จัดเก็บ‘ภาษีแดด’ ต้องคิดให้รอบด้าน

จัดเก็บ‘ภาษีแดด’ ต้องคิดให้รอบด้าน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงข่าวหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าได้เสนอแนวคิดเรียกเก็บเงินประมาณ 100-200 บาทต่อเดือน

จากผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เอง ด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ได้ผลิตเอง เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องลงทุนเพื่อเก็บสำรองไฟฟ้าเอาไว้ใช้ในตอนกลางคืน

ซึ่งข่าวที่ออกมาถือว่าเป็นเรื่องดี ในการทำให้สังคมได้ร่วมกันคิดอย่างรอบด้าน

โดยข้อเท็จจริงในขณะนี้ก็คือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่มีนโยบายในการ เรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) จากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อปประเภทใช้เองในบ้านที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ติดตั้งในปริมาณที่ไม่มากนัก ยกเว้นประเภทกลุ่มโรงงาน มหาวิทยาลัย หรือห้างสรรพสินค้า ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ และมีจำนวนผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม การใช้ไฟฟ้าจากการผลิตของโซลาร์รูฟท็อป เหล่านี้จะมีการใช้ไฟเฉพาะในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ก็จะต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบตามปกติของ กฟผ. ซึ่งในอนาคตหากมีการติดตั้งเป็นจำนวนมากขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้ารวมและต้นทุนค่าไฟของประเทศได้

เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ กกพ. ที่จะทบทวนอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อรองรับลักษณะการผลิตและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศในอนาคต ทำให้การจัดเก็บค่าสำรองไฟฟ้ากับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ ต้องเลื่อนออกไปก่อนเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อศึกษาหาข้อสรุปที่เหมาะสมตามสถานการณ์การผลิตและความต้องการไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่านโยบายของ กกพ.คือจะมีการเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้ากับผู้ที่ติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่แน่แต่จะยังไม่เก็บในเวลานี้ ต้องรอการศึกษาความเหมาะสมอีกระยะหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เองมากขึ้น จนอาจทำให้รูปแบบและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จะมีการบริหารจัดการระบบการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลัก เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของระบบไฟฟ้าในประเทศ

โดยแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ในปี 2558-2579 ได้กำหนดไว้ชัดเจนที่จะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งสิ้น 19,684 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นในส่วนของ กฟผ.ประมาณ 500 เมกะวัตต์

มีทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังน้ำขนาดเล็ก ขยะมูลฝอยจากชุมชน พลังงานลม และเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างโรงไฟฟ้าหลัก

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System การพัฒนาระบบสมาร์ทกริด ช่วยในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า

ทั้งหมดนี้ตามแผนนโยบายพลังงานของประเทศต้องการให้เกิด ระบบไฟฟ้าที่มีความมั่นคงและอัตราค่าไฟที่เหมาะสมเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน

สำหรับแนวคิดการจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าสำรอง หรือ Backup Rate จากการติดตั้งและการขยายการลงทุนระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา จนถูกเรียกว่าการเก็บภาษีแดดที่ กกพ.อยู่ระหว่างการศึกษาในเรื่องดังกล่าว มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ในช่วงวันที่ 14 -18 ส.ค.นี้ โดยยืนยันว่าจะไม่จัดเก็บจากโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตไฟฟ้าเกิน 30 กิโลวัตต์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในภาคพลังงาน และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้พลังงานรายย่อย

อย่างไรก็ดีพลังงานของประเทศ เป็นปัจจัย​หลักในการพัฒนา​โครงสร้าง​พื้นฐานต่างๆ ที่กำลังเดินหน้าไปสู่ Thailand 4.0 อย่างเช่นรถไฟฟ้าความเร็ว​สูง​เชื่อมต่อเมืองใหญ่ หรือการพัฒนา​เขตเศรษฐกิจ​พิเศษ​ เป็นต้น

ดังนั้น การทำให้ระบบไฟฟ้ามั่นคง มีราคาที่เหมาะสมจึงเป็น​เรื่องที่สำคัญ​ และจำเป็นต้อง​คิดให้รอบด้าน จึงจะเกิดประโยชน์​ต่อประเทศ​ชาติ​และประชาชนอย่างแท้จริง

-----------

นักเขียน : อมตวรรธ อัจจิมา