ทำอย่างไรไม่ให้โกง

ทำอย่างไรไม่ให้โกง

ในยุค Open Source เส้นกั้นระหว่างความเก่งกับความโกงนั้นบางเฉียบ

“God. I don’t want to be around when these children grow up.” เพื่อนเทรนเนอร์ของผมกล่าวพลางตบหน้าผากตัวเอง เมื่อผมเล่าพฤติกรรมล่าสุดของน้องพิน เจ้าลูกสาวคนโปรดให้ฟัง

พินเริ่มเข้าเรียนที่ International School of KL มาได้สัปดาห์หนึ่งแล้ว สนุกกับสิ่งแวดล้อมใหม่กับเพื่อนใหม่มากจนเวอร์ วันก่อนเพชรเล่าว่าหล่อนสาธยายไม่หยุดตั้งแต่ออกจากโรงเรียนจนถึงบ้านถึงข้าวเย็น ร่วมสามสี่ชั่วโมงจนแม่กะน้องหนวกหู

“Dad. We played Deserted Island today!” เสียงใสๆ กรอกมาทางไลน์วีดิโอชนิดไม่ต้องรอให้พ่อถึงบ้าน ครูให้เด็กๆ  ติ๊งต่างตัวเองว่ากำลังนั่งเรือจากมาเลเซียตะวันตก (คือแหลมที่ติดต่อกับไทย) ไปตะวันออก (เกาะบอร์เนียวที่ตั้งของซาบาร์และซาราวัค) เสร็จแล้วเรือล่ม ทุกคนถูกพัดไปขึ้นฝั่งที่เกาะร้างแห่งหนึ่ง 

โจทย์คือให้เด็กช่วยกันคิดว่าจะเอาตัวรอดอย่างไรบนเกาะแห่งนี้ เสร็จแล้วครูออกนอกห้องไปปล่อยเด็กให้อยู่เอง

“You know what we did?  We took out all the tables and chairs. And we built a boat! เราเอาโต๊ะกับเก้าอี้ออกหมด แล้วเราช่วยกันสร้างเรือ พวกผู้ชายบอกว่าจะมาติดแหง็กอยู่บนเกาะร้างนี่ทำไม Why not get out of here!”

เรื่องนี้พินเล่าไม่จบ ผมยังไม่รู้ว่าตอนคุณครูกลับเข้ามาในห้องแล้วผลเป็นอย่างไรบ้าง

ในมุมหนึ่ง อาจมองได้ว่าเด็กฉลาด เด็กมีไหวพริบ 

ถ้าใช้คำสวยๆ แบบองค์กรก็ต้องบอกว่า กล้าคิดนอกกรอบ Out-of-the-Box

ในอีกมุมหนึ่ง เช่นเพื่อนอาจารย์ของผม ก็มองได้เหมือนกันว่าเด็กพวกนี้ไม่เคารพกติกา

 โจทย์กำหนดให้หาวิธี Survive เกาะร้าง ดันสร้างเรือหนีเอาตัวรอด ไม่บรรลุตามเป้าประสงค์ของหลักสูตร ศรีธนญชัยชัดๆ 

เมื่อวันก่อนผมจัดกิจกรรมกับคนเรียน ทุกกลุ่มต้องออกไปพร้อมอุปกรณ์นำทางเพื่อเก็บฐานต่างๆ คล้ายแรลลี่ กติกาบอกว่าห้ามใช้ Public Transport 

กลุ่มที่ชนะใช้วิธีโบกรถ Hitchhike เหมือนเวลาฝรั่งแบกเป้ “เราไม่ได้ใช้รถสาธารณะ เราใช้รถส่วนตัวของคนอื่น และไม่ได้จ่ายตังค์ด้วย จึงไม่ผิดกติกา”

ตกลงแบบไหนถูก

1. It depends on who you ask คำถามนี้ต้องตอบว่า ‘แล้วแต่’ ขึ้นอยู่กับว่าถามใคร หากเราถามเจ้าตัว ทุกคนล้วนบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นมีเจตนาดี 

เด็กที่สร้างเรือก็บอกว่าพวกเขาหาทางออกอันสมบูรณ์ที่สุด คนโบกรถบอกว่าก็กฎไม่ได้ห้าม หากเราถามผู้กระทำ Every Bad Action Will Have Had Good Intention ขนาดขโมยยังบอกว่าทำเพราะไม่มีกิน นั่นคือการทำงานของสมองที่ต้องการเอาร่างกายให้รอด 

ฉะนั้นหากปล่อยให้ความถูกต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินของแต่ละบุคคล โลกนี้จะเละ

2. Spirit of the Law สิ่งที่ต้องทำคือสร้างบรรทัดฐานของสังคม ว่าอะไรยอมรับได้และอะไรยอมรับไม่ได้ในการอยู่ร่วมกัน 

หากด้วยความซับซ้อนของโลกยุค 4.0 เราไม่สามารถเขียนทุกอย่างไว้ได้อย่างละเอียด เราจึงต้องฝึกการขยับมุมมองจาก Letter of the Law ไปสู่ Spirit of the Law

ตัวอย่างง่ายๆ คือ พันท้ายนรสิงห์ จุดประสงค์ของกฎนี้คืออะไร บทลงโทษคือการทำเพื่อมิให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ดังนั้นแม้ การรอลงอาญา อาจถูกตาม Letter แต่ผิดใน Spirit

เมื่อเดือนก.ค. 2560 นี่เองที่รัฐฟลอริดา เด็กวัยรุ่นสามสี่คนถ่ายคลิปคนกำลังจมน้ำเป็นเวลาร่วมสิบนาทีโดยไม่ให้ความช่วยเหลือ กระทั่งชายคนนั้นกระเสือกกระสนจนเสียชีวิต เสียงในกล้องยังหัวเราะกันครื้นเครง 

เท่านั้นไม่พอ พวกเขายังเอามาปล่อยในโซเชียลมีเดียเรียกกระแสคนดูอีกเป็นแสน แต่สุดท้ายตำรวจไม่สามารถเอาผิดได้เพราะ ‘กฎหมายไม่ได้เขียนไว้’ นี่คือตัวอย่างชัดเจนของ Letter vs. Spirit of the Law เราไม่มีทางออกกติกาได้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนเร็วอย่างที่เป็นอยู่

3. Be Clear on Values สิ่งที่สำคัญต่อโลกในอนาคตอย่างมากคือ Values หรือแก่นของผู้นำ 

The Boston Consulting Group บริษัทเก่าของผมวิเคราะห์ว่า องค์กรที่มีแก่นของตัวเองอย่างชัดเจน (Purpose-Led Companies) สร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนกว่าบริษัทที่มีเพียงกระพี้

ขณะที่คู่แข่งอย่าง Deloitte Consulting ฟันธงอย่างเข้มข้นว่าบริษัทที่ใช้ Values-Based Leadership มีผลประกอบการเหนือกว่าถึง 10 เท่า และช่องว่างนี้จะห่างยิ่งขึ้นเรื่อยๆบนความยุ่งเหยิงของโลกแห่งอนาคต

ตกลงต้องทำอย่างไรให้ไม่โกง  ขออภัยที่ผมไม่มีคำตอบแบบชัดๆ เคลียร์ๆ

เพราะหากมันง่ายอย่างนั้น เราคงไม่มีวันนี้ มิใช่หรือครับ