หุ่นยนต์แนะนำการลงทุน

หุ่นยนต์แนะนำการลงทุน

หุ่นยนต์แนะนำการลงทุน

หลังจากที่ดิฉันเขียนว่าเงินไหลออกจากกองทุนหุ้นในตลาดสหรัฐ เงินก็ไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงบ้านเรา 4 สัปดาห์ต่อเนื่อง ซึ่งเกิดแรงมากในสัปดาห์ที่แล้ว หวังว่าผู้ลงทุนจะรู้สึกดีนะคะ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังและเลือกลงทุนให้ดีค่ะ

สัปดาห์นี้จะขอเขียนถึงหุ่นยนต์แนะนำการลงทุน หรือ Robo Advisor ซึ่งก็คือการให้คำแนะนำในการลงทุนแบบใช้ความคิดเห็นของบุคคลเข้าไปเสริมให้น้อยที่สุด ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ใช้หุ่นยนต์จริงๆ แต่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการจัดพอร์ตการลงทุน ตามข้อมูลและสถิติที่ได้ใส่เอาไว้ล่วงหน้า และประมวลให้เข้ากับ วัตถุประสงค์ในการลงทุน ความต้องการ เป้าหมาย และข้อจำกัดของผู้ลงทุนแต่ละคน

โรโบแอดไวเซอร์ เริ่มขึ้นในปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในซีกโลกตะวันตกครั้งล่าสุดนั่นแหละค่ะ และค่อยๆเติบโตเรื่อยมา โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการในลักษณะนี้ทั่วโลกประมาณ 100 บริษัท การให้บริการก็มีตั้งแต่ไม่กำหนดขั้นต่ำของการลงทุนเลย จนถึงกำหนดขั้นต่ำน้อยๆ เช่น 500 เหรียญสหรัฐ ขั้นกลาง เช่น 2,000-5,000 เหรียญ และ ขั้นสูง เช่น 75,000 เหรียญ ต่อการเปิดบัญชีหนึ่งบัญชี

การคิดค่าธรรมเนียมในการให้บริการก็แตกต่างกันค่ะ คือบางแห่งที่มีธุรกิจจัดการลงทุนที่มีชื่อเสียง ก็อาจจะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการให้บริการคำแนะนำในการลงทุน เช่น Charles Schwab ให้คำแนะนำโดยหุ่นยนต์แนะนำฟรี หากเปิดบัญชีลงทุน 5,000 เหรียญขึ้นไป เป็นต้น

แต่บางแห่งก็มีการคิดค่าบริการ เป็นสัดส่วนของเงินลงทุน โดยทั่วไปประมาณ 0.25-0.40% ซึ่งถือว่าไม่สูงมาก แต่ก็ไม่ต่ำนะคะ สำหรับคำแนะนำโดยหุ่นยนต์

เจ้าใหญ่ที่สุดของการให้บริการแนะนำโดยหุ่นยนต์ ในขณะนี้ คือ Vanguard Personal Advisor Service เริ่มเปิดให้บริการในปี 2556 ปัจจุบันมีเงินภายใต้การแนะนำ/บริหาร 51,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.73 ล้านล้านบาท ตามมาด้วยเจ้าเก่าแก่กว่า คือ Betterment ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันมีเงินภายใต้การแนะนำ/บริหาร 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 248,000 ล้านบาท และ Wealthfront ซึ่งเปิดบริการในปี 2553 เช่นกัน ปัจจุบันมีเงินภายใต้การแนะนำ/บริหาร 5,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 170,000 ล้านบาท

โรโบแอดไวเซอร์ เจ้าอื่นๆ ชื่ออาจะไม่เป็นที่คุ้นหูมากนัก เช่น Personal Capital, SigFIg, Rebalance IRA, WiseBanyan, Wealthsimple, Blooom, TradeKing Advisors, Hedgeable, FutureAdvisor อาจจะมีเจ้าที่ชื่อคุ้นหูหน่อยคือ Charles Schwab ที่กล่าวถึงไป ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการในลักษณะนี้ในปี 2558 และไม่เปิดเผยว่ามีเงินภายใต้การแนะนำ/จัดการ ในลักษณะโรโบแอดไวซ์ จำนวนเท่าใด

ความนิยมในโรโบแอดไวเซอร์ เกิดขึ้นเพราะผู้ลงทุนเห็นว่าค่าใช้จ่ายต่ำ และบริการรวดเร็ว โดยเฉพาะสามารถใช้บริการได้ด้วยจำนวนเงินลงทุนไม่สูง ต่างจากการบริการบริหารความมั่งคั่งในลักษณะ Private Banking ซึ่งเงินลงทุนเริ่มต้นจะต้องสูง เช่น 10 ถึง 50 ล้านบาท และความนิยมนี้แพร่หลายรวดเร็ว โดยบริษัทที่ปรึกษา A.T. Kearney คาดว่า เงินภายใต้การแนะนำในอีกห้าปีข้างหน้าจะเติบโตไปถึง 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 75 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบางเจ้า ยังให้บริการเสริมในการให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำอีกด้วย หากมีเงินลงทุนขั้นต่ำอยู่แล้วบางส่วน ทำให้ผู้มีเงินลงทุนก้อนไม่ใหญ่ สามารถกู้มาลงทุนเพิ่มได้

แต่ดิฉันไม่เคยเห็นด้วยกับการกู้มาลงทุนส่วนบุคคลตั้งแต่ไหนแต่ไร และตั้งแต่บริษัทเหล่านี้ตั้งขึ้นมา ตลาดทุนยังไม่มีการปรับตัวครั้งใหญ่เลย ดังนั้น ผลการลงทุนที่ผ่านมาจึงเป็นผลในช่วงของของตลาดขาขึ้น ซึ่งมีแต่ผู้ชนะ ได้กำไรจากการลงทุนมาทุกปี เพียงแต่จะได้มากได้น้อยต่างกันเท่านั้น

ดิฉันมองว่า ต้องให้ผ่านช่วงเวลาการปรับฐานไปอีกหนึ่งวัฏจักร จึงจะพิสูจน์ได้ว่า หุ่นยนต์ของผู้ให้บริการายใดจะเก่งกว่ากัน และจะเก่งกว่าคนที่ให้คำแนะนำในการจัดสรรการลงทุนจริงหรือไม่

นักวางแผนการเงินก็ต้องระวังนะคะ หากไม่ฝึกปรือให้คงความเก่งได้ในทุกสถานการณ์ จะถูกหุ่นยนต์แย่งงานไปค่ะ

สุขสันต์วันสาร์ทจีน และพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ