สังคม “ขนมชั้น”

สังคม “ขนมชั้น”

ในช่วงสิบปีหลังนี้ หากมีข่าวอะไรที่เกี่ยวพันกับการกระทำของคนรวยต่อคนจนมักจะกลายเป็นประเด็นร้อนแรงทันทีและพร้อมจะขยายวงออกไปได้อย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ อุบัติเหตที่เกิดจากคนรวยขับรถราคาแพงแล้วไปชนคนธรรมดาทั่วไป เราอาจจะใช้คำที่แทนอารมณ์ความรู้สึกทำนองนี้ได้ว่าเป็นความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไปที่ “เหม็นหน้า” คนรวยมากขึ้น

อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ครับ เพราะในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เคยปฏิเสธ “คนรวย” และจะถือเอา “ความรวย” เป็นเป้าหมายของความสำเร็จของชีวิตตลอดมา หากลองทบทวนดู ก็จะพบว่าขุนช้างที่ดูไม่น่ารักและออกจะน่ารังเกียจนั้น ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนรวย หากแต่เป็นเพราะบุคลิกนิสัยและหน้าตาของขุนช้างต่างหากที่น่ารังเกียจ วรรณกรรมไทยจำนวนมากกว่ามากก็จะเน้นบทบาทของพระเอก/ตัวเอกให้อยู่ในสถานะสูงและร่ำรวย เจ้าสัวจำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ทำให้สังคมไทยรู้สึกไม่พอใจแต่ประการใด

ในอดีตนั้น คนรวยกับคนจนอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน ความรวยและความจนไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตแตกต่างกันอย่าง

หน้ามือเป็นหลังมือ ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและจริยธรรมของชุมชนสามารถที่จะกำกับพฤติกรรมของคนรวยไม่ให้ละเมิดใครต่อใครได้ตามอำเภอใจ พร้อมกันนั้น ประเพณีส่วนใหญ่ของสังคมก็จะทำให้เกิดจังหวะที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดในช่วงเวลาหนึ่งๆ รวมไปถึงการเรียกร้องให้คนรวยต้องทำบุญมากกว่าคนอื่นก็ทำให้สายสัมพันธ์ทางสังคมไม่ตึงเครียดจนเกินไป

จินตนาการต่อสังคมของทั้งคนรวยและคนจนไม่ได้แยกห่างหรือแตกต่างกัน คนรวยหรือคนจนก็ต้องไปหาหลวงตาคนเดียวกัน ไม่หาหมอตำแยคนเดียวกันเพื่อให้มาทำคลอดลูกตนเอง งานศพก็ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านคนอื่นๆเหมือนๆกัน

หากเราจะลองเรียบเรียงดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยส่งผลกระทบลึกลงไปสู่อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ก็จะพบว่ามีหลายด้านทีเดียว

ความเปลี่ยนแปลงด้านแรกได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีสูงมากขึ้น เพราะรัฐไทยเป็นรัฐของกลุ่มทุน จึงไม่เคยเลยที่จะคิดและมีนโยบายอะไรในการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญ ก็คือ ความต่อเนื่องของรัฐนายทุนที่ครองอำนาจมาโดยตลอดนี้ ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นโครงสร้างที่มั่นคงสถาพรไปแล้ว เพราะระบบเศรษฐกิจที่สถาปนาจนเข้มแข็งขึ้นมาได้ด้วยการสร้างความเหลื่อมล้ำนี้ จะไม่มีวันเปิดโอกาสให้เกิดการเลื่อนฐานะทางชนชั้นได้อย่างแท้จริง

ความเหลื่อมล้ำที่ถูกจรรโลงโดยรัฐได้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกได้ถึงการไม่มีโอกาสในชีวิตที่จะขยับเลื่อนชนชั้นได้ ความรู้สึกเช่นนี้ได้ดำเนินมาเนิ่นนาจนฝังลึกลงไประบบอารมณ์ความรู้สึก

ความเปลี่ยนแปลงด้านที่สอง ได้แก่ การสร้างวิถีชีวิตที่ฉีกขาดออกจากกัน กล่าวคือ กลุ่มคนรวยได้สถาปนาการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาอีกลักษณะหนึ่ง โดยพยายามทำให้เป็นเสมือนเป้าหมายที่ดีของชีวิตที่ทุกคนควรจะใฝ่หา แต่เนื่องจากความเหลื่อมล้ำที่เป็นปราการเหล็กทำให้คนอื่นๆเดินไปตามวิถีชีวิตของคนรวยไม่ได้ ยิ่งทำให้วิถีชีวิตความฟุ่มเฟือยที่คนส่วนใหญ่ไม่มีทางไปถึงได้นั้นกลายเป็นดาบสองคมที่กลับทำให้เกิดความหมั่นไส้และเหม็นหน้าได้ง่ายมากขึ้นแทนที่จะสามารถสถาปนาเป็นวัฒนธรรมหลักได้เหมือนสิ่งที่ชนชั้นสูงไทยเคยทำสำเร็จในสมัยก่อนหน้านี้

ความเปลี่ยนแปลงทั้งสองด้านนี้ ส่งผลทำให้จินตนาการต่อสังคมของคนอย่างน้อยสองกลุ่มในสังคมไทยแตกต่างกันมากขึ้นทุกที จินตนาการ“ สังคม” ที่คนทุกคนได้มีส่วนร่วมกันจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและจะร่วมกันก้าวเดินไปสู่อนาคตนได้สูญสลายไปแล้ว เพราะ “สังคม” ที่แต่ละกลุ่มจิตนาการถึงเป็นเพียงส่วนของความสัมพันธ์ภายในกลุ่มของตนเองเท่านั้นไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงต่อเนื่องกันเลย กลุ่มคนรวยบางกลุ่มอาจจะคิดถึงการออกไปบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยคนจนในฤดูหนาวและคิดว่าตนเองทำเพื่อสังคม แต่ในความเป็นจริงก็เป็นเพียงการตอบสนองความรู้สึก “ โน้มกาย”ลงไปช่วยผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเท่านั้นไม่ใช่การจินตนาการถึงการสร้างสังคมโดยรวมแต่ประการใด การทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม ( CSR)ของบริษัทใหญ่ๆทั้งหลายก็เป็นเพียงการโฆษณาแบบเท่ๆ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ทีทำด้านวัสดุก่อสร้างก็ใช้วิธีนี้เพื่อลดต้นทุนในการจัดการปัญหาในพื้นที่งานของตนเท่านั้น

กลไกทางสังคมหรือจริยธรรมของสังคมก็ไม่มีพลังเหลืออยู่พอที่จะกำกับพฤติกรรมของผู้คน เพราะในด้านหนึ่ง เราหันไปหากฏหมายซึ่งก็ไม่ได้เรื่องเพราะมักจะหันเหเข้าไปอยู่ฝ่ายคนรวย อีกด้านหนึ่ง เราก็ทำให้จริยธรรมทางสังคมลดเหลือแค่ศีลธรรมส่วนบุคคลเท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จึงทำให้สังคมไทยวันนี้ เป็นสังคม “ ขนมชั้น” ที่คนแต่ละชั้นสัมผัสกันอยู่และวางเรียงกันเป็นรูป แต่ไม่ได้ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อเดียวกันของขนมจึงมีเพียงในแต่ละชั้นเท่านั้นและระหว่างชั้นก็ถูกดึงแยกออกจากกันได้โดยไม่ยากเย็นอะไร สังคม “ ขนมชั้น” เช่นนี้ จึงแฝงไว้ด้วยความตึงเครียดระหว่างชั้นตลอดเวลา ปรากฏการณ์ความเหม็นหน้าคนรวย/คนจนที่เกิดขึ้นถี่มากขึ้นเป็นการปะทุครั้งคราวของความตึงเครียดนี้ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าความตึงเครียดนี้จะระเบิดขึ้นเมื่อไรและออกมาในรูปลักษณะใด

สังคม “ ขนมชั้น” จึงไม่ใช่ “สังคมไทย” แบบที่เราท่านเคยรู้จักหรือเคยมีจินตนาการร่วมกัน ความตึงเครียดทางสังคมจึงเหมือนกับเราทั้งหมดนั่งทับระเบิดเวลาเอาไว้ ทางเลือกก็เหลือสองทางครับ ทางแรก ก็คือนั่งรอเวลาการระเบิด อีกทางหนึ่ง คือช่วยกันหาทางถอดระเบิดเวลาครับ