ข้าวดีหรือข้าวเสียใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน

ข้าวดีหรือข้าวเสียใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน

ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณลักษณะและคุณภาพไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่นสายพันธ์ พื้นที่เพาะปลูก การดูแลรักษาระหว่างการปลูก

การเก็บเกี่ยว การแปรสภาพสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร การเก็บรักษา เป็นต้น การพิจารณาคุณภาพว่าเป็นข้าวดีหรือไม่อย่างไร จึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น คือมาตรฐานข้าว หรือการจัดเกรดข้าวข้าวแต่ละสายพันธ์หรือแต่ละชนิด ก็จะมีเกณฑ์ที่กำหนดแตกต่างกัน ประเทศที่ปลูกข้าว ส่งออกข้าว และนำเข้าข้าว ต่างก็มีการกำหนดมาตรฐานข้าวของตนเอง เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายข้าวทั้งภายในประเทศและส่งออก เพื่อ การกำกับดูแลคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพข้าว

เช่น สหรัฐอเมริกา มีการกำหนดมาตรฐานข้าว โดยกระทรวงเกษตรที่เรียกว่าUNITED STATES STANDARDS FOR RICEซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานข้าว แยกเป็นข้าวเมล็ดสั้น เมล็ดขนาดกลาง และข้าวเมล็ดยาว จำแนกเป็นข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวนึ่งเป็นต้น แบ่งออกเป็นชั้นต่างฯ ตามข้อกำหนดคุณลักษณะที่ต้องมีไม่น้อยกว่าที่กำหนด เช่นข้าวเต็มเมล็ด ระดับการขัดสี และคุณลักษณะที่ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ เช่นความชื้น ข้าวหัก เมล็ดเสีย เมล็ดสีอื่น เมล็ดขุ่น วัตถุอื่น เป็นต้น   ประเทศเวียตนามซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวของไทย ก็มีการกำหนดมาตรฐานข้าวสำหรับการส่งออกโดย The Standardization Meteorology and Quality Control (SMQC) กณฑ์ในการกำหนดมาตรฐานก็ใช้หลักการสำคัญทำนองเดียวกันที่ใช้กันทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา แตกต่างกันที่คุณลักษณะรายละเอียดปลีกย่อย มีการกำหนดมาตรฐานข้าวขาวที่เป็นข้าวเมล็ดยาว และข้าวหอม แยกชั้นตามส่วนผสมของข้าวหัก ตามข้อกำหนดคุณลักษณะรายการที่ต้องมีไม่ต่ำกว่าที่หนด และรายการที่ต้องมีไม่เกินที่กำหนด คล้ายมาตรฐานข้าวของสหรัฐ

สำหรับประเทศไทยผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้กำหนดมาตรฐานข้าวไทย เพื่อการส่งออกขึ้นเป็นฉบับแรก คือ มาตรฐานข้าวตามประกาศกระทรวง เศรษฐการ เรื่องกำหนดมาตรฐานข้าว ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2500 ต่อมามีการแก้ไขปรับปรุง และใช้มาตรฐานข้าวไทยให้เหมาะสมขึ้นเป็นระยะ คือ มาตรฐานข้าวไทย ปี 2517 มาตรฐานข้าวไทย ปี 2540 และล่าสุดคือมาตรฐานข้าวไทยปี 2559 มีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมไทยซึ่งเป็นมาตรฐานข้าวหอมที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ แยกต่างหากจากมาตรฐานข้าวไทย และมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยไว้เป็นการเฉพาะด้วย  เกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการกำหนดมาตรฐานข้าวไทย ก็เป็นหลักการทำนองเดียวกันที่ใช้กันทั่วโลก คือคุณลักษณะรายการขั้นต่ำที่ต้องมี และรายการที่ต้องมีไม่เกินที่กำหนด

มาตรฐานข้าวไทยที่กำหนดขึ้น นอกจากใช้เพื่อการส่งออกแล้ว ในระยะต่อมาใช้เป็นมาตรฐานเพื่อการซื้อขายข้าวภายในประเทศ และในเรื่องอื่นฯที่มีการกำหนดคุณภาพข้าวไว้ เช่นตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นต้น

การมีมาตรฐานข้าว ก่อให้เกิดความสะดวกในการตกลงซื้อขาย ผู้ซื้อผู้ขายไม่ต้องระบุหรือบรรยายรายละเอียดคุณลักษณะ ของข้าวที่ ตกลงซื้อขายกัน ระบุ ชนิดข้าวและชั้นข้าวตามที่กำหนด ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าข้าวที่ตกลงซื้อขายกันคุณภาพเป็นอย่างไร เช่นข้าวขาวเมล็ดยาว US grade No. 1 ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ มาตรฐานข้าวไทย (long grain white rice 5 % broken Thai Standards )

การพิจารณาคุณภาพข้าวว่าเป็นไปตามที่ตกลงซื้อขายกัน หรือเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพโดยการตรวจวิเคราะห์ จากตัวอย่างข้าวที่สุ่มไว้ ถ้าผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ก็ถือว่าข้าวกองนั้นทั้งกองมีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐาน ถ้าไม่ถูกต้องก็ถือว่าข้าวทั้งกองนั้นผิดมาตรฐาน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นสากลใช้กันทั่วโลก ข้าวที่จะส่งออกหากพบว่าผิดมาตรฐาน ก็ถือว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่ผู้ซื้อในต่างประเทศตกลงไว้ จะส่งออกไปไม่ได้ ส่วนการซื้อขายภายในประเทศ หากตรวจพบว่าผิดมาตรฐานที่ยอมรับกันได้ ในทางปฏิบัติจะมีการตัดราคากันตามเกณ์ที่กำหนดไว้ แต่ถ้าหากผิดมาตรฐานมากเกินกว่าที่ยอมรับกัน ก็จะตีกลับไม่ ไม่รับมอบข้าวนั้น

ตามมาตรฐานข้าวไทยที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี2500 จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกณฑ์ในการตรวจสอบและชักตัวอย่างไว้ ยกเว้นข้าวหอมมะลิไทยชนิดเดียวที่มีการกำหนดหลักเกฑ์การตรวจสอบและชักตัวอย่างไว้ เมื่อปี 2540 การชักตัวอย่างและการตรวจสอบคุณภาพข้าวไทยที่ส่งออก จึงยึดถือแนวที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งแนวทางที่ได้รับมาจากต่างประเทศ และแนวทางที่ผู้ตรวจสอบไทยมีการปฏิบัติกันจริง เช่นการสุ่มชักตัวอย่างข้าวที่บรรจุกระสอบ จะสุ่มชักตัวอย่างจากกระสอบไม่น้อยกว่าร้อยละสองถึงสามของจำนวนกระสอบข้าวทั้งหมดในกอง ซึ่งไม่น้อยกว่าสูตรการชักตัวอย่างตามมาตรฐานของ ISO แ ละ IRRI คือจำนวนกระสอบที่ชักตัวอย่าง เท่ากับ สแควร์รู้ธของจำนวนกระสอบทั้งหมดในกอง

สำหรับข้าวสารที่สีแปรจากข้าวเปลือกที่รับจำนำ ที่จะนำส่งมอบเข้าเก็บเป็นสต๊อกของรัฐในโกดังกลางไม่ว่าจะเป็นโกดังที่เช่าไว้หรือเป็นโกดังที่ทำสัญญารับฝากเก็บ มีข้อกำหนดในสัญญา ว่า จะต้องส่งมอบและรับมอบข้าวสารที่ถูกต้องตามมาตรฐานเตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เข้าเก็บในโกดังกลางเท่านั้น

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงสรุปเป็นคำตอบได้ว่า การพิจารณาข้าวว่าเป็นข้าวดีซึ่งคือข้าวที่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศยอมรับ หรือที่ให้นำเข้าเก็บในโกดังกลางได้ คือข้าวที่มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานข้าว ข้าวที่ผิดมาตรฐานซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อและไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่จะนำเข้าเก็บในโกดังกลาง ย่อมถือได้ว่าเป็นข้าวเสีย ส่วนการวินิจฉัยคุณภาพข้าวไม่สามารถใช้เพียงความรู้สึกของบุคคล มาวินิจฉัยได้ ต้องวินิจฉัยจากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างที่สุ่มเก็บมาโดยถูกต้อง โดยผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องไม่ใช่ตัวอย่างที่เก็บมาเฉพาะจุดเท่านั้น