การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เมื่สัปดาห์ที่แล้วสภาพัฒน์ฯ ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 โตดีเกินคาดที่ 3.7% (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า จีดีพี ขยายตัว 3.4%)ทำให้มีข้อสรุปว่า

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีเสียงบ่นว่าเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดีมากนัก โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า ในส่วนของ เอสเอ็มอี (ที่หนี้เสียยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น) และเศรษฐกิจในต่างจังหวัดก็ยังไม่ได้คึกคักมากนัก

ผมจึงขอนำเอาตัวเลขการขายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้มาเปรียบเทียบกับตัวเลขเดียวกันของครึ่งแรกปีที่แล้วดังนี้

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมนั้นขยายตัว 3.5% ในครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อย (3.4%) แต่การบริโภคและการลงทุน (ซึ่งรวมภาครัฐและเอกชน) ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน รัฐบาลอธิบายว่าเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นแล้วในไตรมาส 2 นี้ ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายภาครัฐจึงมีความจำเป็นน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง

ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน(คือการเอาราคาน้ำมันและอาหารสดที่มีความผันผวนออกจากการคำนวณเงินเฟ้อ) นั้น ปรับลดลงจาก 0.73% ใน 7 เดือนแรกของปีที่แล้วมา เป็น 0.55% ใน 7 เดือนแรกของปีนี้ ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 23,500 ล้านดอลลาร์ในครึ่งแรกของปีนี้ แปลว่า ประเทศไทยขายสินค้าและบริการให้กับต่างชาติ (รายได้) มากกว่า ซึ่งสินค้าและบริการ (รายจ่าย) สูงประมาณ 10% ของ จีดีพี ผมได้เคยกล่าวในบทความก่อนหน้าแล้วว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น มองในแง่ดีคือ การที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้น จะเป็นประโยชน์ในการทำให้เงินบาทแข็งค่าหรือ ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น หรือทั้งสอง

แต่มองอีกแง่หนึ่ง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแปลว่า กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ ทำให้ผู้ผลิตต้องมุ่งไปขายสินค้าและบริการในต่างประเทศให้คนต่างชาติบริโภคซึ่งการที่เงินเฟ้อในประเทศตกต่ำอย่างต่อเนื่องมา 3-4 ปี น่าจะเป็นการยืนยันเรื่องนี้ กล่าวคือ หากมองกลับไปดูทิศทางของเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (เพื่อจะได้ไม่ต้องถกเถียงกันเกี่ยวกับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและอาหาร) ก็จะพบว่าเงินเฟ้อพื้นฐานเมื่อ 3 ปีที่แล้วเคยสูงถึง 1.8% แต่ปัจจุบันหล่นลงมาเหลือเพียง 0.5%

เงินเฟ้อที่ตกต่ำมานานนั้น นอกจากจะสะท้อนความไม่แข็งแรงของกำลังซื้อในประเทศแล้ว ก็ยังจะเป็นปัญหาในระยะยาวได้ เห็นได้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่น ตอนที่ฟื้นตัวหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1989 ซึ่งรัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเป็นหลักต่อเนื่องมา 20 ปี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จีดีพีญี่ปุ่นขยายตัวอย่างกระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด

ที่สำคัญคือดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) ของญี่ปุ่นไม่เปลี่ยนแปลงเลยในช่วง 1993-2013 (ราคาสินค้าไม่ปรับเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 20 ปี) จนนำไปสู่การดำเนินนโยบาย คิวคิวอี คือ การพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรและเพิ่มสภาพคล่องอย่างล้นเหลือ ทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นติดลบ และดอกเบี้ยระยะยาว (ผลตอนแทนพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น) อยู่ที่ 0% ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายว่าต้องการให้เงินเยนอ่อนค่าและเงินเฟ้อปรับขึ้นมาเป็น 2% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง จึงจะยุติการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตร

ญี่ปุ่นนั้นมีปัญหาโครงสร้างคือ ประชากรกำลังลดลงและมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังนั้นนักลงทุนญี่ปุ่นจึงต้องนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับด้วยความกังวลในระดับหนึ่งว่า โครงสร้างประชากรของประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่แนวโน้มเดียวกันกับญี่ปุ่น กล่าวคือประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน (ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะมีกำลังซื้อเพราะมีรายได้) มีจำนวนสูงสุดในปี 2013 ที่ 39.4 ล้านคน และจากนั้นเป็นต้นมาก็ปรับลดลงทุกปี จนตัวเลขล่าสุดกลางปีนี้เหลือ 38.2 ล้านคน ลดลงไป 1.2 ล้านคน และตัวเลขของคนที่มีงานทำก็ลดลงเช่นกัน จาก 38.9 ล้านคน ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในปี 2013 มาเหลือ 37.5 ล้านคน ในกลางปีนี้ ลดลง 1.5 ล้านคน การที่คนมีงานทำลดลงย่อมสะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศน่าจะขยายตัวได้ช้าลงกว่าสมัยก่อน

ดังนั้น เราจึงเริ่มเห็นการไหลออกของเงินทุนจากประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นจาก 3,360 ล้านเหรียญ ในครึ่งแรกของปีที่แล้วมาเป็น 13,700 ล้านเหรียญ ในครึ่งแรกของปีนี้ แต่การไหลออกดังกล่าวก็ยังน้อยกว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทยังแข็งค่าขึ้นในครึ่งแรกของปีนี้ครับ