ลงทุนต่างประเทศต้องระวังเดือน ก.ย.

ลงทุนต่างประเทศต้องระวังเดือน ก.ย.

ลงทุนต่างประเทศต้องระวังเดือน ก.ย.

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงไม่กี่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และผลกระทบจากเฮอร์ริเคนฮาวีย์ น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุนในระยะสั้นๆ แต่ในเดือน ก.ย. ข้างหน้านี้ มี 2 ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลต้องปิดตัวลง (Government Shutdown) และเรื่องการประกาศลดการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางที่สำคัญต่างๆ ซึ่งอาจจะเข้ามากดดันตลาดได้มากกว่า 2 เหตุการณ์แรกที่กล่าวถึง

สำหรับเรื่องเพดานหนี้สาธารณะนั้น เป็นผลจากการที่สหรัฐฯ กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้เป็นมูลค่า (Value) แตกต่างจากหลายประเทศที่กำหนดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ซึ่งข้อเสียของวิธีของสหรัฐฯ คือการที่ “เพดาน” จะไม่เติบโตไปตามเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้รัฐสภาของสหรัฐฯ (Congress) จะต้องมาขยาย “เพดาน” นี้เป็นครั้งคราว และในแต่ละครั้งที่จะขยายเพดานนี้ รัฐสภาก็คงไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายและก่อหนี้ได้ตามอำเภอใจ จึงต้องมีการคุยกันเรื่องแผนงบประมาณเพื่อให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะนำเงินวงเงินกู้ที่ได้มานั้นไปใช้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด

และในระยะหลัง ปัญหาการเมืองในสหรัฐฯ มีความรุนแรงมากขึ้น รัฐสภาไม่สามารถตกลงแผนงบประมาณออกมาได้ อย่างเช่นในการเจรจารอบก่อน รัฐสภามีแผนงบประมาณชั่วคราวสำหรับใช้ในระยะเวลา 2 ปีเท่านั้น และยกเลิกเพดานหนี้สาธารณะชั่วคราวจนถึงเดือน มี.ค. 2560 เพื่อให้ประธานาธิบดีคนใหม่ และสภาคองเกรสเข้ามาดูแลเรื่องนี้แทน

และในที่สุดเดือน มี.ค. 60 ก็มาถึงและผ่านพ้นไป หมายความว่า ณ ปัจจุบันนี้ หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ได้ชน “เพดาน” ไปแล้ว และรัฐสภาสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถตกลงแผนงบประมาณได้

แต่ในระหว่างที่หนี้เต็มเพดานนี้ กระทรวงการคลังสามารถใช้วิธีการทางการคลังทำให้ยังสามารถเบิกจ่ายได้ต่อไป แต่วิธีการดังกล่าวใช้ได้เพียงชั่วคราว ถึงสิ้นเดือน ก.ย. นี้ เท่านั้น ดังนั้น หากรัฐสภาไม่สามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย. หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ก็จำเป็นต้องปิดให้การให้บริการลง (Government Shutdown) และหากมีหนี้สาธารณะครบกำหนด สหรัฐฯ ก็อาจไม่มีเงินมาคืนหนี้ดังกล่าว และเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) เกิดขึ้น

และยิ่ง ประธานาธิบดี ทรัมป์ ผูกเรื่องงบประมาณ เข้ากับการก่อสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐฯ และ เม็กซิโก ซึ่งเป็นนโยบายที่เขาหาเสียงไว้ แต่คนในพรรคเองก็ไม่ได้เห็นด้วย ยิ่งทำให้ความเสี่ยงของการ Shutdown สูงขึ้นด้วย

อีกเรื่องที่นักลงทุนน่าจะติดตามคือการถอนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางต่างๆ โดยเฟดจะมีการประชุม ในวันที่ 19-20 ก.ย. นี้ ณ ขณะนี้ตลาดค่อนข้างมองไปในทางเดียวกันว่า เฟดจะมีการประกาศลดขนาดงบดุลในการประชุมครั้งนี้ และอาจเริ่มดำเนินการได้ไม่นานหลังจากนั้น แต่ในเบื้องต้นการลดขนาดงบดุลนั้นจะค่อนข้างช้า แค่เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น จึงไม่น่าจะกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดนัก ส่วนเรื่องดอกเบี้ยอาจจะยังไม่มีการปรับขึ้นในการประชุมครั้งนี้ (หรือในปีนี้เลย) เนื่องจากเงินเฟ้อยังต่ำ ดังนั้น ผลการประชุมของเฟดในรอบนี้จึงไม่น่าจะส่งผลลบต่อการลงทุนนัก

อย่างไรก็ตาม การลดขนาดงบดุลของเฟดที่น้อยในเบื้องต้น จะค่อยๆ เร่งตัวขึ้น และ ณ จุดใดจุดหนึ่ง อาจเริ่มส่งผลให้สภาพคล่องนั้นลดลงจนเข้ามากระทบภาวะการลงทุน ซึ่งอาจถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับปีหน้าได้

นอกจากนี้ นักลงทุนจำเป็นต้องติดตามท่าทีของธนาคารกลางอื่นๆ ด้วย ในการสัมมนาประจำปีที่ Jackson Hole ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นายดรากีนั้นไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับอนาคตนโยบายการเงินของ ECB เพียงแต่ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ต่างจากนายคุโรดะที่ออกมายืนยันว่า BoJ ยังน่าจะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจของประเทศทั้งสองเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น อีกทั้งพันธบัตรที่เหลือจะให้ธนาคารเข้าซื้อก็เริ่มเหลือน้อยลง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายนั้นอาจจะเข้าใกล้ “ข้อจำกัด” ของตัวเองแล้ว และ ECB กับ BoJ อาจจะต้องเริ่มลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่ ECB จะออกมาประกาศลดวงเงินเข้าซื้อได้เร็วถึงภายในเดือน ก.ย.-ต.ค. นี้เลย

ด้วย 2 ประเด็นกล่าวข้างต้น บวกกับความอ่อนแอตามฤดูกาล (Seasonality) ซึ่งจากค่าเฉลี่ยในอดีต เราพบว่าสินทรัพย์เสี่ยงมักมีผลตอบแทนที่อ่อนตัวในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. และค่าความผันผวนจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เราจึงได้ลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในต่างประเทศลง โดยลดน้ำหนักในตลาดหุ้นที่มีผลตอบแทนดีในปีนี้ เพื่อเป็นการขายทำกำไรและลดความเสี่ยงไปในตัว โดยส่วนหนึ่งได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และอีกส่วนจะเน้นลงทุนในกองทุนที่มีการกระจายตัวมากขึ้น เช่น หุ้นภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค เป็นต้น สำหรับการลงทุนในประเทศไทย เรายังคงน้ำหนักไว้เช่นเดิม เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยก็แทบจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นเลย โดยเรายังคงยืนยันเป้าหมายในปีนี้ไว้ที่ 1,668 จุดครับ