VR, AR หรือ MR บนเส้นทางดิจิทัลไซไฟ

VR, AR หรือ MR บนเส้นทางดิจิทัลไซไฟ

คำว่า "Virtual Reality” (VR) ถูกเอ่ยถึงตั้งแต่ปี 1950 จึงเป็นศัพท์ที่ผู้คนค่อนข้างคุ้นหู

เมื่อมีการนำแนวคิดนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ไซไฟชื่อดังอาทิ เรื่อง "Tron" ที่สร้างตั้งแต่ปี 1982 หรือเรื่อง Minority Report ในปี 2002 จึงทำให้เห็นภาพมนุษย์ในโลก VR ได้ชัดเจนมากขึ้น สร้างความฝันของการใช้ชีวิตในโลกที่ประสานความเป็นจริงและจินตการเข้าด้วยกัน 

แม้ VR ได้เกิดขึ้นมากว่า 60 ปีและมีการกล่าวขวัญอยู่บ่อยครั้งแต่ก็ยังคงมีอุปสรรคอยู่หลายอย่าง จึงทำให้ VR ไม่แพร่หลายทั่วไปเหมือนอย่างสมาร์ทโฟน และเครื่องเล่นเกมส์คอนโซล หรือไม่ถูกกล่าวถึงมากเท่ากับนวัตกรรม “Augmented Reality (AR)” ที่ได้รับความสนใจและถูกนำไปใช้แพร่หลายกว่า

VR กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้งเมื่อค่ายใหญ่ต่างผลิตเครื่องเล่น VR และ Headset ออกมาจำหน่ายมากขึ้น เช่นโซนี่ได้ต่อยอดเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่นสุดฮิตกับ PlayStation VR ค่ายเอชทีซีได้ผลิต Headset ชื่อดังอย่าง HTC Vive และเฟซบุ๊คที่เร่งสร้างแบรนด์ใหม่อย่าง Oculus Rift รวมถึงไมโครซอฟท์ผู้พัฒนา Microsoft HoloLens โดยต่างเร่งพัฒนาสุดยอดแอพพลิเคชั่นเพื่อความหวังที่จะเปลี่ยนบทบาทของ VR หรือ Disrupt อุตสาหกรรม

VR, AR หรือ MR

การใช้ VR ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพจำลองและการเคลื่อนไหวในสภาพแวดล้อมจำลอง โดยผู้ใช้งานต้องสวมใส่ Headset หรือใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวให้ได้ความรู้สึกเสมือนจริง มีซอฟต์แวร์และเซนเซอร์ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ได้ราวกับเป็นจริง อย่างเช่นเกมส์ หรือการผจญภัยกับไดโนเสาร์ในดินแดนเสมือนจริง เป็นต้น เทคโนโลยี VR ยังนิยมนำไปปรับใช้ในการฝึกอบรมและการทหารอีกด้วย

ส่วนเทคโนโลยี AR มักหมายถึงการประสานภาพจริง หรือสภาพแวดล้อมจริงเข้ากับภาพจำลอง เช่นการมีตัวคาแรคเตอร์ หรือกราฟฟิคเคลื่อนไหวหรือลอยอยู่ในภาพจริง ตัวอย่างเช่น Pokemon Go ซึ่งเป็น AR อย่างง่ายที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก การที่ AR สามารถทำงานได้ผ่านแอพในโมบาย หรือเดสก์ท็อปทำให้ใช้งานได้สะดวก และสร้างสีสันให้กับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งจนเป็นที่นิยมมากกว่า VR ยิ่งเมื่อเฟซบุ๊คกำลังเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มที่เรียกว่า “Camera Effects” เพื่อทำให้กล้องในสมาร์ทโฟนทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสร้าง AR จึงเป็นการสร้างเทรนด์การใช้ AR และ AI ผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างน่าสนใจ

ขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ และ Magic Leap ได้สร้างกระแสของนวัตกรรมที่เรียกว่า “Mixed Reality (MR)” ซึ่งเป็นการรวมเอา VR และ AR เข้าด้วยกัน โดยการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้ยังคงเห็นภาพจริงและสภาวะแวดล้อมจริง แต่สามารถเห็นหรืออินเตอร์แอ็คกับวัตถุเสมือนจริงอย่าง VR ทีปรากฎอยู่ด้วย อย่างเช่นที่ไมโครซอฟท์พัฒนา MR ที่สาธิตให้เห็นถึงการทำงานบนดวงจันทร์ผ่าน Hololens ได้ราวกับว่ากำลังอยู่ในสถานที่จริง จึงนับเป็นการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างมาก

จีนเร่งเครื่อง VR

จีนมีการเติบโตของตลาด VR สูงสุด โดยในปี 2015 ชาวจีนได้สั่งซื้อ VR Headset ถึง 40% ของที่จำหน่ายทั่วโลกซึ่งมีกว่า 6.3 ล้านชุด การเติบโตของอุตสาหกรรม VR เกิดขึ้นภายใต้การนำของ 3 บริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent หรือที่เรียกว่า “BAT”  ที่ต่างทุ่มทุนพัฒนาแพลตฟอร์มและคอนเทนท์สำหรับ VR โดยมีสตาร์ทอัพกว่า 200 บริษัทเร่งพัฒนางานด้าน VR โดยเฉพาะในส่วนออนไลน์วิดีโอ ภาพยนตร์ และเกมส์ออกสู่ตลาด โดยในปี 2016 มีเงินอัดฉีดในอุตสาหกรรม VR กว่า 1,100 ล้านดอลลาร์ สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่าในปี 2020 จีนจะมียอดการใช้จ่ายในอุตสาหกรรม VR มากถึง 8,500 ล้านดอลลาร์

ในช่วงวัน Singles Day 2016 อาลีบาบาบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ริเริ่มนำ VR มาช่วยสร้างประสบการณ์การช๊อปข้ามโลกไปยังห้าง Macy’s ในนครนิวยอร์ค โดยลูกค้าสามารถช๊อปปิ้งสินค้าผ่านแอพ VR ด้วยการสวมการ์ดบอร์ด (Cardboard) ที่ใส่สมาร์ทโฟนเอาไว้ อาลีบาบาต้องการสร้างประสบการณ์การจับจ่ายสินค้าที่สามารถดีงดูดความสนใจของลูกค้าให้มากขึ้นและเข้าใจสินค้าได้ดีขึ้น โดยสามารถจำหน่ายการ์ดบอร์ดในราคาชิ้นละ 1 หยวนได้กว่า 150,000 ชิ้น ด้วยเงินลงทุนจำนวนมากจึงทำให้ตลาดจีนมีการเติบโตของ VR ต่างจากตลาดในสหรัฐหรือยุโรป

เทรนด์ใหม่ที่ท้าทาย

นวัตกรรม MR, AR และ VR สร้างโอกาสให้กับธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์ ชอปปิง การท่องเที่ยว และการแพทย์ ในส่วนดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งก็มองเห็นประโยชน์จากการสร้างประสบการณ์ 360 องศาที่แบรนด์สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดในมิติใหม่ พร้อมความหวังที่เวอร์ชวลชอปปิงจะก้าวกระโดดไปอีกขั้น แอพและนวัตกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและชวนติดตาม