แข่งด้วย “คุณค่า” ไม่ใช่ “ราคา”

แข่งด้วย “คุณค่า” ไม่ใช่ “ราคา”

ยิ่งถูกอ้างอิงมากย่อมแสดงให้เห็นว่าผลงานนั้นทรงคุณค่ายิ่งนัก งานวิจัยจึงทำให้โลกของเราพัฒนาไปได้กว้างไกล เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันโดยแท้

แม้ว่า “นวัตกรรม” จะเป็นคำที่เริ่มคุ้นหูและกล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน จนบางครั้งอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าคือสิ่งใหม่ และเข้าใจกันผิดว่า “มันทำได้ง่าย” อะไรๆก็เป็นนวัตกรรมได้ แค่คุณทำอะไรขึ้นมาใหม่แบบที่คุณไม่เคยทำมาก่อน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้นิยามกันแบบง่ายๆอย่างนั้น


ในทางวิชาการ ผลงานและรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาและผ่านการยอมรับจนไปปรากฎในวารสารทางวิชาการชั้นนำหรือนำเสนอในการประชุมทางวิชาการนานาชาติ “คุณค่าของงานวิจัย” จึงไม่ได้จบลงแค่นั้น หากแต่อยู่ที่การ “การอ้างอิง (Citation)” ที่เป็นกฎกติกาสามัญในวงวิชาการ ช่วยทำให้เห็นภาพว่าผลงานวิจัยหนึ่ง ได้สร้างผลกระทบออกไปในวงกว้าง ก่อให้เกิดผลงานวิจัยใหม่ๆที่เกี่ยวเนื่องมากน้อยเพียงใด


ยิ่งถูกอ้างอิงมากย่อมแสดงให้เห็นว่าผลงานนั้นทรงคุณค่ายิ่งนัก งานวิจัยจึงทำให้โลกของเราพัฒนาไปได้กว้างไกล เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันโดยแท้


ในทางธุรกิจได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากงานวิจัยแม้ว่าผลงานจำนวนมากอาจจะเป็นการวิจัยพื้นฐาน เป็นการค้นพบสิ่งใหม่ๆหรือช่วยอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆในโลกที่เราไม่เข้าใจมาก่อนก็ตามแต่ก็มีคุณูปการณ์อย่างมากต่อการวิจัยเชิงประยุกต์ อาทิ การค้นพบปรากฎการณ์ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างแสงและไฟฟ้า (Photo Electric Effect) ของนักฟิสิกส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก่อให้งานวิจัยต่อเนื่องอีกมากมาย

“คุณค่าของนวัตกรรม” จึงไม่ได้จบที่การยื่นจดสิทธิบัตร (Patent) จนได้รับความคุ้มครองตามข้อถือสิทธิ์ที่ยื่นจดไว้ หากแต่อยู่ที่ความแพร่หลายและคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น


การจัดการนวัตกรรมจึงเป็นการจัดการเชิงกระบวนการ แม้ว่าความคิดสร้างสรรค์ ช่วยจุดประกายให้เกิดความคิดริเริ่มที่จะออกไปจากกรอบความคิดเดิม แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าทุกความคิดจะผ่านการพิจารณาและนำไปพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมเสมอไป หากแต่ยังต้องผ่านกระบวนการอีกมากมายเพื่อให้แน่ใจว่าเงินลงทุนที่จะใส่เข้าไปนั้นจะไม่สูญเปล่า


การเข้าเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรม SCG Open Innovation Center ทำให้เรารู้ว่าสถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่เป็น ประตูที่เชื่อม SCG กับเครือข่ายภายนอกในด้านงานวิจัยและนวัตกรรม นอกเหนือจากการทำงานร่วมกันภายในเครือเพียงลำพัง


การถือกำเนิดเกิดขึ้นของธุรกิจซิเมนต์ของไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 (ปี ค.ศ. 1913) เติบโตมาตามลำดับพร้อมกับความเจริญของประเทศไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ตึกอาคารสำนักงาน และบ้านเรือนต่างๆ จนเป็นบริษัทมหาชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และขยายไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องจนอาจกล่าวได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของ SCG สามารถนำมารวมกันแล้วสร้างบ้านได้ทั้งหลัง


แต่กระนั้นก็ยังไม่ทำให้ SCG หยุดการพัฒนา เป็นตัวอย่างของบริษัทของไทยที่ควรชื่นชมยกย่องทั้งในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การบริหารงานอย่างเป็นระบบ และเป็นต้นแบบให้กับบริษัทของไทยอีกจำนวนมากในการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ยุคใหม่ที่มีความทันสมัย ทั้งในแง่ของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลแล้วได้ขยับจากธุรกิจผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่แข่งด้วย “ราคา” และการลดต้นทุน ไปสู่การผลิตสินค้านวัตกรรมที่มีความพิเศษและลักษณะเฉพาะ


การได้ติดตามคณะศึกษาดูงานจากหลากหลายบริษัทของไทย ที่ประสานงานและจัดการโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตาและค้นพบว่า SCG มีนวัตกรรมที่เราไม่รู้และคาดไม่ถึงอีกมาก หลายอย่างแฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อุปโภคบริโภคทั่วไป อีกหลายอย่างกำลังจะทยอยออกมาสู่ตลาดให้พวกเราได้เลือกใช้ จนมีสัดส่วนถึง 38% ของรายได้รวม (ปี ค.ศ. 2016) ทั้งๆที่เมื่อปี 2004 รายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่เพียงแค่ 4% ของรายได้รวมเท่านั้น

ผู้บรรยายยังได้อธิบายให้คณะดูงานเห็นภาพว่ากว่าจะเป็นนวัตกรรมที่นำเข้าสู่ตลาดได้นั้นต้องผ่านกระบวนการคัดกรองหลายขั้นตอน อาทิ การศึกษาถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาด (Market insight) การพัฒนาแนวคิดใหม่ (Concept development) การคิดค้นวิจัย (Research development) การพัฒนาผลิตภันฑ์และต้นแบบ (Product and Prototype) การวางแผนและจัดซื้อ (Plan and procurement) การนำไปสู่การผลิตจริง (Engineering and Maintenance) และการทำให้นวัตกรรมนั้นเป็นที่แพร่หลายและยอมรับจากตลาด (Commercialization)


ที่สำคัญกระบวนการทั้งหมดนั้นจะต้องผ่านการประเมินความเป็นไปได้อย่างรัดกุมเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวน้อยที่สุด และแน่นอนไม่ได้ประเมินเพียงด้านเดียว แต่ต้องมองให้รอบด้าน ได้แก่
- ความเป็นไปได้ทางการตลาด (Market feasibility) เพื่อให้แน่ใจว่ามีตลาดรองรับจริง มีผู้ซื้อที่พร้อมจะจ่ายให้กับคุณค่าที่มีความพิเศษและหาไม่ได้ทั่วไปมีขนาดตลาดที่มีปริมาณมากพอจะทำให้ต้นทุนไม่สูงจนเกินไปและสามารถกำหนดราคาที่ก่อให้เกิดมูลค่าตลาดที่สูงพอ
- ความเป็นไปได้ทางการเงิน (Financial feasibility) ความเสี่ยงจากการลงทุน สภาพคล่องและระยะเวลาคืนทุน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับเงินกองทุนของบริษัทว่ามีมากเพียงพอโดยไม่ต้องไปกู้เงินจนเป็นภาระ เพราะเราทราบกันดีอยู่แล้วว่านวัตกรรมอาจไม่ทำเงินเสมอไป มีผลงานนวัตกรรมในโลกนี้อีกมากที่ไม่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจและต้องปิดตัวเองหรือเลิกผลิตไปในที่สุด
- ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี (Technology feasibility) ความสามารถในการที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จากแนวคิดที่วางไว้
ไม่ว่าจะใช้นักวิจัยภายในหรือจะทำการคิดค้นร่วมกับนักวิจัยภายนอกตลอดจนถึงการซื้อเทคโนโลยีบางส่วนจากภายนอกเข้ามาร่วมด้วยก็ตาม คำว่า “Open Innovation” จึงทำให้บริษัทสามารถจะขยายขีดความสามารถได้มากกว่าการที่จะมานั่งทำเองเสียทุกอย่าง

 ด้วยการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และมีการรณรงค์ส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่องและจริงจังเป็นเวลา 10 กว่าปี ถึงวันนี้ SCG ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของบริษัทคนไทยอีกบริษัทหนึ่งซึ่งใจกว้างและแบ่งปันความรู้ให้กับบริษัทของไทยอืนๆได้เรียนรู้ นำแนวทางไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรตนเอง ถ้ามีบริษัทของไทยที่มุ่งงมั่นพัฒนาและยกระดับไปสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจำนวนมาก ๆการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงน่าจะอยู่อีกไม่ไกล