แจ็คสันโฮล 2017 : งานเลี้ยงน่าจะเลิกรา

แจ็คสันโฮล 2017 : งานเลี้ยงน่าจะเลิกรา

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และ นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี รู้จักกัน

ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก๊วนเดียวกันที่เชื่อในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือ ฟรังโก มอดิเกลียนี และ เจมส์ โทบิน ตามลำดับ ทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ในเวลาต่อมา โดยนางเยลเลนเคยเข้าไปร่วมรับฟังการพรีเซ้นท์ผลงานเพื่อจบดอกเตอร์เอกของนายดรากิ ในตอนนั้นทั้งคู่ได้มีโอกาสประชุมเชิงวิชาการร่วมกันแบบนักเศรษฐศาสตร์วัยใสเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะแยกย้ายกันไปทำงาน

ข้ามมา 40 ปีต่อมา ที่งานสัมมนาเฟด ณ เมืองแจ็คสันโฮล ปี 2017 ทั้งคู่ กลับมาเป็นไฮไลต์ของงานอีกครั้ง บทความนี้ ขอประเมินสุนทรพจน์ของทั้งคู่ ดังนี้

ผมมองว่า นายดรากิ พูดมีนัยที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  1. ผมคิดว่านายดรากิน่าจะมองว่านโยบายการเงินสำหรับยุโรปถือว่ามาสู่จุดที่พ้นโหมดผ่อนคลายได้ในไม่ช้าจึงมุ่งเน้นในส่วนของเสถียรภาพของสถาบันการเงินในช่วงท้ายของสุนทรพจน์ โดยมองว่าในช่วงนโยบายการเงินแบบอัตราดอกเบี้ยต่ำ การยกการ์ดสูงของนโยบายสถาบันการเงินเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตตามนโยบายการเงินที่เอื้อให้เกิดฟองสบู่ได้แบบไม่เสี่ยง
  2. หากสังเกตดีๆ นายดรากิพูดเพื่อโน้มน้าวให้กระแสที่มาแรงมากในช่วง 1-2 ปีนี้ คือ ‘protectionism’ ลดระดับความน่าเชื่อถือลงโดยเขาตั้งคำถามว่าภายใต้สภาวะแวดล้อมที่โลกตะวันตกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีตัวช่วยใดที่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วพอที่จะช่วยเลี้ยงดูผู้สูงอายุในอีก 10-20 ปีต่อจากนี้ คำตอบคือการเปิดให้มีการค้าขายกันอย่างเสรี เนื่องจากสิ่งนี้ จะไปเพิ่มระดับผลิตภาพหรือ ประสิทธิภาพในการผลิต ให้ทันกับแรงงานที่ลดลง หากคิดเหมือนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ที่คิดจะเอาแต่ตัวเองรอดโดยไปกีดกันการค้ากับประเทศอื่นๆ ท้ายสุด สหรัฐเองจะไม่รอดเองในระยะยาว ทั้งนี้ประโยคสุดท้ายนั้น นายดรากิมิได้พูดตรงๆ แต่คงจะตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

สาม นายดรากิได้ยกตัวอย่าง ประชานิยม ที่ว่ากันว่าจะเป็นตัวขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน โดยแท้จริงแล้ว สหภาพยุโรปได้ทำให้ ‘การเปิดกว้างทางการค้าและแรงงาน’ มีความเท่าเทียมและปลอดภัยได้โดยที่สหภาพยุโรปได้ทำให้เห็นผ่านการออกกฎหมาย Single European Act ในปี 1986

โดยรวมแล้ว เนื้อความที่นายดรากิกล่าวนั้น ถือว่าเป็นสุนทรพจน์ที่มีนัยทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

มาถึงคิวของเจ้าภาพของงานนี้กันบ้าง ผมประเมินสุนทรพจน์ของนางเยลเลน พร้อมๆกับการอ่านคำให้สัมภาษณ์ของนายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานเฟด แล้วรู้สึกได้เลยว่าทีมเฟดรู้สึกอึดอัดกับการแก้กฎหมายทางการเงินสหรัฐหรือ Dodd frank bill ของรัฐบาลสหรัฐที่เวอร์ชั่นเดิมปรับให้เข้มต่อแบงก์มากขึ้นให้กลับไปให้อ่อนลง ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์โดยตรง หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปนับคำที่นางเยลเลนใช้บ่อยที่สุดในสุนทรพจน์ของงานสัมมนาแจ็คสันโฮล ปี 2017 คำที่เธอใช้บ่อยที่สุดคือ ‘regulation’ มีการพูดซ้ำคำๆ นี้ถึง 20 ครั้ง ในการกล่าวสุนทรพจน์เป็นเวลา 18 นาที คงไม่ต้องพูดถึงความอึดอัดใจกับการแก้กฎหมาย Dodd frank bill ของนางเยลเลน

ในสุนทรพจน์นี้ นางเยลเลนตอบคำถามของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ว่ากฎหมายการเงินที่เข้มจะไปกดให้การเติบโตเศรษฐกิจลดลงว่าแม้งานวิจัยต่างๆ จะไม่ฟันธงว่าการที่ดำรงอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงขึ้น จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นจริงๆหรือไม่ ทว่านางเยลเลนได้กล่าวว่าช่วงปี 2009 ที่แบงก์สหรัฐได้เข้าโปรแกรมที่บังคับให้ดำรงอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้สูงขึ้นนั้น ได้ส่งผลให้แบงก์สหรัฐมีการปล่อยกู้และผลกำไรดีกว่าแบงก์ต่างๆ ทั่วโลก แม้ผู้ที่มีคะแนนเครดิตแย่ จะไม่ได้รับการปล่อยสินเชื่อก็ตาม

นอกจากนี้ นางเยลเลนยังได้กล่าวว่าภายใต้บรรยากาศที่ตลาดหุ้นได้ถูกกองทุนที่ใช้ algorithm หรือการตั้งสูตรทางคณิตศาสตร์โดยใช้ AI คลอบงำในการเทรดนั้น กฎ Volcker Rule ที่แยกบัญชีของแบงก์ที่มาจากเงินฝากและสินเชื่อออกจากบัญชีของแบงก์ที่ใช้เทรดหุ้น จะสามารถป้องกันไม่ให้แบงก์ต้องเสี่ยงกับความผันผวนของตลาดหุ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ค้านกับนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ทั้งหมด

มาถึงคำถามที่หลายคนอยากทราบคือ แล้วมีสัญญาณอะไรที่นางเยลเลนส่งถึงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปไหม

ก่อนไปถึงตรงนั้น สำหรับงานสัมมนาแจ็คสันโฮว์เที่ยวนี้ จะเห็นว่าสุนทรพจน์ของเยลเลนมีเนื้อหาค้านกับสิ่งที่ทรัมป์ทำอยู่อย่างชัดเจน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของเธอในตำแหน่งประธานเฟดกับงานประชุมหนนี้

ในมุมของนโยบายการเงินนั้น ถ้าท่านยังจำได้ การลงจากตำแหน่งของนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด ฝากชาวโลกไว้ด้วยการลดขนาด QE ในการประชุมเฟดแบบเป็นทางการครั้งสุดท้ายของนางเยลเลน ผมยังคิดว่าการที่น่าจะลงจากตำแหน่งประธานเฟดของนางเยลเลน ก็น่าจะฝากชาวโลกไว้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สามของเฟด รวมถึงการลดขนาดงบดุลมีโอกาสสูงขึ้นมากกว่าเดิมที่น่าจะเกิดขึ้นหลังเดือนก.ย.นี้

อาจกล่าวได้ว่า หลังการประชุม ค่อนข้างชัดว่าเฟดน่าจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลออกไป 1-2 เดือนจากตารางเวลาที่ตลาดเคยคาดไว้ก่อนการประชุม ในขณะที่อีซีบีกลับส่งสัญญาณแบบลางๆ เหมือนจะย้ำว่า หากนายดรากิจะลดขนาด QE ก็ไม่น่าจะแปลกใจ เพราะนายดรากิไม่พูดถึงความกังวลเรื่องค่าเงินยูโรที่แข็งขึ้นเลยในการประชุมครั้งนี้จะเห็นได้ว่า 40 ปีต่อมา นายดรากิก็กลับมาให้กำลังใจนางเยลเลนในฐานะผู้มาเยือนกับงานสัมมนาวิชาการของเฟด ก่อนที่น่าจะจากกันเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะที่ทั้งคู่เป็นนายธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของโลกครับ