การแก้ปัญหาด้วยการไล่ล่านักวิชาการ

การแก้ปัญหาด้วยการไล่ล่านักวิชาการ

ดังเป็นที่ทราบกันดี อารยธรรมกรีกโบราณเป็นแหล่งกำเนิดของหลักวิชาการสำคัญ ๆ ซึ่งปูฐานให้วิวัฒนาการในยุคต่อมา หลังจากอารยธรรมนั้นล่มสลาย

กรีซซึ่งเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรต่าง ๆ เป็นเวลานาน หลังได้เอกราช กรีซล้มลุกคลุกคลานมาจนกระทั่งได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเมื่อปี 2524 สหภาพยุโรปมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กรีซต้องทำตามทั้งก่อนและหลังการเข้าเป็นสมาชิก อาทิเช่น ด้านการเมืองต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยและด้านเศรษฐกิจต้องใช้ระบบตลาดเสรี นอกจากนั้น ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ กรีซต้องทำตามกฎเกณฑ์หลายอย่างที่สหภาพกำหนด อาทิเช่น งบประมาณจะขาดดุลได้ไม่เกิน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)

แนวคิดพื้นฐานของประชาธิปไตยเกิดในอารยธรรมกรีกโบราณและวิวัฒน์มาเป็นระบอบที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ในระบอบนี้ ประชาชนเลือกตัวแทนของตนเข้าไปบริหารประเทศ การเลือกตัวแทนอาจเป็นต้นกำเนิดของปัญหาถ้าการเลือกไม่เป็นไปแบบตรงไปตรงมา หรือประชาชนส่วนใหญ่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาจนไม่ใส่ใจ หรือเข้าใจในสภาพการณ์รอบด้าน อาทิเช่น การหว่านเงินทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมของผู้ต้องการเข้าไปบริหารบ้านเมืองเพื่อหวังสร้างความนิยมจากประชาชนจนตนได้รับเลือกเป็นตัวแทน โดยทั่วไปเรียกการใช้วิธีนี้ว่า “ประชานิยม” ทั้งที่ประชานิยมมีทั้งทางด้านบวกและด้านลบ แต่โดยทั่วไปการใช้ประชานิยมในปัจจุบันเป็นด้านลบรวมทั้งในกรีซหลังจากเริ่มใช้ระบอบประชาธิปไตยได้ไม่นาน

การบริหารประเทศโดยใช้หลักประชานิยมต้องใช้งบประมาณซึ่งมักต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประชานิยมมีลักษณะเป็นยาเสพติดเมื่อเริ่มใช้จะทำให้เลิกยาก การใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมเกิดปัญหาถ้ารัฐบาลมีรายได้ไม่พอ ในประวัติศาสตร์ รัฐบาลอาจแก้ปัญหาต่างกันเมื่อจุดนั้นมาถึง ในกรณีของอาร์เจนตินาซึ่งอ้างถึงกันมากในเมืองไทย รัฐบาลใช้มาตรการซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอนคือ ใช้เงินสำรองของประเทศปิดงบประมาณที่ขาดดุล เมื่อหมดเงินสำรองก็เริ่มเพิ่มหนี้ต่างประเทศจนกระทั่งต่างประเทศไม่ยอมให้กู้อีกต่อไปจึงหันมาใช้การพิมพ์เงินจำนวนมหาศาลออกมา การพิมพ์เงินออกมาเช่นนั้นก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและนำไปสู่ความล้มละลายในที่สุดหลังเวลาผ่านไป 40 ปี

กรีซใช้เวลาไม่ถึง 40 ปีก่อนที่จะประสบปัญหาถึงขั้นล้มลาย ทั้งนี้ คงด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิเช่น กรีซไม่ร่ำรวยเท่าอาร์เจนตินาเมื่อเริ่มใช้ประชานิยม ในยุคปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงกระจายออกไปในอัตราสูงกว่าในยุคก่อน และกรีซเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งทำให้กรีซขาดอิสรภาพในบางด้าน รัฐบาลกรีซร่วมมือกับสถาบันการเงินใหญ่ตกแต่งบัญชีเพื่อให้การขาดดุลงบปรมาณในอัตราสูงกว่า 3% ของจีดีพีไม่ปรากฏออกมาและปกปิดการกู้เงินที่นำมาใช้ในการปิดงบ แต่กระบวนการนั้นทำได้เพียงชั่วคราวก่อนที่รัฐบาลจะกู้เงินอีกไม่ได้และเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายทำให้ต้องไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ดังเป็นที่ทราบกันดี ก่อนที่ไอเอ็มเอฟจะช่วยประเทศใด ประเทศนั้นต้องดำเนินมาตรการเพื่อนำงบประมาณของตนเข้าสู่สมดุล ในกรณีของกรีซ ไอเอ็มเอฟไม่ยอมให้ใช้ตัวเลขของรัฐบาล หากใช้ตัวเลขของนักวิชาการด้านสถิติซึ่งจัดระเบียบข้อมูลตามหลักวิชาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงการเศรษฐกิจ แทนที่จะโทษตัวเอง รัฐบาลกรีซกลับโทษนักวิชาการคนนั้นว่าทรยศและหาทางเล่นงานเขาทุกอย่างรวมทั้งผ่านกระบวนการยุติธรรม หลังจากพยายามอยู่หลายปีด้วยวิธีต่าง ๆ ถึง 5 ครั้ง รัฐบาลประสบความสำเร็จเมื่อศาลอุทธรณ์ตัดสินให้เขาผิดในฐานะให้ข้อมูลแก่สหภาพยุโรปโดยไม่ผ่านรัฐบาลและศาลให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

รัฐบาลกรีซเดินตามอาร์เจนตินาซึ่งไล่ล่านักวิชาการที่ตีแผ่กระบวนการตกแต่งข้อมูลของรัฐบาลโดยการยุบสำนักงานของเขาพร้อมกับให้ศาลเล่นงานเขาด้วย ในอาร์เจนตินาและในละตินอเมริกา กระบวนการยุติธรรมมักบิดเบี้ยวด้วยอิทธิพลทางการเมือง ผลร้ายที่เกิดแก่ประเทศเหล่านั้นคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เล่ามานี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ประเทศต่าง ๆ ยึดเป็นบทเรียน เมื่อใดรัฐบาลเริ่มเล่นงานนักวิชาการผู้ซื่อตรงต่อหลักวิชาและศาลยุติธรรมเริ่มบิดเบี้ยว เมื่อนั้นกระบวนการเสื่อมได้เริ่มต้นอย่างจริงจังแล้ว