เสียงเตือนจากคนรู้จริง

เสียงเตือนจากคนรู้จริง

คนรู้จริงเขาเตือนไว้ขนาดนี้ ก็ควรจะฟังกันไว้ สำหรับนักลงทุนตัวเล็กๆ แม้จะช่วยแก้ไขอะไรไม่ได้ อย่างน้อยรู้ไว้ก็น่าจะเป็นข้อคิดในการเลือกลงทุน

วันก่อนผมได้อ่านนิตยสาร Asian Nikkei Review ฉบับ 26 มิ.ย.-2 ก.ค. 2017 และพบบทสัมภาษณ์ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO ที่ได้ชี้ถึงสัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจไทยและเอเชีย ผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขอสรุปเป็นไทยให้เข้าใจกันง่ายๆ ไว้ ณ ที่นี้นะครับ

1. ต่อข้อถามที่ว่า เอเชียมีโอกาสเจอวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ ดร. ศุภชัย ตอบว่า ตอนนี้ทุกอย่างยังดูดีอยู่ เศรษฐกิจอเมริกาดีขึ้นเรื่อยๆ ตลาดหุ้นก็ขึ้นตาม หุ้นเอเชียก็ขึ้น ส่วนจีนกำลังปรับโครงสร้าง สิ่งที่ต้องระวัง คือปัจจัยที่จะมาทำให้ภาพที่กำลังดีเหล่านี้สิ้นสุดลง

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นก็อย่างเช่น ถ้าค่าเงินหยวนร่วงลงรุนแรง จะฉุดให้ค่าเงินเอเชียร่วงลงไปด้วยทั้งภูมิภาค และลุกลามกลายเป็นวิกฤตได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลจีนก็ควบคุมเรื่องนี้อยู่ และหยวนต่อดอลล่าร์ก็เริ่มทรงตัวแล้ว

2. ต่อข้อถามที่ว่า ประเทศไทยเสี่ยงที่จะเจอวิกฤตเหมือนเมื่อครั้ง 'วิกฤตต้มยำกุ้ง' อีกหรือไม่ ดร.ศุภชัย ตอบว่า เศรษฐกิจยังไปได้อยู่ มีเงินสำรองต่างประเทศเพียงพอ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ แต่ก็ด้วยความแข็งของค่าเงินบาท ทำให้เศรษฐกิจโตยาก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเมืองไทย คือความสามารถในการแข่งขัน เพราะประเทศอื่นๆ ในเอเชียตามเราทันหมดแล้ว และอาจแซงเราได้ในเร็ววันนี้ ทั้ง อินโดฯ อินเดีย ที่โตเร็วมาก เช่นเดียวกับ จีน ฟิลิปปินส์ ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยโตปีละ 3% เทียบกับทั่วโลกถือว่าไม่น้อย แต่เราแพ้เพื่อนบ้านที่โตกันปีละ 5-6%

3. เมื่อสอบถามถึงความน่าเป็นห่วงของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของไทย ดร.ศุภชัย ตอบว่า ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ ในปริมาณที่สูงมาก ทำให้เกิดโครงการใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเกิด oversupply อยู่หลายหมื่นยูนิต ผู้ประกอบการจึงหันไปจับลูกค้ากลุ่มบนและชาวต่างชาติแทน แต่การไปจับลูกค้าต่างชาติก็ต้องระวัง เพราะถ้าวันหนึ่งพวกเขาหยุดซื้อขึ้นมา สินเชื่อจำนวนมากจะกลายเป็น NPL และสุดท้ายแบงก์ก็จะมีปัญหาจนส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม

ดังนั้น อย่าชะล่าใจว่าปัญหายังไกลตัว สมัยก่อนคนก็พูดแบบนี้ สุดท้ายจึงกลายเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง!!

ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งมาจากต่างประเทศ คือถ้าดอกเบี้ยขึ้นเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตามเทรนด์เศรษฐกิจโลกเวลานี้ ราคาอสังหาก็อาจร่วงลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

4. และสุดท้าย เมื่อถูกถามว่า แล้วเราจะเตรียมตัวป้องกันวิกฤตกันอย่างไร ดร.ศุภชัย ตอบว่า ประเทศในเอเชียต้องช่วยกันระวังและสนับสนุนกันและกัน เงินทุนที่เอเชียใช้ล้วนมาจากภายนอก เป็นการเข้ามาโดยปราศจากการควบคุม ปราศจาก governance เงินพวกนี้ ถ้าวันหนึ่งจะไหลออก มันก็ออกได้ทันที พวกผู้จัดการกองทุนเขาไม่สนใจหรอกว่า ค่าเงินที่ผันผวนจะส่งผลเสียหายอย่างไร

คนรู้จริงเขาเตือนไว้ขนาดนี้ ก็ควรจะฟังกันไว้ สำหรับนักลงทุนตัวเล็กๆ แม้จะช่วยแก้ไขอะไรไม่ได้ อย่างน้อยรู้ไว้ก็น่าจะเป็นข้อคิดในการเลือกลงทุนและระวังป้องกันพอร์ตของตัวเองได้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ

(ผมพยายามถอดความให้ได้ใกล้เคียงที่สุด หากคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ขออภัยนะครับ)