อธิปไตยทางดิจิทัลอีกภัยคุกคามทางไซเบอร์

อธิปไตยทางดิจิทัลอีกภัยคุกคามทางไซเบอร์

สองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ได้เขียนถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่มักจะอยู่ภายใต้เรดาร์ของการกำกับดูแลภายในประเทศไทย อันได้แก่

  1. การลักลอบเข้าถึงระบบข้อมูลสารสนเทศหรือระบบการสื่อสาร เพื่อโจรกรรมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล อันมีความสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือของชาติ
  2. การแผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และหรือ
  3. การทำลายระบบข้อมูลสารสนเทศหรือระบบการสื่อสาร

ยังได้กล่าวถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อยู่นอกเหนือเรดาร์ของการกำกับดูแลในประเทศ กล่าวคือ การที่อุปกรณ์ทางดิจิทัล เช่น สมาร์ทโฟน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หรือโดรน ลักลอบส่งข้อมูลอันมีความสำคัญ กลับไปยังผู้ผลิตอุปกรณ์ในประเทศอื่น ที่เรียกกันว่า “Phone Home” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “โทรกลับบ้าน”

อย่างไรก็ดี แม้แต่ภัย 3 ประการแรก ที่การกำกับดูแลของไทย ให้ความสำคัญ ก็ยังคงมีการเข้าใจผิด ถึงแนวทางการปฏิบัติ ที่จะทำให้ประเทศและสังคมไทย สามารถมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยในข้อ 2.การแผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการดิจิทัลและมีประสบการณ์มาช้านาน ย่อมต้องทราบดีว่า ปัญหาที่สำคัญของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทย มีต้นเหตุมาจากการสูญเสียอธิปไตยทางดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า “Digital Sovereignty” เมื่อข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ ที่ประชาชนคนไทยบริโภคในโลกดิจิทัล ได้รับการเผยแพร่มาจากดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่ต่างประเทศ โดยอยู่นอกเหนือเขตอำนาจของศาลไทย ซึ่งก็หมายความว่าผู้ให้บริการทางดิจิทัลที่คนไทยนิยมใช้เหล่านี้ บางรายอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย

ที่ผ่านมา จึงเป็นการขอความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัทชั้นนำในโลกเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ เพื่อขอให้ยุติการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่ขัดต่อกฎหมายภายประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ มีสิทธิที่จะปฏิเสธ โดยอ้างว่ากฎหมายของประเทศเขาไม่เหมือนกับกฎหมายของเรา 

แต่ในบางครั้ง บริษัทเหล่านี้ ยินยอมที่จะปฏิบัติตาม แต่แน่นอน กระบวนการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศ มิได้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่ากับการกำกับดูแลผู้ให้บริการที่อยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการขอความร่วมมือแล้ว ยังมีกลไกที่สามารถป้องกันเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เพื่อมิให้สามารถถูกเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยได้ แต่กลไกนี้มีข้อจำกัดในเชิงของเทคโนโลยี กล่าวคือ การบล็อกเนื้อหาในปัจจุบัน จำเป็นต้องบล็อกทั้งเว็บไซต์ โดยที่ไม่สามารถบล็อกเพียงหน้าหนึ่งหน้าใดอีกต่อไป เพราะในปัจจุบัน บริษัทชั้นนำในโลกเทคโนโลยีล้วนใช้ HTTPS เพื่อเข้ารหัสการเข้าถึงเนื้อหา 

ดังนั้น มีเพียงแต่ผู้ให้บริการเช่น เฟซบุ๊ค หรือ ยูทูบ และผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น ที่จะรู้ว่าเนื้อหาใดกำลังถูกรับชมโดยผู้บริโภคแต่ละคนอยู่ สำหรับบุคคลภายนอก แม้กระทั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จะเห็นแต่เพียงว่า ผู้บริโภคกำลังใช้บริการเฟซบุ๊ค หรือ ยูทูบ อยู่ แต่จะไม่รู้ว่ากำลังรับชมเนื้อหาอะไร

ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีนี้ หากต้องการบล็อกบางเนื้อหาบน เฟซบุ๊ค หรือ ยูทูบ เพืื่อไม่ให้ถูกเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย จะทำได้แต่เพียงการบล็อกทั้งเฟซบุ๊คหรือ ยูทูบ และมิสามารถบล็อกบางเนื้อหาโดยเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งจะมีผลกระทบที่จะทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาอื่นๆ บนบริการเหล่านี้ได้

ปัญหาของอธิปไตยทางดิจิทัล มิใด้มีขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แม้แต่ในนานาอารยะประเทศ ก็มีการต่อสู้ของ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เอเซีย หรือออสเตรเลีย เพื่อเรียกคืนอธิปไตยทางดิจิทัลที่ได้สูญเสียไป ให้กับบริษัทชั้นนำในโลกเทคโนโลยี ที่มักจะเป็นบริษัทข้ามชาติมาจากสหรัฐ โดยการต่อสู้มีตั้งแต่

1.การออกกฎหมายบังคับให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ต้องมามีตัวตนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมาย เช่น การออกข้อบังคับมิให้ส่งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนของชาติ ออกไปนอกประเทศ เช่น กรณีของสหภาพยุโรป vs เฟซบุ๊ค

  1. มาตรการทางภาษี ที่ลงโทษบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เพื่อกดดันให้ต้องมามีตัวตนอยู่ภายใต้กฎหมาย และเสียภาษีอย่างถูกต้อง เช่นกรณีของ Google Tax ในรูปแบบของอังกฤษ
  2. มาตรการทางภาษี ที่ลงโทษบริษัทในชาติที่ลงโฆษณากับบริษัทบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เพื่อให้บริษัทในชาติ เป็นผู้กดดันให้บริษัทข้ามชาติ ต้องมามีตัวตนอยู่ภายใต้กฎหมาย เช่นกรณีของ Google Tax ในรูปแบบของอินเดีย

ปัญหาของอธิปไตยทางดิจิทัล มีตัวอย่างของประเทศต่างๆ ที่มีการต่อสู้และได้ผลได้ระดับหนึ่งแล้ว อาจถึงเวลาที่ประเทศไทย จะเริ่มมีผลักดันเพื่อให้เกิดยุทธศาสตร์ในด้านนี้ด้วย