ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนกรกฎาคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนกรกฎาคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนกรกฎาคม

ในช่วงต้นเดือนมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงการคาดการณ์เศรษฐกิจโดยมองว่า GDP ของไทยในปีนี้จะเติบโต 3.6% แม้ปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าส่งออกเป็นเติบโต 4.7% จาก 3.3% โดยระบุว่าต้องรอดูผลการเบิกจ่ายงบกลางปี ซึ่งสศค. ปรับลดคาดการณ์อัตราเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2560 เหลือ 68.5% จากเดิม 76.9% จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับเดิม

ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งต่างมีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด โดยประธาน ECB ได้แถลงว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะพิจารณาปรับลดวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในอนาคต ในขณะที่ BOJ ประเมินเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ปรับเป้าอัตราเงินเฟ้อลงซึ่งส่งสัญญาณว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ย Federal Funds Rate ที่ระดับ 1.00-1.25% ตามที่ตลาดคาด โดย FED ยังคงให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง การจ้างงานขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนเติบโตดี มีเพียงเงินเฟ้อพื้นฐานที่เร่งตัวขึ้นได้ต่ำกว่าคาด และให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการลดขนาดงบดุลว่าจะเริ่มต้นเร็ว ๆ นี้ ซึ่งตลาดมองว่า FED จะประกาศวันอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งหน้า

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้นักลงทุนในตลาดมั่นใจว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าและอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง นอกจากนี้จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐและความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐ ทำให้เกิดความต้องการซื้อเงินสกุลยูโรและเงินสกุลอื่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ส่งผลให้ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยเป็นการปรับตัวขึ้นประมาณ 3.6% ในเดือนนี้ และ 12.6% ในปีนี้ 

ทางด้านความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นที่อายุไม่เกิน 1 ปี ปรับลดลง 0.09-0.17% เนื่องจากการจำกัดปริมาณการเสนอขายพันธบัตรระยะสั้นธนาคารแห่งประเทศไทยและเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเป็นยอดซื้อสุทธิ ทำให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน รุ่นอายุ 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่1.1182%, 1.1608% และ1.3524% ตามลำดับ ซึ่งลดลงมากจากสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนที่ 1.2484%, 1.3295% และ 1.4415% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะรุ่นอายุ 2 ปีขึ้นไปปรับลดลง 0.01-0.08% สรุปปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 11.9 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 2.9 พันล้านบาท

กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามานำมาซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 7% นับตั้งแต่ต้นปี และทำให้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ทั้งนี้ยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ณ สิ้นเดือนกรกฏาคมมีจำนวน 732 พันล้านบาท เติบโตจากยอดการถือครอง ณ ปลายปี 2559 จำนวน 634 พันล้านบาท ปรากฏการณ์ดังกล่าวกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำลง โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นที่อัตราผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในระดับที่มากกว่าปกติ ดังนั้น คาดว่าเหตุการณ์นี้จะคงอยู่ไปสักระยะหนึ่ง จนกว่ากระแสเงินทุนดังกล่าวจะย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น หรือมีการปรับเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐ จึงมีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนจะปรับตัวกลับขึ้นมา มากกว่าจะปรับลดลงต่อไป