จุดบอดทางกลยุทธ์​

จุดบอดทางกลยุทธ์​

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงของบริบททางธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมีสมมติฐานและความเชื่อมั่นอยู่ในใจตลอดเวลา

ว่าองค์กรที่ตนบริหารนั้น มีความพร้อมที่จะรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นในตนเองที่มีอยู่สูง และเชื่อมั่นว่าแนวทางการบริหารของตนเองนั้นเหมาะสมสำหรับความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวอย่างไรก็ดีความเชื่อมั่นดังกล่าว เราก็พบในหมู่ของผู้บริหารองค์กรธุรกิจจำนวนมากที่ปัจจุบันได้ล่มสลายไปแล้ว

สำหรับผู้บริหารแล้ว ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าความเชื่อมั่นดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจุดบอดทางกลยุทธ์ (Strategy Blind Spots) ที่ทำให้ผู้บริหารเกิดความเชื่อมั่นที่ผิดๆ หรือทำให้ไม่เห็นต่อปัจจัยที่สำคัญบางอย่าง ก็อาจจะส่งผลต่อการทำให้องค์กรขาดความสามารถในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง จุดบอดทางกลยุทธ์ ที่มักจะพบเจอกันโดยทั่วไปประกอบด้วย

  1. การประมาทต่อคู่แข่งใหม่ที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรม - โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นคู่แข่งใหม่ หรือ คู่แข่งที่มาจากอุตสาหกรรมอื่นๆ เวลาผู้บริหารนึกถึงคำว่า “คู่แข่งขัน” นั้น ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงคู่แข่งขันเดิมๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรม ที่มีความรู้จักคุ้นเคยกันดี รวมถึงรู้สไตล์การบริหารและกลยุทธ์ที่ใช้กันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในปัจจุบัน ไม่ใช่คู่แข่งขันเดิมๆ ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี แต่เป็นคู่แข่งขันใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมมาก่อน

คู่แข่งขันใหม่ๆ เหล่านี้มักจะเข้าสู่อุตสาหกรรมด้วยวิธีคิดและมุมมองใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากผู้เล่นเดิมๆ หรือแม้กระทั่งเข้ามาด้วย Business model ที่ไม่เหมือนที่ใช้กันอยู่ เมื่อคู่แข่งรายใหม่เข้ามาแล้วในช่วงแรกผู้เล่นเดิมก็มักจะละเลยหรือไม่ให้ความสนใจต่อคู่แข่งขันใหม่ๆ เหล่านี้ เนื่องจากมองไม่เห็นความสำคัญ หรือ ไม่คิดว่าคู่แข่งใหม่เหล่านี้ จะสามารถส่งผลอะไรต่อธุรกิจของตนเองได้

คู่แข่งขันใหม่ๆ ที่มาจากภายนอกนั้น อาจจะอยู่ในรูปของธุรกิจรายใหม่ ที่เป็นพวก Startups หรือ มาจากองค์กรธุรกิจเดิมที่ไม่เคยเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมมาก่อนแล้วตัดสินใจเข้ามาแข่งขัน ไม่ว่าโดยการเข้าซื้อธุรกิจที่มีอยู่ หรือ การเปิดธุรกิจใหม่ของตนเอง

ตัวอย่างของ Airbnb กับธุรกิจโรงแรม หรือ Uber / Grab กับธุรกิจแท็กซี่ หรือ Apple กับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Amazon / Lazada กับธุรกิจค้าปลีก หรือ แอร์เอเซียกับธุรกิจสายการบิน ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงการเข้ามาของคู่แข่งขันจากภายนอกอุตสาหกรรม ที่ผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรม ไม่ได้เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

  1. ปรับตัว แต่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือ ปรับตัวช้าเกินไป - เนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คำถามที่ชวนคิดก็คือ แล้วการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงขององค์กรนั้นทันหรือก้าวนำหน้าการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมภายนอกหรือไม่? ผู้บริหารบางท่านอาจจะคิดว่าองค์กรตนเองมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่การปรับตัวดังกล่าวช้าเกินไปและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภายนอกหรือไม่? อีกทั้งการปรับตัวนั้นเพียงพอไหม หรือ ถึงขั้นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง? ลองนึกดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงขององค์กรช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก และยิ่งถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายองค์กร ก็จะกลายเป็นองค์กรที่ล้าสมัย
  2. การลงทุนในด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น้อยและช้าเกินไป - สัจธรรมอย่างหนึ่งที่เราพบเจอคือดิจิทัล และเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลัง Disrupt อุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าผู้บริหารขาดแนวคิดในการที่จะลงทุนทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม และอย่างต่อเนื่องแล้ว สุดท้ายปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น คือดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามา Disrupt ธุรกิจของท่าน โดยที่ท่านไม่มีแม้แต่โอกาสในการท่ีจะตอบโต้เลย เนื่องจากการลงทุนด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นผลได้ภายในไม่กี่เดือน

ทั้ง 3 ประการข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจุดบอดทางกลยุทธ์ที่ผู้บริหารจำนวนมากมักจะเป็น และจากจุดบอดดังกล่าวก็มักจะทำให้ผู้บริหารเกิดความมั่นใจเกินเหตุว่าองค์กรของตนเองนั้นพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ท่านผู้อ่านมีจุดบอดทั้ง 3 ประการหรือไม่?