอเปลี่ยนแปลงประเภทการประกอบกิจการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นกิจการประเภทอื่น ก่อนครบ 10 รอบบัญชี นับตั้งแต่รอบบัญชีแรกที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
  5. ไม่เป็นคู่สัญญากับผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วน และไม่มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนใดๆ ให้กับผู้ถือหุ้น หุ้นส่วน รวมถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วน

จะเห็นได้ว่า ในยุคของสังคมของการแบ่งปัน ธุรกิจที่แสวงหากำไร ก็มีแนวทางที่จะแบ่งบันผลตอบแทนที่สร้างขึ้นมาได้จากความสามารถในการทำธุรกิจ เผื่อแผ่ไปให้กับสังคมโดยรวมได้อีกทางหนึ่ง

และยังจะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากภาครัฐ ที่จะทำให้สร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมได้อีกต่อไป เพื่อความยั่งยืนของสังคม