Government Shutdown จะเกิดอีกครั้งในยุคทรัมป์หรือไม่?

Government Shutdown จะเกิดอีกครั้งในยุคทรัมป์หรือไม่?

Government Shutdown จะเกิดอีกครั้งในยุคทรัมป์หรือไม่?

Government Shutdown คือ ภาวะที่เกิดจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯได้ยุติการจ่ายงบประมาณให้กับหน่วยงานภาครัฐฯต่างๆ เป็นการชั่วคราว ส่วนการยุติการจ่ายงบประมาณนั้น ก็เกิดจาก รัฐฯขาดรายได้ หรือเงินคงคลังเหลือไม่เพียงพอนั้นเอง

ทำไมถึงงบประมาณไม่พอ?

โดยธรรมดาของรัฐบาลสหรัฐฯนั้น มีหนี้สินเพิ่มขึ้นตลอดเวลา กรณีของ Government Shutdown จึงมักจะเกี่ยวข้องกับ กรณีเพดานหนี้สาธารณะ หรือ Debt Ceiling

รัฐบาลสหรัฐฯในระยะหลังมานี้ มีปัญหาเรื่องงบประมาณมาตลอด เพราะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ วิธีแก้ปัญหา ก็คือ ต้องกู้มาใช้จ่าย แต่ก็ไม่ใช่จะกู้ได้ตลอด เพราะสหรัฐฯเอง ก็มีเพดานหนี้สาธารณะที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น ปัญหามันจึงอยู่ตรงนี้ละครับ คือ ถ้างบประมาณใกล้หมด และเพดานหนี้ใกล้จะชนลิมิต ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุมัติเพิ่มเพดานหนี้ในสภาคองเกรส

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2556 รัฐบาลของโอบามา ก็เจอกับภาวะนี้ คือ ต้องขยายเพดานหนี้ให้ทันกำหนด ไม่งั้นงบประมาณหมด ก็จะต้องไปปิดหน่วยงานภาครัฐฯ เพราะไม่มีเงินจ่าย โดยครั้งนั้น หน่วยงานรัฐฯต้องปิดชั่วคราวเป็นระยะเวลา 16 วัน นับจากวันที่ 30 ก.ย. 2556 ถึง 17 ต.ค. 2556 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อตัวโอบามา และพรรคเดโมเครตอยู่เหมือนกัน

มาในรัฐบาลของทรัมป์ ก็มีโอกาสจะเจอสิ่งนี้อีกรอบในปลายเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้

นโยบายที่ ปธน.ทรัมป์พยายามผลักดัน และชูเป็นนโยบายเรือธงตั้งแต่ช่วงหาเสียง ก็คือ ต้องการสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโก เชื่อว่า นโยบายนี้ ในช่วงหลังๆ อาจจะเงียบหายไปจากสื่อ แต่ก็ยังคงอยู่ในความคิดของท่านประธานาธิปดีอยู่เสมอ

จนล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เหมือนว่าจะมีเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน และสส.ในพรรครีพลับริคกันด้วยกันเอง ที่ออกมาต่อต้าน ไม่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว แน่อนว่า เสียงนั้นดังไปถึงปธน.ทรัปม์ แต่เมื่อทรัมป์ได้ยิน กลับไม่ได้มีทีท่าอ่อนข้อลงแต่อย่างใด และยังให้สัมภาษณ์ว่า หากสภาคองเกรส อนุมัติงบประมาณสำหรับการบริหารงานของรัฐบาล แต่ตัดงบในส่วนของการสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโกละก็ เขาขอใช้สิทธิวีโต้ ไม่ลงนาม ซึ่งมี Deadline อยู่วันที่ 30 ก.ย. ที่จะถึงนี้ และถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จริง ก็เท่ากับ สหรัฐฯ อาจต้องเจอกับภาวะ Government Shutdown ครั้งที่ 18 ในประวัติศาสตร์

ถ้าเทียบกับฐานเสียง และคะแนนสนับสนุนรัฐบาลของปธน.ทรัมป์ เทียบกับปธน. ท่านอื่นในอดีต ต้องบอกว่า น่าเป็นห่วงพอสมควร เพราะ ตั้งแต่รับตำแหน่งมา ก็มีกระแสข่าวลบโจมตีเขามาตลอด ไม่ว่าจะเป็น กรณีความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับทรัมป์ และการที่ทรัมป์โดนสอบสวนว่า อาจเข้าข่ายขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ในการสืบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ

รวมถึง เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ การที่ ตัวเขาเองไม่ประณามพวกชาตินิยมขวาจัดที่ชุมนุมกันที่เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ จนเกิดความรุนแรง มีคนตายและบาดเจ็บ จนนำไปสู่การปลดสตีฟ แบนนอน จากหัวหน้านักยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี และมีคณะกรรมที่ปรึกษาลาออกอีกหลายตำแหน่ง ทำให้ความตั้งใจในการริเริ่มโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีอันต้องคว่ำลงไป

จากสิ่งที่เห็นตามสื่อตรงนี้ มีชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ไม่น้อยทีเดียว ดังนั้นผมจึงบอกว่า มีความเสี่ยงสูงมากครับที่ Government Shutdown จะเกิดขึ้นอีกครั้งภายในเดือน ต.. นี้ หากสภาตกลงคุยกันแล้วหาข้อยุติเกี่ยวกับเพดานหนี้ และงบประมาณไม่ทันเส้นตายวันที่ 30 ก.ย. ที่จะถึง

ในแง่ของการตอบรับของตลาด กลับไม่ได้แย่ขนาดนั้น

สถิติย้อนหลังการเกิด Government Shutdown ทั้งหมด 17 ครั้ง มีทั้งหมด 8 ครั้งที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขยับเป็นบวกได้ในช่วงที่มีการยุติการจ่ายงบประมาณให้หน่วยงานรัฐบาล ก็แสดงว่า สำหรับตลาดหุ้นนั้น เหตุการณ์นี้ไม่ได้มีผลมากมายอะไร

แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นครับ ประเด็นคือ มันสะท้อนว่ารัฐบาลสหรัฐฯภายใต้ปธน.ทรัมป์ ถือว่ามีความมั่นคงน้อยมาก ทั้งๆ ที่ครองเสียงข้างมากในสภาบนและสภาล่าง ดังนั้น ปัจจัยการเมืองในสหรัฐฯ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศของกระแสเงินทุนของโลกอีกครั้งก็เป็นไปได้