ปล่อยผู้ต้องหาหนีคดี ต้องมีคนรับผิดชอบ

ปล่อยผู้ต้องหาหนีคดี ต้องมีคนรับผิดชอบ

เป็นเรื่องน่าอับอายหรือไม่ที่หน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะตำรวจ ปล่อยให้ผู้ต้องหาและจำเลยคนสำคัญหนีคดีไปคนแล้วคนเล่า...

กรณีคุณยิ่งลักษณ์ ตำรวจเล่นลิเกสั่งคุมเข้มด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ เตรียมเอาหมายจับไปปิดที่หน้าบ้านผู้ต้องหา และเตรียมขอหมายค้นเพื่อเข้าค้นบ้าน ทั้งๆ ที่มีข้อมูลอยู่เต็มโซเชียลมีเดียว่าคุณยิ่งลักษณ์หนีข้ามโลกไปนานแล้ว

หากเราตัดประเด็นความชอบ-ไม่ชอบทางการเมืองออกไป เฉพาะคดีบนศาลฎีกานักการเมือง ก็มีจำเลยหนีคดีไปแล้วถึง 7 คน บางคนได้ตัวกลับมาในภายหลัง แต่บางคนก็หายเข้ากลีบเมฆ

หลายคดีไม่ได้เป็นข้อถกเถียงว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ เช่น คดีคุณวัฒนา อัศวเหม หรือคุณประชา โพธิพิพิธ คนเหล่านี้ก็หลบหนีเหมือนกัน

หรือหากหันไปดูคดีอาญาทั่วไป อย่างคดีพระธัมมชโย หรือแม้แต่ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถชนตำรวจตาย คดีแบบนี้ก็ยังหลบหนีกันได้สบายๆ

แล้วความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอยู่ตรงไหน ควรมีใครต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่ เพราะการทำคดีขึ้นมาคดีหนึ่ง ต้องสิ้นเปลืองบุคลากรและงบประมาณมากมาย แต่สุดท้ายเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ เรื่องแบบนี้ผู้เกี่ยวข้องไม่อับอายกันบ้างหรือ

ไล่ดูรายชื่อคนที่หนีได้ หรือหนีสำเร็จ ล้วนมีสถานะทางสังคม ร่ำรวย และมีข้าทาสบริวาร ปัญหานี้จึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างแจ่มชัดด้วย

มีคดีอีกมากมายที่คนยากคนจน เกษตรกร ชาวบ้านตาดำๆ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และถูกฟ้องร้องดำเนินคดี คนเหล่านี้ไม่มีช่องทางหลบหนี และต้องติดคุกจริงทั้งที่ยังมีคำถามว่าพวกเขาเป็นคนผิดจริงหรือไม่ บางคนติดคุกเพราะทำกินอยู่ในที่ดินของบรรพบุรุษ แต่ภายหลังรัฐอ้างว่าเป็นเขตป่า บางคนถูกใช้กลยุทธ์ทางกฎหมายฟ้องร้องเพื่อปิดปาก (SLAPP) ฟ้องร้องให้หยุดเคลื่อนไหว

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีดีเอสไอ ฯลฯ ท่านยังนั่งเก้าอี้สบายกันอยู่หรือ?