กำจัดจุดอ่อน

กำจัดจุดอ่อน

นับเป็นโชคดียิ่งของผู้เขียนที่ได้มีเข้าฟังการบรรยายของ Angel Gurria เลขาธิการขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

 ในงานสัมมนาของสมาคมเคมบริดจ์ในประเทศไทยที่จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในหัวข้อ “โลกาภิวัฒน์ ความไม่เท่าเทียม และไทยแลนด์ 4.0

ที่ว่าโชคดีเป็นเพราะทั้ง 3 ประเด็นในหัวข้อข้างต้นเป็นประเด็นที่ร้อนแรงและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและในไทยในปัจจุบัน โดยคุณ Angel Gurria ได้นำประเด็นทั้งสามมาตีแผ่ และดึงโยงเข้าสู่ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและไทย รวมถึงเสนอแนะแนวทางแก้ไขได้อย่างน่าสนใจ

ในระดับโลก คุณ Angel ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ซึ่งได้แก่การเปิดเสรีการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นทั่วโลก และทำให้ผู้คนหลายล้านคนหลุดพ้นความยากจน

แต่โลกาภิวัฒน์ก็มีจุดอ่อน ซึ่งได้แก่ความไม่เท่าเทียมหรือเสมอภาค เนื่องจากระบบทุนนิยมแบบโลกาภิวัฒน์จะทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในผู้คนหยิบมือเดียว (อันได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเงินทุน) เป็นหลัก ในขณะที่คนทั่วไปอาจไม่รู้สึกถึงข้อดีของโลกาภิวัฒน์และนำไปสู่การต่อต้านในหลายประเทศ โดยเฉพาะการต่อต้านการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา เช่น ในอังกฤษ ในอิตาลี รวมถึงในโคลัมเบีย

สำหรับวิธี กำจัดจุดอ่อนของโลกาภิวัฒน์ในระดับโลกนั้น คุณ Angel เสนอว่าคือประเทศต่าง ๆ จะต้องสนับสนุนให้เกิด การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ Inclusive Growth โดยในระดับโลกนั้น ควรจะเป็นในรูปแบบ Inclusive Globalization หรือโลกาภิวัตน์แบบทุกฝ่ายมีส่วนร่วม กล่าวคือ ผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างทัดเทียมกัน เช่น ส่งเสริมให้รัฐบาลต่าง ๆ ผลักดันนโยบายที่สนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ สร้างมาตรฐานโลกในด้านนโยบายภาษีอากร ผลักดันความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม การต่อต้านคอรัปชั่น เป็นต้น

ในส่วนของไทย คุณ Angel กล่าวว่าสภาวะเศรษฐกิจและความเป็นอยู่โดยรวมของคนไทยดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของรัฐที่น้อมรับกระแสโลกาภิวัฒน์รวมถึงแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทำให้ระดับของคนยากจนแร้นแค้น (Extreme Poverty) ลดลง จาก 20% ในช่วงทศวรรษ 1980 มาอยู่ที่ 0.2% ในช่วงปี 2010 ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสังคมไทยยังมีจุดอ่อนสำคัญใน 3 ด้าน ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด

จุดอ่อนแรก ได้แก่ ด้านการศึกษา โดยผลของคะแนน PISA (Program for International Student Assessment) หรือโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติที่วัดโดย OECD เองนั้น พบว่าคะแนนของนักเรียนไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในปี 2015 นั้นต่ำกว่านักเรียนเวียดนามและมาเลเซีย และเมื่อเทียบกับปี 2012 คะแนนดังกล่าวก็แย่ลงด้วย

นอกจากนั้น คะแนนดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา โดยการศึกษาพบว่ารายได้ครัวเรือนสัมพันธ์เชิงบวกกับความสามารถของนักเรียน โดยรายได้ครัวเรือนในกรุงเทพ (ที่ประมาณ 1.3 แสนบาทต่อคนต่อปี) นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศกว่า 1 เท่า และมีส่วนทำให้ความสามารถของนักเรียนในกรุงเทพสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศกว่า 20% ซึ่งแปลอย่างง่ายคือ ยิ่งครัวเรือนมีรายได้สูงเท่าไร ก็ยิ่งส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาคุณภาพดี ผลประเมินของเด็กนักเรียนในกรุงเทพจึงสูงกว่าในต่างจังหวัด

นอกจากนั้น การศึกษายังบ่งชี้ว่าธุรกิจมีความต้องการแรงงานผู้จบสายอาชีวะ แต่มีผู้จบการศึกษาในสายดังกล่าวต่ำ โดยในตำแหน่งงานที่ต้องการผู้จบอาชีวะ 100 ตำแหน่ง จะมีผู้จบอาชีวะมาสมัครเพียง 77 ตำแหน่งเท่านั้น

จุดอ่อนที่สอง ได้แก่ นวัตกรรม โดยระดับของการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีของไทยยังต่ำ โดยหากวัดจากคะแนนนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ในปีนี้ จะพบคะแนนของไทยอยู่ที่ 37.6 ในคะแนนเต็ม 100 ต่ำกว่าเวียดนามอยู่ที่ 38.3

สาเหตุที่นวัตกรรมของไทยอยู่ระดับต่ำนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) เท่าที่ควร โดยหากวัดจากค่าใช้จ่ายด้าน R&D ของไทยในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 0.6% ของ GDP ซึ่งแม้จะดีกว่าในช่วง 5 ปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 0.2% GDP แต่เทียบไม่ได้กับค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 2.5% และเกาหลีใต้ที่ 3.5-4.0% (ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการไทยต่ำกว่าต่างชาติ)

จุดอ่อนสุดท้าย ได้แก่ แก่ก่อนรวย โดยกำลังแรงงานไทยเข้าสู่ระดับสูงสุดแล้ว และกำลังลดระดับลง (จากจำนวนผู้สูงอายุวัยเกษียณที่มีมากขึ้น แต่จำนวนบัณฑิตจบใหม่เข้าทำงานมีลดลง) โดยใน 5 ปีข้างหน้ากำลังแรงงานไทยจะลดลงปีละ 0.2% ซึ่งหมายความว่าผู้มีรายได้ซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าและบริการกำลังลดลง (ทำให้การบริโภคและลงทุนในระยะข้างหน้าลดลงเช่นกัน)

และที่น่าตกใจมากคือ เมื่อพิจารณาระดับหนี้ของประเทศ (อันได้แก่หนี้เอกชน หนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะรวมกัน) แล้วนั้น ระดับของไทยสูงถึงกว่า 156% ของ GDP ซึ่งหากเทียบกับประเทศในเอเชียที่มีหนี้เท่าหรือมากกว่าเรา พบว่ารวยกว่าเรา (รายได้ต่อหัวสูงกว่า) ทั้งสิ้น (เช่น มาเลเซีย เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง) ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่หนี้น้อยกว่าเรา (เช่น อินโด ฟิลิปปินส์) ก็มีอายุเฉลี่ยของประชากรที่น้อยกว่าเราเช่นกัน

สำหรับทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้นั้น คุณ Angel เสนอแนะไว้ 2 ประการ คือ หนึ่ง ภาครัฐไทยควรลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของแรงงานทุกระดับเพื่อให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ พัฒนาศักยภาพในการวัดผลการเรียน เพิ่มคุณภาพครูผู้สอน เป็นต้น

และ สอง ภาครัฐควรเพิ่มการน้อมรับเทคโนโลยีดิจิตอล เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ เพิ่มเม็ดเงินในการลงทุนใน R&D เป็นต้น ซึ่งคุณ Angel ชี้ว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีแนวใหม่นั้นก็จะตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง แต่จะให้การขยายตัวเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างทั่วถึงแล้วนั้น จะต้องเน้นการพัฒนาคนควบคู่ไปด้วย

OECD ชี้จุดอ่อนให้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราชาวไทยจะสามารถกำจัดจุดอ่อนได้ดีเพียงใด

/////////////

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่